Recent Posts

อารมณ์วิปัสสนา (หลวงพ่อชา)


          เมื่อจิตเราตั้งมั่น อยู่อย่างนี้ มันก็รู้สึกง่าย ๆ คือระลึกได้ว่าเราอยู่อย่างไร เป็นอะไร ทำอะไร มีสติเมื่อใด ก็มีความรู้ตัวอยู่เมื่อนั้น ทีนี้ก็มีปัญญา แต่บางทีปัญญามันน้อย มันมาไม่ค่อยทัน มีสติอยู่ก็จริง มีความรู้สึกอยู่ก็จริง แต่ว่ามันก็ผิดของมันได้เหมือนกัน แต่แล้วตัวปัญญามันจะวิ่งเข้ามาช่วย สติความระลึกได้และสัมปชัญญะความรู้ตัวนั้น มีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ก็ควรอบรมปัญญาด้วยอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน เช่นว่า มันจะรู้อยู่ ระลึกได้ ก็ให้ระลึกได้อยู่ อารมณ์เกิดขึ้นมาอย่างไร ก็ให้ระลึกอารมณ์นั้นได้อยู่ แต่ให้เห็นไปพร้อม ๆ กันว่า มันมีอนิจจังเป็นรากฐาน มีทั้งทุกขัง มันเป็นทุกข์ ทนยาก มีทั้งอนัตตา อันไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้นแหละ มัน “สักแต่ว่า” เกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้ว ไม่มีตัวตน แล้วมันก็หายไปเท่านั้นเอง

          คนที่ “หลง” ก็ไปเอาโทษกับมัน จึงไม่รู้จักใช้สิ่งทั้งหลายนี้ให้เกิดประโยชน์ ถ้าหากว่ามีปัญญาอยู่พร้อมแล้ว คามระลึกได้และความรู้ตัวมันจะติดต่อกันเป็นลำดับ แต่ถ้าปัญญานั้นยังไม่ผ่องใส สติสัมปชัญญะมันก็อาจจะมีผิดบ้างถูกบ้าง ถ้าเป็นอย่างนั้น ต้องมีปัญญามาช่วย พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้อารมณ์ของวิปัสนากรรมฐานมาต้านทานมัน เลยว่า สตินี้มันก็ไม่แน่นอน มันลืมได้เหมือนกัน สัมปชัญญะความรู้ตัวนี้ก็ไม่แน่นอน มันล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง อะไรที่มันไม่เที่ยง แล้วเราไม่รู้ทันมัน อยากจะให้มันเที่ยง มันก็เป็นทุกข์เท่านั้น เป็นทุกข์เพราะไม่ได้ตามปรารถนา ไม่ได้ตามความอยากที่จะให้มันเป็นอยู่อย่างนั้น ซึ่งเป็นความอยากที่เกิดจากอำนาจจิตที่สกปรกด้วยความไม่รู้จักอันนี้ มันก็เกิดกิเลสตัณหาตรงนี้แหละ

          พอมีความรู้สึกเกิดขึ้นมา เช่นว่า เราได้กระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีความชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง คือมีความยึดมั่นถือมั่น เต็มอยู่ในใจของเรา ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงให้คลี่คลายออก เรื่องที่มันเกิดขึ้นมานี่ ให้ยกเอาความไม่เที่ยงเป็นหลักวินิจฉัย อะไรที่มันเกิดขึ้นมาให้เห็นว่า ถึงเราจะชอบมันหรือไม่ชอบมัน อันนี้ไม่แน่นอน อันนี้ไม่เที่ยง ถ้าเราไม่ยึดมั่นมัน มันก็พาให้เราเป็นทุกข์ ทำไมเป็นทุกข์ เพราะเราไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้เป็นไปตามใจของเราได้ทุกอย่าง

