ตัวหลงมักครอบงำใจเราอยู่บ่อย ๆ สังเกตไหม เวลากินข้าว ล้างหน้า ถูฟัน แล้วใจเผลอไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ นั่นแหละเรียกว่า “หลง””
“หลง” คือ ลืมตัว หรือไม่รู้ตัว คนเราถ้าหลงเข้าไปในความคิดแล้วก็จะออกมาได้ยาก สาเหตุที่ผู้คนทะเลาะกันไม่ว่าในบ้าน ที่ทำงาน ในเฟซบุ๊ค นั่นเพราะหลง หลงเข้าไปในความคิด พอได้ยินหรือได้อ่านสิ่งที่คนอื่นคิดไม่เหมือนเราก็เกิดความไม่พอใจ ความยึดมั่นที่เกิดขึ้นในใจก็จะสั่งให้เราตอบโต้ วิพากษ์วิจารณ์ โจมตี จนถึงขั้นด่าทอ อันนั้นเรียกว่าทำไปเพราะอานุภาพของความหลง สังเกตไหมเวลามันสั่งให้ด่าว่าคนที่คิดไม่เหมือนเรา แม้เป็นคนรู้จักกันแต่ความเห็นต่างกัน
เวลาประชุมกันเราพยายามหักล้างความคิดที่ต่างจากเรา แตกต่างจากที่เราคิด โดยไม่สนใจว่าเราพูดอะไรออกไป บางทีก็ด่าว่าเขา ทำให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจหรือโกรธแค้น อันนั้นเป็นความหลง บางครั้งก็หลงถึงขั้นลงมือลงไม้ ยกพวกห้ำหั่นกันในนามของลัทธิที่แตกต่างกัน ยิ่งมีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันก็ยิ่งทำร้ายกันหนักเข้าไปใหญ่ ถึงขนาดนี้ผู้คนก็ยังไม่รู้ว่านี้คือตัวหลง ให้เรารู้จักไว้ว่านี่คือ “ตัวหลง”
เวลาจมอยู่ในความคิด หลงในอารมณ์ ใจจะเตลิดเปิดเปิงไป ยากที่จะรู้เนื้อรู้ตัวได้ ยิ่งอารมณ์ครอบงำใจด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เราเมาเหมือนกับเมากิเลส เรียกว่าเมาอารมณ์ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นความโศกเศร้า ความเสียใจ ความโกรธ เกิดขึ้นเมื่อใด ถ้าไม่รู้ตัวใจก็จมดิ่งเข้าไปในอารมณ์นั้น เป็นการยากที่จะรู้ทันอารมณ์ถ้าเราไม่ได้ฝึกสติมาเลย
สติช่วยให้เรารู้ทันความคิดและอารมณ์ที่ครอบงำจิตอยู่ สติเป็นตัวดึงจิตออกมาจากความหลง ออกมาจากความคิดและอารมณ์ กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ทำให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ถ้าเราไม่ฝึกสติ สติไม่เข้มแข็งว่องไว ใจก็จะหลงจมเข้าไปในความคิดและอารมณ์ เรียกว่าดิ่งลงไปเลยก็ว่าได้ คนทั่วไปเวลาจมอยู่ในอารมณ์ กว่าจะรู้ตัวได้ ต้องอาศัยตัวช่วย อย่างเช่น เวลาเราใจลอย ฝันกลางวัน ครุ่นคิดถึงเหตุการณ์ที่ทำให้โศกเศร้า พอมีคนเรียกชื่อเราหรือมีคนมาแตะไหล่เรา เราก็จะได้สติ จิตกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ทำให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้น อย่างนี้ก็เรียกว่ามีสติ แต่ได้สติเพราะมีคนเรียกชื่อเราหรือมีคนแตะตัวเรา ทำให้จิตหลุดจากความคิดฟุ้งซ่าน หลุดจากอารมณ์มาได้
