Recent Posts

ฝึกสติให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ด้วยอานาปานสติ



          การฝึกสติให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม หรือรู้แบบทั่วถึง ด้วยการฝึกอานาปานสติเข้าไปสู่ในชีวิตประจำวัน


อานาปานสติแบบนั่งสมาธิ

          ก่อนอื่นเราควรมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการฝึกอานาปานสติในรูปแบบของการนั่งสมาธิที่ทำกันอยู่ทั่วไปก่อนว่า เหตุที่ทำให้ผู้ปฏิบัติอานาปานสติไม่เจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติ เป็นเพราะผู้ปฏิบัติจริงจังในการกำหนดลมหายใจมากเกินไป คือพอนั่งหลับตาแล้วก็รีบจ้องจับลมหายใจทันที

          ข้อนี้ทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของการเจริญอานาปานสติภาวนา กล่าวคือหลักการที่ถูกต้องนั้นให้เราเพียงรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก พร้อมด้วยลักษณะอาการตามธรรมชาติของลมหายใจตามที่เป็นจริง การรีบร้อนไปกำหนดลมทันทีทันใดที่หลับตา จะเป็นการไปจ้องจับลมเกินไป หรือไปบังคับลม หรือไปปรุงแต่งลม

          การปรับแก้ไขเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้อง คือ พอนั่งในท่านั่งขัดสมาธิแล้ว ให้เราสำรวจร่างกายของเราก่อนว่า มีการเกร็งส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไหม และให้ผ่อนคลายร่างกายก่อน

          โดยอย่ารีบร้อนหลับตา ให้ทอดสายตาไปข้างหน้าแบบสบายๆ ไม่จดจ่อหรือเพ่งสิ่งใดๆ ข้างหน้า เสมือนหนึ่งเรานั่งอยู่ริมชายหาดหรือบนภูเขา เห็นท้องทะเลหรือท้องฟ้าอันเวิ้งว้าง สงบ และว่างเปล่า เป็นธรรมชาติที่ไม่มีสิ่งใดๆ มารบกวนให้เกิดการปรุงแต่งใดๆ เพื่อให้จิตตื่นรู้อยู่เฉพาะหน้า ขณะที่ทอดสายตาไปนั้น ให้ใช้ความรู้สึกสำรวจร่างกายทุกส่วน ตั้งแต่ศีรษะ ไหล่ ลำตัว แขนขาจนจรดปลายเท้า ว่ามีส่วนใดของร่างกายเกร็งไหม? และให้ผ่อนคลายให้หมด ผ่อนคลายร่างกายไปสักพัก

          พอรู้สึกสงบสบายเป็นธรรมชาติแล้ว เราจะพบกับความมหัศจรรย์ว่า เราสามารถรู้ลมหายใจละเอียดแผ่วเบา เข้าและออกได้โดยไม่ได้กำหนด แต่เป็นการรู้ได้เองโดยธรรมชาติ

           จากนั้นจึงค่อยหลับตาเบาๆ เมื่อหลับตาลงแล้ว ความรู้สึกภายในยังคงให้ทำความรู้สึกตื่นอยู่เหมือนตอนเปิดตา คือ ตาภายนอกหลับ แต่ตาภายในหรือความรู้สึกภายในยังคงตื่นอยู่ คือให้ความรู้สึกตื่นหรือสำนึกรู้นี้ ยังคงอยู่เฉพาะเบื้องหน้าจริงๆ จากนั้นให้ ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ไปพร้อมๆ กับการรู้ลมหายใจเข้า-หายใจออก ซึ่งเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

          ต่อไปให้ประคองความรู้สึกตัวทั่วพร้อมกับรู้ลมหายใจเข้า-หายใจออกไปสักระยะ จะพบว่าจิตสงบและเข้าสู่ความเป็นกลางของจิต คือ จิต ที่ประคองด้วยสติต่อเนื่อง จะดูเหมือนว่าเห็นลมหายใจเข้า-หายใจออก และเห็นร่างกายแบบทั่วพร้อม และทั่วถึงมากขึ้นๆ ตามลำดับ

          จากนั้นความรู้สึกที่เป็นไปในภายในแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กายจะค่อยๆ ปรากฏชัด เป็นความอิ่มเอิบและปีติสุขจากความสงบ

          ถึงตอนนี้ให้ ปล่อยวาง ความรู้สึกทางร่างกาย แต่ให้รู้ถึงความรู้สึกที่ละเอียดขึ้นคือ ความรู้สึกสงบ ปีติสุข แผ่ซ่านที่เป็นไปในภายในร่างกายพร้อมๆ กับรู้ลมหายใจเข้า-ออก พร้อมทั้งอาการความละเอียดของลมให้ต่อเนื่อง

          เมื่อนั้นสำนึกรู้ที่เราประคองมาตั้งแต่ต้น (คือมีความรู้สึกตื่นอยู่เฉพาะหน้า) จะชัดขึ้นๆ จนเป็นความรู้สึกตื่นรู้และเบิกบานจริงๆ จากนั้นให้ปล่อยวางความรู้สึกปีติสุขที่ผ่านซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย คงเหลือแต่สำนึกรู้ที่ตื่นอยู่และชัดขึ้นๆ และตั้งมั่นจนเป็นความสงบระงับ ปล่อยวางร่างกาย และความรู้สึกที่เป็นไปทั่วสรรพางค์กายทั้งหมด