          เมื่อได้รับอารมณ์มาแล้ว จิตที่หลง ที่ไม่มีความรู้ มันก็ไปอย่างหนึ่ง จิตที่รู้ มันก็ไปอีกอย่างหนึ่ง พอมีความรู้สึกเกิดขึ้น จิตที่รู้มันก็เห็นว่าไม่ควรยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้น ถ้าไม่มีปัญญา มันหลงตามไปด้วยความโง่ ไม่เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นแต่พอว่า เราชอบใจ อันนี้มันถูกแล้ว มันดีแล้ว อันไหนเราไม่ชอบ อันนั้นมันไม่ดี อย่างนั้นจึงไม่เข้าถึงธรรมะ

          ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา พระพุทธเจ้าท่านให้เห็นเป็น “สักแต่ว่า” ให้ยืนอยู่ตรงนี้เสมอ ดังนั้น เราจะไปเลือกอารมณ์ไม่ได้ ถ้าอารมณ์มันวิ่งมาหาเราทั้งทางดีทางชั่ว ทางผิดทางถูกแล้วเราไม่รู้ เพราะไม่มีปัญญา เราก็จะวิ่งตามมันไป ตามไปด้วยตัณหา ด้วยความอยาก แล้วเดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ เพราะอะไร เพราะเอาใจของเราเป็นหลัก อะไรที่เราชอบใจ ก็เข้าใจว่าอันนั้นดี อะไรที่เราไม่ชอบใจ ก็เข้าใจว่าอันนั้นไม่ดี อย่างนี้เรียกว่ายังห่างไกลธรรมะ ยังไม่รู้ธรรมะ มันก็เดือดร้อน เพราะความหลงมันเต็มอยู่ ถ้าพูดเรื่องจิตก็ต้องพูดอย่างนี้ ไม่ต้องออกไปห่างตัว ให้เห็นว่าอันนี้มันไม่แน่ อันนี้เป็นทุกข์ อันนี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา ถ้าเห็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ นี้ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เราควรรู้จักอารมณ์อันนี้ ตามอารมณ์อย่างนี้ มันจะทำให้เกิดปัญญา ท่านจึงเรียกว่า อารมณ์ของวิปัสสนา

          อารมณ์ของสมถกรรมฐาน นั้น ท่านให้กำหนดอานาปานสติ คือ ลมหายใจเข้าออกนี้เป็นรากฐาน ควบคุมจิตของเราให้อยู่ในกระแสของลมนี้ ให้มันแน่วแน่ นิ่งนอนอยู่ เมื่อเราพยายามทำตาม ดังนั้นจิตของเราก็จะสงบ นี่ท่านเรียกว่าอารมณ์ของกรรมฐาน อารมณ์กรรมฐานนี้จะทำจิตให้สงบ เพราะจิตมันวุ่นวายมาไม่รู้กี่ปีกี่ชาติแล้ว ลองนั่งดูเดี๋ยวนี้ก็ได้ อาการวุ่นวายจะเกิดขึ้นทันที มันจะไม่ยอมให้เราสงบ ฉะนั้น ท่านจึงให้พิจารณาอันนั้น เช่น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่านให้พิจารณากลับไปกลับมา เมื่อทำอย่างนี้ บางคนพิจารณาตโจ หนัง รู้สึกพิจารณาได้สบาย เพราะถูกจริต ถ้าอันใดถูกจริตของเรา อันนั้นก็จะเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา สำหรับปราบกิเลสทั้งหลายให้มันเบาบางลง

