Recent Posts

ตั้งจิตไว้อย่างตื้นๆ


          การตั้งจิตไว้อย่างตื้นๆ จะเข้าสมาธิก็ไม่ใช่จะออกไปข้างนอกก็ไม่ให้ออก ตรงนั้นแหละเป็นที่ตั้งของสติ สร้างตรงนั้นให้มีความแกร่งขึ้นมา เรียกว่า “สติปัฏฐาน ๔ หรืออบรมมรรคมีองค์ ๘”อันเดียวกัน

          อบรมตรงนี้เป็นการอบรมที่ตื้นๆบางคนคิดว่า การเอาสติตั้งอยู่ตรงนี้ไม่น่าอยู่ จิตประคองยาก คอยจะไหลออกข้างนอก เรามาจับอารมณ์ที่มารบกวนจิตว่ามีอะไรบ้าง ทีหนีทีไล่เป็นอย่างไร มาศึกษาให้ลึกกว่านั้น เราหลบอยู่ในสมาธิจิตนิ่งทำไปแล้วจะตัน หาทางออกไม่ได้ การที่เราหนีอารมณ์หนีเหตุการณ์ แต่เข้าไปในถ้ำสงบได้ ออกนอกถ้ำเจอปรากฏการณ์อารมณ์ต่างๆที่รออยู่ เราจะแก้ปัญหาโดยเราจะไม่หนีอารมณ์ เราจะจับเหตุการณ์ทั้งหมดมาวิเคราะห์ แล้วก็แก้ไขให้ลงตัว

          สมาธิแบบจิตนิ่งทำไปแล้วจะตัน หาทางออกไม่ได้ แต่ไม่ใช่ไม่มีหนทางออก ทางนั้นมีอยู่แต่เราค้นหาไม่เจอ

          นักปฏิบัติมารู้ว่าปัญหา คือ อารมณ์ ฉะนั้น เขาจะไม่หนีอารมณ์ แต่เขาจะแก้ไขโดยชาญฉลาดด้วยปัญญา โดยอาศัยพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ แก้ไขโดยความถูกต้องโดยไม่หนีอารมณ์

          การที่จิตไม่หนีอารมณ์คนที่เคยทำสมาธิให้จิตสงบมาก่อนไม่ค่อยชอบ เพราะประคองยาก แต่เราต้องทน ประการแรก คือ จิตไม่ให้เข้าสมาธิ ไม่ให้จิตออกนอก เราจะอยู่ตรงกลางๆนั้น แล้วมาวิเคราะห์ว่า ความไม่สงบของจิตเกิดจากอะไร? เกิดจากกิเลสสามตัว คือ ราคะ โทสะ โมหะ นั่นเอง กิเลสทั้งสามตัวเป็นเครื่องชักจูงจิตไปสู่อารมณ์ตามอำนาจของเขา

          ฉะนั้น เราจะแก้ไขอย่างไร พระพุทธองค์ก็ทรงสอนไว้ว่า เขาจะไม่หนีเหตุการณ์ต่างๆ แล้วจับเหตุการณ์ต่างๆมาวิเคราะห์ศึกษาและแก้ไข เราจะเห็นว่าจิตที่คิดไปในอารมณ์ต่างๆ มีกิเลสสามตัว คือ ราคะ โทสะ โมหะ มีอยู่แล้ว ไม่พ้นกิเลสสามตัวนี้ อารมณ์ที่ปรุงแต่งจิตนอกเหนือกิเลสสามตัวนี้ไม่มีเลย ถ้าคิดทางชอบ เรียกว่า “ราคานุสัย” หากคิดทางไม่ชอบ เรียกว่า “ปฏิฆานุสัย” และคิดทางเฉยๆรักก็ไม่ใช่ ชังก็ไม่ใช่ เรียกว่า “อวิชชานุสัย”