เวลาที่เราโกรธ หน้ามืดจนอาจทำอะไรลงไปโดยไม่รู้ตัว เช่น ต่อว่าบุพการี ต่อว่าลูก หรือต่อว่าคนรัก บางทีขว้างปาข้าวของ ถึงแม้จะรู้ว่าข้าวของอยู่ไหน แม้จะรู้ว่าต้องพูดอย่างไรเขาถึงจะเจ็บแสบ หรือรู้ว่าขว้างอะไรจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ ก็รู้แค่นั้น แต่ไม่รู้ตัว พออารมณ์ได้รับการปลดปล่อยหรือลดลง เพราะด่าไปแล้ว ทำลายข้าวของไปแล้ว ตอนนั้นแหละสติจะมาทำงาน รู้ตัวขึ้นมา พอรู้ตัวว่าทำอะไรลงไป ก็รู้สึกเสียใจ แล้วก็หลงเข้าไปในอารมณ์อีก แต่คราวนี้เป็นอารมณ์เสียใจ รู้สึกผิด จนกว่าจะมีคนมาพูดมาเตือนจึงค่อยได้สติหรือรู้สึกตัวขึ้นมาอีกครั้ง
เมื่อเรามีสติรู้ทันความคิดและอารมณ์บ่อย ๆ ต่อไปก็จะรู้ทางว่าความคิดจะมาแบบไหน อารมณ์จะมาไม้ไหน คนเราเวลาจมอยู่ในอารมณ์ อารมณ์เหล่านี้จะพยายามครองจิตครองใจให้นานที่สุด มันมีลูกไม้หลายอย่าง เช่นเวลาเราโกรธ ความโกรธจะสั่งให้จิตส่งออกนอก ไปจดจ่ออยู่กับคนที่พูดไม่ดีกับเรา ทำไม่ดีกับเรา เราก็จะโกรธแล้วก็ด่าเขากลับ หรือถึงขั้นทำร้ายร่างกายเลย อันนี้เป็นอุบายของความโกรธ มันต้องการให้จิตเราส่งออกนอก จะได้ไม่หันกลับมาดูใจจนรู้ทันว่ามีอารมณ์เกิดขึ้น
การที่เราส่งจิตออกนอกเป็นเพราะความหลง ตลอดเวลาที่ส่งจิตออกนอกนี่เราไม่รู้ตัวนะ เพราะคิดว่าเป็นการทำงาน ตัวหลงก็มาเนียน ๆ ฉวยโอกาสที่เราจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้า บางทีเราอ่านหนังสือหรือดูรายงานใจก็เผลอแวบไปข้างนอก ไปดูอีเมล์บ้าง ดูข้อความทางโทรศัพท์มือถือบ้าง เสร็จแล้วก็เกิดความขุ่นมัวที่เห็นข้อความไม่ถูกใจ หรืออาจจะลิงโลดดีใจกับภาพที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า นั่นก็เป็นความหลงเหมือนกัน ไม่ใช่หลงความคิดแต่เป็นหลงอารมณ์ หลงเข้าไปในอารมณ์ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในขณะที่เราทำงาน แต่ปะปนอยู่เราจึงไม่ได้สังเกต ครั้นเรามาปฏิบัติธรรม ทำสมาธิภาวนาก็จะเห็นชัดว่ามีการส่งจิตออกนอกอยู่ทุกนาทีเลยก็ว่าได้
เวลาจมอยู่ในความคิด หลงในอารมณ์ ใจจะเตลิดเปิดเปิงไป ยากที่จะรู้เนื้อรู้ตัวได้ ยิ่งอารมณ์ครอบงำใจด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เราเมาเหมือนกับเมากิเลส เรียกว่าเมาอารมณ์ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นความโศกเศร้า ความเสียใจ ความโกรธ เกิดขึ้นเมื่อใด ถ้าไม่รู้ตัวใจก็จมดิ่งเข้าไปในอารมณ์นั้น เป็นการยากที่จะรู้ทันอารมณ์ถ้าเราไม่ได้ฝึกสติมาเลย
ที่จริงเรามีสติและใช้สติอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว สติ แปลว่า ความระลึกได้ จำได้ เช่นเราจำได้ว่ากุฏิที่พักเราอยู่ตรงไหน ออกจากศาลานี้จะเลี้ยวซ้ายหรือตรงไป เราจำได้ว่าเมื่อวานนี้หรือเมื่อเช้านี้เรากินอะไร กับข้าวมีอะไรบ้าง เวลาเราทำงาน เราก็ใช้ความจำความระลึกได้ ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวสวน หมอ วิศวกร นักบัญชี นักกฎหมาย เป็นวิศวกรก็ต้องเล่าเรียนและนำใช้ความรู้ในการทำงาน หมอต้องใช้ความรู้ที่จดจำมาในการวินิจฉัยโรคคนไข้ นักบัญชีก็ต้องจดจำระเบียบวิธีการในการทำบัญชี นักกฎหมายก็ต้องจำกฎหมายและมาตราที่สำคัญ ๆ ได้ พวกนี้เป็นงานของสติทั้งนั้น
