Recent Posts

ดูจิต ให้เหมือนเลี้ยงควาย


          "จิต" นี้เหมือนกันกับ "ควาย" ทีนี้เรามารักษาจิตของเรา"ผู้รู้" รักษาจิตคือ "เจ้าของควาย" อาหารของควายนั้นคืออะไร? อาหารของควายนั้นคือข้าวหรือหญ้า ถ้าเราตามรักษาจิตของเราก็คือ "คนเลี้ยงควายจะต้องทำอย่างไร?"

          คนเลี้ยงควาย ก็จะต้องเห็นควายของตัวเองว่า ควายมันกำลังอยู่ในลักษณะท่าทีอย่างไร...เราก็รู้จักหมด มันจะเข้าป่าเข้าดง ลงน้ำลงห้วยเราก็รู้จัก หรือมันจะไปเข้ารั้วเข้าสวนเขา...เราก็รู้จัก เพราะเรามองดูควายของเราอยู่ถ้ามันจะเข้าไปใกล้รั้วใกล้สวนของเขา เราก็ตะเพิดไล่มัน...อย่าไปส่งเสริมมัน

          เราตามรักษาจิต ก็เหมือนกัน สิ่งที่จะทำให้เราเกิดมีความสุขความทุกข์ มีความอิจฉาพยาบาทนั้นคือข้าวคือหญ้าอารมณ์ของจิต...จิตมันจะมีอิจฉา...จิตมันจะมีพยาบาท...จิตโลภอันนั้น...โกรธอันนี้เราก็รู้จัก เพราะจิตเปรียบเหมือนกับควาย

          ผู้มีปัญญาผู้รู้ทั้งหลายก็เหมือนกันกับเจ้าของควาย ถ้าจิตของเราจะคิดดีคิดชั่ว เราก็รู้จักเรื่องของมัน เราก็รักษาสั่งสอน...ทรมานมันได้ เหมือนกันกับคนเลี้ยงควายตามรักษาควาย

          มันจะไปกินข้าวเข้าไปในรั้วในสวนของเขา เราก็ไล่มันได้ เพราะเราคอยดูควายของเราอยู่ การรักษาตัวเองก็เหมือนกัน ก็ต้องรักษาอย่างนั้น อันนี้คือการตามรักษาจิตของตัวเอง "ผู้ใดตามรักษาจิตของตน...ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร" ก็ต้องพ้นซิ...ก็เหมือนกันกับคนตามรักษาควายนั่นแหละ

          ควายมันจะเข้าไปกินหญ้ากินข้าวในนาเขาเราก็ไล่มันจะเข้ารั้วเข้าสวนเขาเราก็ไล่ มันจะไปในทางไม่ดีไม่งามเราก็ไล่มันก็พ้นจากความเสียหาย พ้นจากความผิดเท่านั้น นั่น...ตามรักษาจิตเจ้าของ ก็เหมือนกันกับคนตามรักษาควาย มันจะเกลียดผู้นั้น...โกรธผู้นี้ มันจะหลงอันนั้น...หลงอันนี้ เราก็ตามรักษาจิตของเราอยู่อย่างนั้น ในเรื่องความชั่วเราไม่ส่งเสริมมัน...กำราบสอนมันอยู่เรื่อยๆ มันก็สอนได้เท่านั้นแหละ

          ถ้าตามรักษาตัวเองแต่นี่กลับไม่รู้จักรักษาตัวเอง นั่งอยู่เฉยๆมันก็มีธรรมะ คนเรานั้นจิตมันจะไม่อยู่เฉยๆหรอก ไม่รู้จักปฏิบัติอะไร กฎนั้นเป็นอย่างไร ธรรมนั้นอยู่ที่ไหน?...ไม่รู้จัก

          ถ้าเรารู้จักอย่างนี้นั่งอยู่มันก็คิดปรุงแต่งไปเรื่อยๆ คิดรัก...คิดชัง...คิดน้อยใจ...คิดดีใจเสียใจ...คิดวิตกกังวล คิดไปหลายๆอย่าง ถ้าเราตามรักษาเราก็ต้องรู้จัก ถ้ารู้จักแล้วเราก็ทรมานมันซิ...อันไหนมันไม่ดีไม่งาม เราก็ตะคอกมันซิ...ไล่มันออกไปอย่าให้มันอยู่กับเราซิ...อย่าให้มันโผล่ขึ้นมาได้ อย่างนี้มันก็เป็นการปฏิบัติเท่านั้น เกิดมาแล้วก็ดับไป...เกิดแล้วดับไป นั่น...คือการตามรักษาจิตของตน นี่...คือธรรมะคือการปฏิบัติธรรม

          อันนี้ก็เหมือนกันนั่นแหละ อย่าได้พากันมาเฉยๆ กลับไปถึงบ้านแล้ว ถึงเราจะมีงานที่ต้องทำ จะรดสวน เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่หุงหาอาหาร หรือทำอะไรต่างๆก็ให้ตามดูจิตของเราอย่าได้ทิ้งไป ถ้าตามรักษาจิตของตัวเอง เราก็จะรู้ตัวเราก็คอยห้ามตักเตือนตัวเอง เหมือนกันกับเราตามรักษาควายนั่นแหละ มันจะเข้าไปกินข้าวกล้าในนาเขา หรือกินพืชผักในรั้วสวนของเขาเราก็ตะเพิดไล่มันออก หรือมันจะหนีไปไม่กลับบ้าน เราก็ไล่มันกลับมา เราตามรักษาจิตของเราก็เป็นอย่างนั้น มันจะออกไปข้างนอก มันจะไปอิจฉาพยาบาทผู้อื่น เราก็ต้องต้อนมันกลับเข้ามา จะไปส่งเสริมมันทำไม...อันนี้ก็ให้รู้จักอะไรๆต่างๆ

          ถ้าจิตของเรามีความโกรธขึ้นมาก็ตั้งท่าจะสู้ช่วยมันด้วยซ้ำไป ถลกผ้าขึ้นแสดงท่าที่ช่วยส่งเสริมมันอีกอย่างนั้น มันจะรักษาตัวเองได้อย่างไร ในเมื่อเราเองก็เห็นพร้อมร่วมส่งเสริมไปกับมันอย่างนั้น นั่น...มันเป็นสิ่งไม่ดีก็ไปช่วยมันอย่างนั้น มันก็เลยละไม่ได้ เพราะคนไม่เคยรักษาตัวเอง เห็นท่าว่ามันจะไม่ดี...แล้วก็หยุด คิดว่า เอ๊ะ!..เราจะเอามันไปด้วยได้ไหม... "ให้หนี" บอกตัวเองว่าอย่างนั้นก็ได้ เมื่อถูกอารมณ์มากระทบก็หันท่าสู่ใส่เขาปากก็ถามเขาว่า "เคยตายไหม?" เอาแล้วซิ...ไปส่งเสริมมันอย่างนั้นทำไม เอ้า...เราก็ดูอย่างนี้แหละตัวธรรม การปฏิบัติธรรม จะไปเรียนเอาในพระไตรปิฎกที่ไหน เราอย่าไปส่งเสริมมันในทางที่ผิดซิ...

หลวงพ่อชา
ที่มา : หลงสังขารเป็นทุกข์