Recent Posts

รู้จัก...เวทนา และจิตสังขาร


          เวทนา คือการเสวยอารมณ์ นั้นเป็น"เพียงความรู้สึกในการรับรู้" ตามธรรมชาติ และเป็นเพียงการรับรู้ ความรู้สึกที่ ถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือเฉยๆ ที่มีต่อ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์(คิด) ที่กระทบ


          ตัวอย่าง เวทนาต่างๆ   ณ ที่นี้เราเพิ่มสัญญาความจำ เพื่อขยายรายละเอียดขันธ์ ๕ เพิ่มขึ้นเข้าไปด้วย เพื่อให้เห็นรายละเอียด ในการเกิดของเวทนาได้แจ่มแจ้งขึ้น

  • รูป + ตา > วิญญาณ > ผัสสะ > สัญญาจำ > เวทนา  (ถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือเฉยๆ) 

  • เสียง + หู > วิญญาณ > ผัสสะ > สัญญาจำ > เวทนา (ถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือเฉยๆ) 

  • กลิ่น + จมูก > วิญญาณ > ผัสสะ > สัญญาจำ >  เวทนา (ถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือเฉยๆ)

  • รส + ลิ้น > วิญญาณ > ผัสสะ > สัญญาจำ > เวทนา (ถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือเฉยๆ)

  • สัมผัส + กาย > วิญญาณ > ผัสสะ > สัญญาจำ > เวทนา (ถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือเฉยๆ)

  • คิด + ใจ > วิญญาณ > ผัสสะ > สัญญาจำ > เวทนา (ถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือเฉยๆ)

          จะเห็นได้ว่าเมื่อมีผัสสะคือการประจวบกันทั้ง ของอายตนะภายนอก,อายตนะภายในและวิญญาณแล้ว มีสัญญาจำได้ในเรื่องนั้นแล้วจึงเกิดการรับรู้ “ความรู้สึก” ที่ถูกใจ, ไม่ถูกใจ, หรือไม่ทุกข์ไม่สุข-เฉยๆ

          หรือสังเกตจากรูปกระทบตา หรือเสียงที่มากระทบหู   แต่ต้องเป็นชนิดที่กระทบแล้วมีความรู้สึกแว๊บขึ้นทันที  ก็เพื่อให้สังเกตได้ง่ายๆในขั้นแรกๆโดยไม่ปรุงแต่งร่วม ดังเช่น เห็น หรือได้ยินเสียงคนที่โกรธหรือเกลียด  หรือไม่ชอบค่อนข้างรุนแรง  พอจําได้เท่านั้นความรู้สึกแว๊บไม่ถูกใจ เกิดขึ้นทันทีอันเกิดจากรูปคือเห็นคนๆนั้นหรือเสียงที่กระทบ นั่นแหละคือ"เวทนา" ที่อาจเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหา

          ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้เรื่องเวทนา ดังนี้

          [๘๒๓]  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  บุคคลอาศัยจักษุและรูป เกิดจักษุวิญญาณ ความประจวบของธรรมทั้ง  ๓  เป็นผัสสะ  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย  ย่อมเกิดความเสวยอารมณ์(เวทนา)  เป็นสุขบ้าง(สุขเวทนา)   เป็นทุกข์บ้าง(ทุกขเวทนา)  มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง(อทุกขมสุข)  

         เขา อันสุขเวทนากระทบถูกต้องแล้ว  ย่อมไม่เพลิดเพลิน  ไม่พูดถึง  ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ  จึงไม่มีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่  

         เขา อันทุกขเวทนากระทบถูกต้องแล้ว  ย่อมไม่เศร้าโศก  ไม่ลำบากไม่ร่ำไห้  ไม่คร่ำครวญทุ่มอก  ไม่ถึงความหลงพร้อม  จึงไม่มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่  