แต่ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นการระลึกได้ในเรื่องนอกตัว สติที่เราจำเป็นจะต้องฝึกให้มีก็คือ การระลึกได้ในเรื่องกายใจ ซึ่งจะช่วยทำให้รู้ทันหรือรู้ตัวเวลาหลง ไม่ว่าหลงเข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์ สติแบบนี้เรียกว่า “สัมมาสติ” ไม่ใช่สติสามัญ สติสามัญที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่เรียกว่าสัมมาสติ อาจจะเป็นมิจฉาสติก็ได้ เช่น การจำได้ในเรื่องที่ทำให้หม่นหมอง ขุ่นมัว โกรธแค้น ทำให้จิตไม่เป็นกุศลเรียกว่า “มิจฉาสติ” เพราะทำให้เกิดอารมณ์อกุศลขึ้นมา
สัมมาสติ คือการระลึกได้ในเรื่องกายใจ ทำให้เรารู้ทันความคิดและอารมณ์ที่ครอบงำจิตอยู่ สติเป็นตัวดึงจิตออกมาจากความหลง ออกมาจากความคิดและอารมณ์ กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ทำให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ถ้าเราไม่ฝึกสติที่เรียกว่าสัมมาสติ ใจก็จะหลงจมเข้าไปในความคิดและอารมณ์ เรียกว่าดิ่งลงไปเลยก็ว่าได้ พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าคนธรรมดาจะไม่มีสัมมาสตินะ ก็มี แต่ว่าสติของเขาทำงานช้า บางทีต้องอาศัยตัวช่วย อย่างเช่น เวลาเราใจลอย ฝันกลางวัน ครุ่นคิดถึงเหตุการณ์ที่ทำให้โศกเศร้า พอมีคนเรียกชื่อเราหรือมีคนมาแตะไหล่เรา เราก็จะได้สติ จิตกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ทำให้เกิดความรู้สึกตัวขึ้น อย่างนี้ก็เรียกว่ามีสติ แต่ได้สติเพราะมีคนเรียกชื่อเราหรือมีคนแตะตัวเรา ทำให้จิตหลุดจากความคิดฟุ้งซ่าน หลุดจากอารมณ์มาได้
ส่วนใหญ่คนเราจะหลุดออกจากความหลงที่รุนแรงได้ ก็หลังจากระบายหรือทำตามอารมณ์ไปจนกระทั่งหมดแม็คแล้ว เช่น ด่าจนหนำใจถึงค่อยรู้ตัว หรือต้องมีตัวช่วย มีคนมาพูดเตือน แต่ถ้าไม่มีใครมาเตือน เราก็อาจเผลอทำสิ่งเลวร้ายที่ต้องเสียใจไปตลอดชีวิตก็ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหมั่นสร้างสติเพื่อช่วยทักท้วงและตักเตือนเวลาถูกอารมณ์ครอบงำ
เมื่อเรามีสติรู้ทันความคิดและอารมณ์บ่อย ๆ ต่อไปก็จะรู้ทางว่าความคิดจะมาแบบไหน อารมณ์จะมาไม้ไหน คนเราเวลาจมอยู่ในอารมณ์ อารมณ์เหล่านี้จะพยายามครองจิตครองใจให้นานที่สุด มันมีลูกไม้หลายอย่าง เช่นเวลาเราโกรธ ความโกรธจะสั่งให้จิตส่งออกนอก ไปจดจ่ออยู่กับคนที่พูดไม่ดีกับเรา ทำไม่ดีกับเรา เราก็จะโกรธแล้วก็ด่าเขากลับ หรือถึงขั้นทำร้ายร่างกายเลย อันนี้เป็นอุบายอย่างหนึ่งของความโกรธ มันต้องการให้จิตเราส่งออกนอก จะได้ไม่หันกลับมาดูใจจนรู้ทันว่ามีอารมณ์เกิดขึ้น
ทันทีที่รู้ทันว่ามีอารมณ์เกิดขึ้น มันจะฝ่อหรือสลายตัวไป เพราะจุดอ่อนของมันก็คือการถูกรู้ถูกเห็น ยิ่งมีสติรู้ทันมันเร็วเท่าไร มันก็ครอบงำจิตใจเราได้น้อยเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรหมั่นสังเกตความคิด หมั่นดูจิตใจ หมั่นมองตนบ่อย ๆ หากไม่อยากพลาดท่าเสียทีเพราะอารมณ์อกุศลเหล่านั้น
พระไพศาล วิสาโล