          คงประคองความรู้สึกตื่นรู้หรือสำนึกรู้นี้ไปเรื่อยๆ พร้อมกับรู้อาการลมหายใจซึ่งละเอียดประณีตมากขึ้นโดยลำดับ จนบางครั้งจะรู้สึกว่าลมหายใจขาดหายไปเป็นช่วงๆ หรือหายไปในที่สุด ก็ไม่ต้องลังเลสงสัย ให้รู้ว่าลมหายใจหายไปแล้ว และละจากการกำหนดลมหายใจมาสู่การประคองสำนึกรู้ (Consciousness) ไปเรื่อยๆ จนจิตเกิดความสงบระงับถึงที่สุด เป็นอุเบกขา แต่ไม่ใช่อุเบกขาแบบไม่รู้อะไร แต่เป็นอุเบกขาที่เปี่ยมด้วยสำนึกรู้ ที่เข้าถึง พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานจริงๆ นี่เป็นการชี้ให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติเริ่มเข้าสู่หนทางแห่งมรรคแล้ว

(สรุปการปฏิบัติ  1. ทำ...ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ไปพร้อมๆ กับการรู้ลมหายใจเข้า-หายใจออก 
                         2. เห็น...ร่างกายแบบทั่วพร้อม และ ลมหายใจเข้า-หายใจออก
                        3. ปล่อยวาง...ความรู้สึกทางร่างกายทั้งหมด)

 อานาปานสติในชีวิตประจำวัน

            อานาปานสติในชีวิตประจำวัน คือ การประสานลมหายใจ เข้าไปในอิริยาบทการเคลื่อนไหว หรือการทำงานต่างๆ ซึ่งต้องเป็นไปตามธรรมชาติจริงๆ เพราะหากผู้ปฏิบัติตั้งใจจะกำหนดลมไป และทำงานไป จะรู้สึกขัดข้องมากๆ

          การฝึกให้เริ่มจากการฝึกความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เมื่อเริ่มต้นฝึกใหม่ สติยังอ่อนอยู่ สติจะสามารถรู้ได้เฉพาะสัมผัสที่เด่นชัดเท่านั้น

          แต่พอฝึกไปจนสติไวขึ้นไวขึ้นโดยลำดับ จะเห็นว่าสติมีกำลังมากขึ้น โดยวัดได้จากการเริ่มรู้ชัดร่างกาย และอิริยาบถทีละส่วนๆ และมากส่วนขึ้น จนรู้ได้ทั่วถึงแม้พูดลิ้นพันกัน ตากะพริบ เท้ายก มือเคลื่อนไหว รู้ได้หมด

          การรู้ได้หมดนี้มีเทคนิคต่างไปจากการกำหนดสติเฉพาะส่วน คือ การรู้เฉพาะส่วนนั้น ฝึกโดยการกำหนดรู้ในสัมผัสและอารมณ์ที่ชัด แต่การฝึกรู้ตัวทั่วถึงนั้น ฝึกโดยการวางจิตเป็นกลางๆ จนสามารถเห็นได้ทั่ว ๓๖๐ องศา

          เมื่อจิตเป็นกลางๆ และรู้ได้ทั่วถึง จะพบความมหัศจรรย์ว่าลมหายใจที่เมื่อก่อนไม่ค่อยได้รู้ถึงลมเข้า-ออก แต่พอจิตเป็นกลางๆ ดังกล่าว จะสามารถรู้ลมเข้า-ออกทุกขณะได้โดยไม่ต้องกำหนด จะรู้แม้ความคิดนึก ความรู้สึก ความเป็นไปของจิต และที่สุดก็จะทั้งรู้และเห็นการปรุงแต่งและการเกิดดับของจิตที่ไปเสวยอารมณ์ ความคิดและความรู้สึกต่างๆ ด้วย

          การรู้ทั่วถึงดังกล่าวจะสามารถรู้ได้โดยธรรมชาติแม้ในขณะพูด ทำงาน หรือ เคลื่อนไหว บางท่านที่ฝึกสติโดยการกำหนดการเคลื่อนไหวแบบหลวงพ่อเทียน เมื่อมีสติต่อเนื่อง จิตก็จะเข้าสู่ความเป็นกลาง และรู้ได้ทั่วถึงดังกล่าว คือรู้แม้กระทั่งลมหายใจ รู้แม้กระทั่งความคิดนึกและความรู้สึกที่กำลังเกิด-ดับ เป็นต้น

          นี่เป็นการเจริญอานาปานสติในชีวิตประจำวัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือประสานลมหายใจที่ละเอียดเข้าไปสู่กาย เวทนา จิต และธรรม จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันเป็นหนทางแห่งมรรคที่ผู้ปฏิบัติเจริญให้มากในชีวิตประจำวัน จะสามารถถึงซึ่งความหลุดพ้นได้ในที่สุด

วิโมกข์
ข้อมูลเพิ่มเติม การพัฒนาสติในการภาวนา_วิโมกข์