         เขา อันอทุกขมสุขเวทนากระทบถูกต้องแล้ว  ย่อมทราบชัดความตั้งขึ้น  ความดับไป คุณ  โทษ  และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น  ตามความเป็นจริง  จึงไม่มีอวิชชานุสัย นอนเนื่องอยู่  

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ข้อที่บุคคลนั้นละราคานุสัยเพราะสุขเวทนาบรรเทา,  ละปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนา  ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา  ยังวิชชาให้เกิดขึ้นเพราะละอวิชชาเสียได้  แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้  นั่นเป็นฐานะที่มีได้  ฯ  (ม.อุ.๑๔/๘๒๓/๔๙๓)

ที่มา : แยกแยะเวทนา และวิธีปฏิบัติ 

-------------------------------------------------------------------------


          จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน บรรพะนี้หมายความว่า ใช้สติตามรู้ตามเห็นเข้าไปในอาการของจิตที่เกิดขึ้น เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ

          ดังนั้น จิตชนิดต่างๆในบรรพะนี้ จึงเป็น จิตสังขาร คือ ถูกอารมณ์เข้าปรุงแต่งให้เสียคุณภาพเดิมไปแล้วทั้งสิ้น

          อาการของจิตทั้งหลาย เช่น ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี จึงล้วนแต่อยู่ใต้อำนาจพระไตรลักษณ์ ที่สามารถสลัดละวางได้ด้วยอำนาจของสัมมาสมาธิในที่สุด

          อารมณ์ที่เข้ามากระทบจิตนั้นแบ่งเป็น ๒ ชั้น  คือ อารมณ์ชั้นใน และ อารมณ์ชั้นนอก

          อารมณ์ชั้นในนั้น ได้แก่ ความนึกคิดที่เกิดขึ้นภายในจิต
          อารมณ์ชั้นนอกนั้น ก็ได้แก่ อารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส รวม ๕ ทางด้วยกัน.

          เมื่ออารมณ์ใดๆเข้ามากระทบจิตแล้ว ย่อมส่งผลให้เกิดความรู้สึกทุกข์-สุข(เวทนา)ขึ้น

          เมื่อความรู้สึกทุกข์-สุขเกิดขึ้น ก็ย่อมส่งผลให้เกิดจิตสังขาร คือ รัก, ชัง, เฉยๆ ซึ่งเป็นกิเลส รวม ๑๖ ชนิดขึ้นด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์ชนิดใดเข้ามากระทบ หรือแล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์ชั้นในหรือชั้นนอก

          ลำดับการทำงานของผู้ปฏิบัติหมวดจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอยู่ ๓ ขั้น ดังนี้คือ

          ๑. พิจารณาจิตในจิตเป็นภายในบ้าง (คือ ความนึกคิดของตน)

          ๒. พิจารณาจิตในจิตเป็นภายนอกบ้าง (คือ อารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะ ๕)

          ๓. พิจารณาจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกบ้าง (คือ ทั้งความนึกคิดและอารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะ ๕)

          งานทั้ง ๓ ขั้นนี้ ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกสติให้ตั้งลงที่ฐานที่ตั้งสติให้มั่นคง จนจิตควรแก่การงานอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพื่อที่จะปล่อยวาง ความรัก-ชัง ฟุ้งซ่าน หวั่นไหวออกไปจนหมดสิ้น จนกระทั่งชำนาญคล่องแคล่วทุกขณะจิต

          ถึงขั้นที่ว่าพอน้อมยกจิตเข้าไปตั้งที่ฐานเท่านั้น จิตก็รวมตัวสงบถึงขีดสุดได้ทันที เมื่อจิตสงบแล้ว อาการทั้งหลายของจิต ก็ย่อมดับหายขาดไปทันทีด้วย

          เมื่ออาการของจิตดับหายขาดไปแล้ว ความประพฤติทางกายกับวาจา ก็ย่อมไม่วิปริต ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมและผู้ใกล้ชิด เป็นธรรมดา

ที่มา : หนังสือธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์