          อวิชชา คือ ความไม่รู้ จิตที่ปรุงแต่งอยู่เดิมนั้นไม่ถูก เพราะเป็นของเดิมที่มีอยู่ เราเกิดมาก็เดินทางผิดอยู่แล้ว ถ้าเป็นทางผิด เรียกว่า “มิจฉามรรค” เป็นทางผิดอยู่จึงได้เป็นอย่างนั้น เขามามองตรงนี้ว่า ความคิดที่คิดไปแล้ว ถ้าเราเติมเชื้อเข้าไป ความคิดเหล่านั้นก็จะมาก ถ้าจิตคิดไปในอารมณ์ต่างๆ เราเพิ่มความคิดเข้าไปอีกส่งเสริมเพิ่มเติมจิตก็จะคิดใหญ่ ราคะที่ไม่เกิดย่อมเกิด โทสะที่ไม่เกิดย่อมเกิด โมหะที่ไม่เกิดย่อมเกิด เกิดแล้วย่อมงอกงาม เราจะเห็นว่าเมื่อเราเพิ่มเติมความคิดเข้าไป จิตก็จะได้ช่องแล้วก็เป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงให้กิเลสนั้นสมบูรณ์อยู่ ความคิดงอกงามสมบูรณ์อยู่ตรงนั้นเอง พอไฟจะมอดก็เติมเชื้อไฟเข้าไปอีก นักปฏิบัติจะต้องไม่หนีอารมณ์ เพราะถ้าหนีอารมณ์อย่างไรก็ไม่รอด ทางที่ดีเราหันหน้าเข้าสู้อารมณ์ แล้วแก้ไขจึงจะหนีรอด อย่าไปกลัวอารมณ์ คนทำสมาธิจะกลัวอารมณ์คิดนิดคิดหน่อยไม่ได้ ตัดเลยเพราะทุกข์ แต่หนีเท่าไหร่ก็ไม่รอด หันหน้าเข้าหาศึกษาให้ถ่องแท้แล้วแก้ไข จะหนีรอดได้

          เรามาดูจุดอ่อนที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ขณะใดที่จิตคิดไปในอารมณ์ต่างๆ แล้วเราเพิ่มเติมในอารมณ์นั้นมากขึ้น เช่น ขณะนี้จิตปรุงแต่งไปทางราคะ กามราคะถูกครอบงำแล้ว เราก็เพิ่มเติมอารมณ์ เหมือนเติมเชื้อไฟเข้าไปอีกเรื่อยๆ จิตก็โน้มเอียงไปทางราคะ เมื่อมีน้อยก็มีมากขึ้น มีมากก็มากขึ้นอีก ในที่สุดก็บีบคั้นหัวใจของเราให้เร่าร้อนอยู่ตลอด อันนี้เป็นอันว่าจิตเราก็ถูกครอบงำแล้ว ด้วยกามราคะนั้นๆ

          ขณะใดที่จิตเราถูกปรุงแต่งด้วยกามราคะ แต่เราตัดน้ำหล่อเลี้ยงเขา จิตถูกปรุงแต่งไปในกามราคะเมื่อใด เราดึงจิตกลับเลย แล้วน้อมมาพิจารณาตัวเอง เราสังเกตได้ว่า ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิด ที่เกิดแล้วย่อมบรรเทาลง เมื่อบรรเทาลงแล้ว ที่เกิดแล้วจะไม่เกิดขึ้นอีก ที่เกิดแล้วจะบรรเทา เราจะเห็นได้ชัดเท่ากับว่าอารมณ์ข้างนอกกับอารมณ์ข้างในแบ่งฝ่ายกัน แบ่งอารมณ์เป็นสองส่วน คือ ฝ่ายข้างในกับฝ่ายข้างนอก นี่คือ การแก้ปัญหาเรื่องอารมณ์ เพราะว่าเราทำสมาธิเท่าไร ก็หนีอารมณ์ไม่พ้น แต่เราหันหน้าเข้าหา แล้วศึกษาให้ถ่องแท้ แก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง โดยศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำไปปฏิบัติ เราจะแก้ไขได้ นี่คือ การไม่หนีปัญหาและวิเคราะห์ปัญหาด้วยสติปัญญา จนสุดท้ายปัญหาเหล่านั้นถูกสะสางลงไป เราจึงถึงความสงบได้อีกทีหนึ่ง

