Recent Posts

ทำไมต้องฝึกจิต


การฝึกจิต

          พระพุทธเจ้าตรัสว่า การฝึกจิตเป็นความดี ตามปกติเมื่อไม่มีการกระทบระหว่างอายตนะภายในและอายตนะภายนอก จิตจะปกติและสงบเย็นอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อมีการกระทบระหว่างอายตนะภายนอกและอายตนะภายใน จิตที่ยังไม่ได้ฝึกดีแล้วย่อมหวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่มากระทบเสมอ จึงจำเป็นต้องฝึกจิตไว้ตั้งรับอารมณ์ที่มากระทบเพื่อจะได้รักษาความเป็นปกติแห่งจิตไว้ได้

          อารมณ์ที่มากระทบแล้วจิตไหวตามได้คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ อาการไหวของจิตจะไหวไปสองทางคือ ทางพอใจ และไม่พอใจอบหรือชัง เมื่อจิตไหวไปแล้วจะเสียความปกติและความสงบที่เคยมีมา พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอจงตามรักษาจิตเถิด

          การฝึกจิตคือการตามรักษาจิตให้ปกติและสงบอยู่เสมอ หรือรักษาจิตมิให้ไหวในเวลาที่อารมณ์มากระทบ แต่ปล่อยให้ทำหน้าที่ไปตามธรรมชาติ

          สิ่งที่ช่วยให้การรักษาจิตดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพคือ การสำรวมหรือระวัง ดั่งพระพุทธพจน์ว่า ผู้ใดจักระวังจิตผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร บ่วงมารคือ ความยินดี หรือยินร้ายที่เกิดจากการกระทบอารมณ์ด้วยความเผลอ ถ้าไม่เผลอกระทบแล้วผ่านไป บ่วงมารก็หลุดไปด้วย

          ธรรมะสำคัญที่เป็นพื้นฐานแห่งการฝึกจิตคือ สติ ได้แก่ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมและไม่เผลอเรอ หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงเรื่องการฝึกจิตต้องมีสติประกอบเสมอขาดมิได้เลย เช่น อานาปานสติ และสติปัฏฐาน ล้วนต้องการสติคอยรักษาจิตทุกเวลานาที หรือทุกลมหายใจ

          ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
          สติคอยบอก ว่ารู้ตื่นเบิกบาน
          ฝึกแล้วฝึกอีก ฝึกจนชำนาญ
          รู้ตื่นเบิกบาน ทุกลมหายใจ

          การฝึกสมาธิ โดยการเฝ้าตามดู ตามรู้ และตามเห็น ลมหายใจออกเข้า จึงเป็นการฝึกสมาธิ ที่เป็นสากล เป็นธรรมชาติ ทุกคนไม่จำกัด ชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม สามารถปฏิบัติได้อย่างเท่าเทียมกันเพราะทุกคนมีลมหายใจเหมือนๆกัน

          วิธีปฏิบัติ ก็ไม่สลับซับซ้อนแต่ประการใด เพียงหาที่นั่งที่สงบจากความพลุกพล่าน ที่ใดที่หนึ่ง จากนั้นก็นั่งให้สบาย แล้ววางสติกำหนดรู้ที่ลมหายใจออกเข้า หรือพูดง่ายๆว่า หยุดคิดเรื่องอื่นชั่วคราว คิดอยู่เฉพาะลมหายใจออกเข้า ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า เวลาหายใจเข้าก็รู้ ว่ากำลังหายใจเข้า เวลาหายใจออกก็รู้อยู่ว่ากำลังหายใจออก เวลาหายใจออกยาวก็รู้ว่า กำลังหายใจออกยาว เวลาหายใจเข้ายาวก็รู้สึกตัวว่าหายใจเข้ายาว

          คำว่ารู้สึกตัว คงจะเข้าใจได้ง่าย ถ้ายังไม่หลับก็ยังรู้สึกตัวทั่วพร้อม แต่ถ้าหลับจะไม่รู้สึกตัว การนั่งสมาธิจึงมิใช่การนั่งหลับ แต่การนั่งสมาธิ เป็นการนั่งรู้สึกตัวทั่วพร้อม

หัวใจสำคัญของการนั่งสมาธิอยู่ที่ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม

          การวางความคิดที่ลมหายใจ คือรู้ถึงลมหายใจตรงๆไม่มีอ้อมค้อม ลีลาแห่งลมหายใจแต่ละขณะเป็นเช่นไร ย่อมรู้เช่นนั้น การรู้นี้ไม่ต้องจดจำมาจากที่ไหน รู้ด้วยประสบการณ์ตรงเลย จะพบลีลา ความเคลื่อนไหว หยาบบ้างละเอียดบ้างไปตามลำดับ

          แต่ที่ผู้ฝึกสมาธิพบคล้ายๆกันยิ่งฝึกนานลมหายใจยิ่งละเอียด เวลาที่ลมหายใจละเอียด รู้สึกได้ถึงความสงบเยือกเย็นทั้งในส่วนกายและใจได้อย่างชัดเจน การทำสมาธิทำให้ใจสงบและกายก็จะสงบตามด้วยเพราะลมหายใจเกี่ยวเนื่องด้วยกายมีอิทธิพลต่อการความสงบหรือความวุ่นวายฝ่ายกายด้วย

          การฝึกสมาธิจนลมหายใจสงบและละเอียดอย่างรวดเร็ว นับเป็นวิธีพักผ่อนอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่นฟื้นพลังงานต่างๆที่สูญเสียไปจากการตรากตรำทำงานหนักให้คืนมาอย่างรวดเร็ว

          ความสดชื่นที่ได้จากการทำสมาธิจะได้ทั้งกายและใจพร้อมๆกันไป ในขณะนั้นกล่าวได้ว่าเป็นขณะที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี

          การฝึกจิต เป็นการทำความดีชนิดหนึ่งที่ลงทุนเงินทองทรัพย์สินน้อยแต่ได้ประโยชน์มากมายมหาศาล ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า การฝึกจิตเป็นความดีนั่นแล

วัดพุทธธรรมเมืองวิลโลบรูค รัฐอิลลินอยส์