          บางคนมีความโลภ โกรธ หลง อย่างแรงกล้า ก็ไม่มีอะไรจะปราบเจ้ากิเลสนี้ได้ พอพิจารณามรณสติ คือ การระลึกถึงความตายอยู่บ่อย ๆ ก็เกิดความสลดสังเวช เพราะว่า จนมันก็ตาย รวยมันก็ตาย ดีมันก็ตาย ชั่วมันก็ตาย อะไร ๆ มันก็ตายหมดทั้งนั้น ยิ่งพิจารณาไป จิตใจก็ยิ่งเกิดความสลดสังเวช พอนั่งสมาธิก็สงบได้ง่าย ๆ เพราะมันถูกจริตของเรา อารมณ์ของสมถกรรมฐานนี้ ถ้าไม่ถูกจริตของเรา มันก็ไม่สลดไม่สังเวช อันใดที่ถูกกับจริต อันนั้นก็จะประสบบ่อย ๆ มีความรู้สึกนึกคิดในอาการนั้นบ่อย ๆ แต่เราไม่ค่อยจะได้สังเกต จึงควรสังเกตเพื่อให้ได้ประโยชน์ เปรียบเหมือนกับอาหารที่เขาจัดมาให้สำหรับหนึ่ง มันก็มีหลายอย่าง เราก็ชิมไปทุกถ้วยทุกอย่างนั่นแหละ แล้วก็จะรู้เองว่าอาหารอย่างไหนที่เราไม่ชอบ อย่างไหนชอบก็ว่ามีรสชาติอร่อยกว่าอย่างอื่น นี่พูดถึงอาหาร

          นี่ก็เทียบให้เห็นกับจริตของคนเรา กรรมฐานที่ถูกจริตมันก็สบายอย่างอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก ถ้าถูกจริตแล้วก็สบายไม่ต้องไปเอาอย่างอื่น พอนั่งลง ก็กำหนดลมหายใจเข้าออก ก็เห็นชัด ฉะนั้น เอาของใกล้ ๆ นี่ก็ดีกว่า กำหนดลมหายใจให้มันเข้ามันออกอยู่นั่นแหละ ดูมันอยู่ตรงนั้นแหละ ดูไปนาน ๆ ทำไปเรื่อย ๆ จิตมันจะค่อยวาง สัญญาอื่น ๆ มา มันก็จะห่างกันออกไปเรื่อย ๆ เหมือนคนเราที่อยู่ห่างไกลกัน การติดต่อก็น้อย เมื่อเราสนในอานาปานสติ มันก็จะง่ายขึ้น เราทำบ่อย ๆ ก็จะชำนาญการดูลมขึ้นตามลำดับ ลมยาวเป็นอย่างไร เราก็รู้ ลมสั้นเป็นอย่างไร เราก็รู้ แล้วก็จะเห็นว่า ลมที่เข้าออกนี้ มันเป็นอาหารอย่างวิเศษ มันจะค่อยติดตามไปเองของมันทีละขั้น จะเห็นว่ามันเป็นอาหารยิ่งกว่าอาหารทางกายอย่างอื่น จะนั่งอยู่ก็หายใจ จะนอนอยู่ก็หายใจ จะเดินไปก็หายใจ จะนอนหลับก็หายใจ ลืมตาขึ้นก็หายใจ ถ้าขาดลมหายใจนี้ก็ตาย แม้แต่นอนหลับอยู่ก็ยังต้องกินลมหายใจนี้ พิจารณาไปแล้วเลยเกิดศรัทธา เห็นว่าที่เราอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะอันนี้อง ข้าวปลาอาหารต่าง ๆ ก็เป็นอาหารเหมือนกัน แต่เราไม่ได้กินมันทุกเวลานาที เหมือนลมหายใจ ซึ่งจะขาดระยะไม่ได้ ถ้าขาดก็ตาย ลองดูก็ได้ ถ้าขาดระยะสัก 4-10 นาที มันจวนจะตายไปแล้ว

          นี่พูดถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้ปฏิบัติ มันจะรู้ขึ้นมาอย่างนี้ แปลกไหม แปลกซิ ซึ่งถ้าหากไม่ได้พิจารณาตามลมหายใจอย่างนี้ ก็จะไม่รู้สึกว่ามันเป็นอาหารเหมือนกัน จะเห็นก็แต่คำข้าวเท่านั้นที่เป็นอาหาร ความจริงมันก็เป็น แต่มันไม่อิ่มเท่ากับอาหารลมหายใจ