          ความสงบที่เกิดขึ้นทีหลัง เป็นความสงบที่ยั่งยืนจริงๆ แนวทางการแก้ปัญหา คือ หันหน้าเข้าหาปัญหา ไม่ได้หนีปัญหา ถ้าเราหนีๆ ไม่รอด ถ้าเราหันหน้าเข้าหาจะแก้ปัญหารอด นักปฏิบัติต้องมาศึกษาตรงนี้ จะเห็นอารมณ์ของจิตแบ่งเป็นสองฝ่าย คือ จิตหนึ่งคิดออกข้างนอก แต่อีกจิตหนึ่งจะพาจิตดวงนี้เข้าข้างใน คือ ดูตัวของเราเองในอาการ ๓๒ เราสังเกตได้ว่า จิตที่คิดหน้าตาอย่างไร รูปลักษณะอย่างไร ทั้งที่เรานั่งหลับอยู่ตรงนี้ความคิดนั้นมีลักษณะอย่างไร เราต้องดูตรงนี้ให้ออกก่อน ความคิดของจิต แม้ว่าเรานั่งหลับตา จิตที่คิดไปทีแรกก็ คือ ภาพของจิตเป็นภาพของอารมณ์ออกมาก่อน จิตคิดอารมณ์อะไร ภาพจะปรากฏขึ้นมาในจิต เราจงจับตาดูตรงภาพนั้น ภาพของจิตที่สร้างขึ้นมาโดยตัวของจิตเองเป็นรูปของอารมณ์ “ภาพของจิต คือ ตัวปัญหา และเป็นปัญหามากที่สุด จับตาตัวละครตรงนี้ให้ดี การที่จิตไม่สงบ เพราะเรานึกแล้วเกิดภาพออกมา เป็นตัวร้ายทำลายสมาธิ เป็นตัวสร้างปัญหาโลกแตกก็ว่าได้” ภาพของจิตทำให้ไม่สงบแปรไปตามกิเลสสามตัวนั้น ภาพนั้นเป็นที่ตั้งของราคะ ก็จะเกิดราคะ ภาพนั้นเป็นที่ตั้งของโทสะ ก็จะเกิดโทสะ ภาพนั้นตั้งอยู่ในอารมณ์กลางๆ ไม่ใช่ราคะ ไม่ใช่โทสะ ก็เป็นโมหะ

          ความคิดของคนเราวันหนึ่งๆ คือ รัก ชอบ ไม่ชอบ ชัง มีอยู่สามอย่างนี้เองที่แสดงออกมา แม้แต่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะสัมผัสสัมพันธ์กับอารมณ์นั้น อยู่โดยตรงอยู่แล้ว แม้แต่เรานั่งหลับตาปิดหูปิดตาแล้ว ก็ยังนึกถึงภาพนั้น ภาพใหม่ก็เก็บเกี่ยวเข้ามาเป็นสังขาร ภาพเก่าก็เก็บเกี่ยวเข้ามาเป็นสัญญา สัญญา คือ สิ่งที่ผ่านไปก็เก็บเกี่ยวไว้ในจิตก็กลายเป็นว่า สัญญา สังขาร วิญญาณ คนใดที่มีจิตนึกถึงภาพเหล่านั้นขึ้นมา ก็เรียกว่า เวทนา การเห็นภาพนั้นแจ้งออกมา เรียกว่า วิญญาณ ฉะนั้น รูป เวทนา สัญญา วิญญาณ ของคนเราประกอบเป็นขันธ์ ๕ นั่นเอง

          เราสังเกตได้ว่า ภาพเหล่านั้นเป็นตัวปัญหามาก ถ้าเราไม่มีภาพนี้ จิตของเราก็สงบได้ ใช่แน่นอน แต่ว่าภาพไม่มี มีแต่จิตสว่าง เป็นตัวรู้นิ่งสว่างอยู่ ความสว่างของจิตอย่างนั้นก็หนีไม่รอด นั่นเป็นสมาธิที่ไม่มีอารมณ์ก็จริง เมื่อออกจากสมาธิก็มีอารมณ์รออยู่ บางทีก็มีภาพอื่นขึ้นมาด้วยเป็นนิมิต(อารมณ์ของสมาธิ)