          อันนี้ ถ้าเราทำไปเรื่อยให้เป็นปฏิปทาอย่างสม่ำเสมอ ความคิดมันจะเกิดอย่างนี้ จะเห็นต่อไปอีกว่า ที่ร่างกายเราเคลื่อนไหวไปได้ ก็เพราะลมอันนี้ จะเห็นต่อไปอีกว่า ที่ร่างกายเราเคลื่อนไหวไปได้ ก็เพราะลมอันนี้ ยิ่งพิจารณาก็ยิ่งเห็นประโยชน์ของลมหายใจยิ่งขึ้น แม้ลมจะขาดจากจมูก เราก็ยังหายใจอยู่ แล้วลมนี้ยังสามารถออกตามสรรพางค์กายก็ได้ เราสงบนิ่งอยู่เฉย ๆ ปรากฏว่าลมมันไม่ออก ลมมันไม่เข้า แต่ว่าลมละเอียดมันเกิดขึ้นแล้ว

          ฉะนั้น เมื่อจิตของเราละเอียดถึงที่สุดของมันแล้ว ลมหายใจก็จะขาด ลมหายใจไม่มี เมื่อถึงตรงนี้ ท่านบอกว่าอย่าตกใจ แล้วจะทำอะไรต่อไป ก็ให้กำหนดรู้อยู่ตรงนั้นแหละ รู้ว่าลมไม่มีนั่นแหละ เป็นอารมณ์อยู่ต่อไป

          พูดถึงเรื่องสมถกรรมฐานมันก็คือความสงบอย่างนี้ ถ้ากรรมฐานถูกจริตแล้ว มันเห็นอย่างนี้แหละ ถ้าเราพิจารณาอยู่บ่อย ๆ มันก็จะเพิ่มกำลังของเราอยู่เรื่อย ๆ เหมือนกับน้ำในโอ่ง พอจะแห้งก็หาน้ำเติมลงไปอยู่เรื่อย ถ้าทำสม่ำเสมออยู่อย่างนี้ มันจะกลายเป็นปฏิปทาของเรา ทีนี้ก็จะได้ความสบาย เรียกว่าความสงบ สงบจากอารมณ์ทั้งหลาย คือมีอารมณ์เดียว

          คำที่ว่ามีอารมณ์เดียว นั้นพูดยากเหมือนกัน ความเป็นจริง อาจมีอารมณ์อื่นแทรกอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มีความสำคัญกับเรา มันเป็นอารมณ์เดียวอยู่อย่างนี้ แต่ให้ระวัง เมื่อความสงบเกิดขึ้นมา แล้วมีความสบายเกิดขึ้นมาก ระวัง มันจะติดสุข ติดสบาย แล้วเลยยึดมั่นถือมั่น

          ฉะนั้น ถ้าหากเกิดความคิดขึ้นมา ให้พิจารณาว่า ความสุขนี้ก็ไม่เที่ยง ความสบายนี้ก็ไม่เที่ยง หรือความทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความที่เป็นอย่างนั้น ๆ มันก็ไม่เที่ยงจึงอย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย ความรู้สึกอย่างนั้นมันเกิดขึ้นมา เพราะปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วเห็นสภาวะของสิ่งทั้งหลายเป็นอย่างนั้น เมื่อมีความรู้สึกอย่างนี้ ก็เหมือนคลายเกลียวน๊อตให้หลวมออก ไม่ให้มันตึง เมื่อก่อนมันตึงมันแน่น ความรู้สึกของเราที่มองก็เช่นกัน สมัยก่อนมองเห็นอันนั้นก็แน่นอน อันนี้ก็แน่นอน มันเลยตึง มันก็เป็นทุกข์ พอไม่ยึดมั่นถือมั่นเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นของไม่แน่นอน มันก็คลายเกลียวออกมา

          เรื่องความเห็นนี้เป็นเรื่องของทิฏฐิ เรื่องความยึดมั่นถือมั่น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามานะ ท่านจึงสอนว่า ให้ลดทิฏฐิมานะลงเสีย จะลดได้อย่างไร จะลดได้ก็เพราะเห็นธรรม เห็นความไม่เที่ยง สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง อะไร ๆ ก็ไม่เที่ยงทั้งนั้น เมื่อเราเห็นอย่างนั้น อารมณ์ทั้งหลายที่เรากระทบอยู่ มันก็จะค่อย ๆ หมดราคา หมดราคาไปมากเท่าไร ก็บรรเทาความเห็นผิดไปได้เท่านั้น นี้เรียกว่า มันคลายนอตได้หลวมออกมา มันก็ไม่ตึง อุปาทานก็จะถอนออกมาเรื่อย ๆ

          เพราะเห็นชัดในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสกลร่างกายนี้หรือในรูปนามนี้ ในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้แล้วก็จะเกิดความเบื่อ คำว่า “เบื่อ” ไม่ใช่เบื่ออย่างที่คนเขาเบื่อกัน คือเบื่ออย่างที่ไม่อยากรู้ ไม่อยากเห็น ไม่อยากพูดด้วย เพราะไม่ชอบมัน ถ้ามันเป็นอะไร ก็ยิ่งนึกสมน้ำหน้า ไม่ใช่เบื่ออย่างนี้ เบื่ออย่างนี้เป็นอุปาทาน เพราะความรู้ไม่ทั่วถึงแล้วเกิดความอิจฉาพยาบาท เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรียกว่า “เบื่อ” นั่นเอง

          “เบื่อ” ในที่นี้ ต้องเบื่อตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ เบื่อโดยไม่มีความเกลียด ไม่มีความรัก หากมีอารมณ์ชอบใจหรือไม่ชอบใจอันใดเกิดขึ้นมา ก็เห็นทันทีว่า มันไม่เที่ยง “เบื่อ” อย่างนี้จึงเรียกว่า “นิพพิทา” คือความเบื่อหน่ายคลายจากความกำหนัดรักใคร่ในอารมณ์อันนั้น ไม่ไปสำคัญมั่นหมายในอารมณ์เหล่านั้น ทั้งที่ชอบใจและไม่และไม่ชอบใจ ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นและไม่ไปสำคัญมั่นหมายในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นจนเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด

          พระพุทธเจ้าท่านสอนต่อไปอีกว่า ให้รู้จักทุกข์ ให้รู้จักเหตุเกิดทุกข์ ให้รู้ความดับทุกข์ ให้รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ท่านให้รู้ของสี่อย่างนี้เท่านั้น ทุกข์เกิดขึ้นมาก็ให้รู้ว่า นี่ตัวทุกข์ แล้วทุกข์นี้มาจากไหน มันมีพ่อแม่เหมือนที่เราเกิดมาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามันเกิดขึ้นมาลอย ๆ เมื่ออยากจะให้ทุกข์ดับ ก็ไปตัดเหตุของมันเสีย ที่ทุกข์มันเกิดเพราะไปยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ฉะนั้น จึงให้ตัดเหตุของมันเสีย การรู้จักดับความทุกข์ ก็ให้คลายเกลียวที่แน่นนั้นออกเสีย ให้เห็นโทษของอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ถอนตัวออกมาเสีย รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็คือ มรรค ให้ปฏิบัติให้ตลอด ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิไปจนถึงสัมมาสมาธิ ให้มีความเห็นให้ถูกต้อง ในมรรคทั้งแปดข้อนี้ ถ้ามีความรู้ ความเข้าใจ และความเห็นขอบในสิ่งทั้งหลายนี้แล้ว ก็จะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราก็จะพ้นจากความทุกข์ ข้อปฏิบัตินั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

          เรื่องของจิตใจหรือธรรมชาติของจิตจะต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องรู้และเห็นสิ่งทั้งสี่ประการ (อริยสัจจ์ 4) นี้ให้ชัดเจนตามความเป็นจริงของมัน เพราะมันเป็นสัจจธรรมทั้งนั้น ดังนั้น ผู้บรรลุธรรมจะไปนั่งที่ไหนหรือไปอยู่ที่ใด ก็จะมองเห็นธรรมอยู่ตลอดเวลา

หลวงพ่อชา สุภัทโท
ที่มา : อ่านใจธรรมชาติ