          ทำอย่างไรเราจะทำลายภาพเหล่านี้ได้ ตัวปัญหา คือ ภาพที่สร้างขึ้นมาจากมโนทวาร จึงเป็นรูปของอารมณ์ มองตรงนี้ว่า เมื่อภาพมีขึ้น จิตของเราสร้างภาพอยู่ตลอดเวลา อารมณ์ของเราก็ไม่มีขอบเขตตลอด แล้วจะทำอย่างไรให้อารมณ์มีขอบเขต เราจะสังเกตเห็นว่า จิตของเราคิดนึกในอารมณ์ต่างๆ นอกตัวหมดแล้ว เมื่อทำสมาธิจิตก็สงบ เมื่อออกมาก็ไปตามอารมณ์ เราจงเปลี่ยนภาพเหล่านั้น เป็นภาพของเราเองแล้ว จิตก็จะสงบอย่างยั่งยืนได้

          ฉะนั้น เราจะเห็นนักปฏิบัติที่ทำกัมมัฏฐาน ๕ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ให้มองเห็นสิ่งเหล่านี้แทนภาพเหล่านั้น แล้วเราจะแก้ปัญหาของเราได้ แต่ปัญหา คือ เรานึกภาพกรรมฐาน ๕ นึกไม่ออกเลย เป็นของสิ่งเดียวในโลกที่นึกไม่ได้คือตัวเราเอง เพราะเราเคยชินกับการเห็นข้างนอกไม่เคยมองตัวเอง ความจริงที่เราไม่เห็น ถูกเราปิดอยู่ ยังมืดบอดอยู่ ทั้งที่ตาเราจริงๆ ตาเนื้อตาหนังก็อีกตาหนึ่ง ตาใจนั้นถูกปิดอยู่ เราใช้ตาเนื้อส่องกระจกเราก็เห็นตัวเองได้ เราก็ยังเห็นอยู่ แต่ตาในปิดเอาไว้ เราจึงนึกถึงตัวเองไม่ออกเลย

          ฉะนั้น คนที่ก้าวเข้าสู่พระอริยบุคคลเบื้องต้น คือ พระโสดาบัน ดวงตาดวงนี้จะเปิดออกมา เปิดครั้งแรกในการเห็นนั้น หมายถึง คนๆ นั้น ตาในถูกปิดมานมนานแล้ว ถูกหมอเยียวยาให้ดวงตานั้นสามารถที่จะเห็นชัดขึ้นมา เป็นตาดีเริ่มเห็นรางๆ เห็นชัดขึ้นมาตามลำดับ เรียกว่า “ดวงตาเห็นธรรม”

          บางคนถามว่าการเห็นตัวเองจะเห็นยังไง ก็เห็นเหมือนอย่างที่เราเห็นข้างนอก แต่เป็นการเห็นข้างในไม่ใช่ข้างนอก นึกเห็นตัวเองอย่างที่เรานึกเห็นผู้อื่น เห็นผู้อื่นอย่างไร เราก็เห็นตัวเองเช่นนั้น แต่การเห็นผู้อื่น จิตวิ่งออกข้างนอก แต่การเห็นตัวเองจิตวิ่งเข้าข้างใน แล้วอบรมจนมองเห็นตัวเองให้มากแล้ว ทิ้งความเห็นข้างนอกนั้น ให้ไปเห็นตัวเองอย่างเดียว จิตนั้น จะเป็นจิตสงบแน่นอนในตัวเอง ความลับอันนี้ถูกปิดเอาไว้ เรานึกไม่ถึงว่า สมาธิที่แท้จริงอยู่ตรงนี้เอง

          เราทำตรงนี้ ที่ตั้งของจิตตรงนี้ ทำให้เกิดให้มีให้แจ้งออกมา จะเป็นสมาธิอีกรูปหนึ่งซึ่งเราไม่เคยพบมาก่อน ตรงนี้จะมีสมาธิได้แตกต่างจากสมาธิที่อบรมครั้งแรก ซึ่งเป็นสมถกัมมัฏฐาน (โลกียสมาธิ) เป็นสมาธิวนอยู่แค่นี้ หาทางไปทางมาไม่ออก แต่สมาธิอีกแบบหนึ่ง เป็นสมาธิที่ตาในเห็น รู้แจ้งขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งตัวเราประกอบด้วยขันธ์ทั้งห้า การเห็นร่างกายเนื้อหนังอาการ ๓๒ นี้ก่อน แล้วจะเข้าใจรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และเราจะต้องอบรมจิตให้แจ้งตรงนี้ให้ได้ตามเป็นจริง เป็นจุดหมายสูงสุดของการทำให้แจ้งมรรคผลนิพพาน

หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