Recent Posts

ดูจิต คือ อะไร


          คำว่า การดูจิต เป็นคำที่นักปฏิบัติกลุ่มหนึ่ง บัญญัติขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมายกันเองภายในกลุ่ม
หมายถึงการเจริญ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ทุกบรรพ) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ทุกบรรพ)
รวมถึง ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (บางอย่างที่เป็นฝ่ายนามธรรม)

          กล่าวอย่างย่อ ก็คือการเจริญวิปัสสนาด้วยอารมณ์ฝ่ายนามธรรมได้แก่การรู้จิตและเจตสิกนั่นเอง
และเมื่อหัดรู้มากเข้าจะพบว่า นามธรรมจำนวนมากผุดขึ้นที่อก หรือ หทยรูป แต่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องเที่ยวควานหาหทยรูป หากกิเลสเกิดที่ไหน และดับลงที่ไหน ก็รู้ที่นั้นก็แล้วกัน

          สรุปแล้ว การดูจิตที่พูดถึงกันนั้น ไม่ใช่การดูจิตจริงๆ เพราะจิตนั้นแหละ คือผู้รู้ ผู้ดู ผู้ยึดถืออารมณ์ แต่การดูจิต หมายถึงการเจริญวิปัสสนา โดยเริ่มต้นจากการรู้นามธรรม ซึ่งเมื่อชำนิชำนาญแล้ว ก็จะรู้ครบสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั่นเอง

          ดังน้้น ถ้าไม่ชอบคำว่า ดูจิต ซึ่งนักปฏิบัติส่วนหนึ่งชอบใช้คำนี้เพราะรู้เรื่องกันเอง จะใช้คำว่าการเจริญ
          + เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
          + การเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
          + การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ได้

          การดูจิตนั้น แม้จะเริ่มจากการรู้นามธรรมก็จริง แต่เมื่อลงมือทำไปสักระยะหนึ่ง ก็จะสมารถเจริญสติปัฏฐานได้ทั้ง ๔ อย่าง โดยจิตจะมีสติสัมปชัญญะต่อเนื่องอยู่ในชีวิตประจำวันนี่เอง เพียงก้าวเดินก้าวเดียว ก็เกิดการเจริญสติปัฏฐานได้ตั้งหลายอย่างแล้ว

          คือเมื่อเท้ากระทบพื้น ก็จะรู้รูป ได้แก่ ธาตุดินคือความแข็งภายในกาย (รูปภายใน) และธาตุดินคือความแข็งของพื้นที่เท้าเหยียบลงไป (รูปภายนอก) อันนี้ก็คือการเจริญ กายานุปัสนาสติปัฏฐาน แล้ว และรู้ถึงความเย็น ความร้อนคือธาตุไฟของพื้นที่เท้าเหยียบลงไป เป็นต้น

          ขณะที่เหยียบพื้นนั้น ถ้าสติรู้เข้าไปที่ความรู้สึกอันเกิดจากการที่เท้ากระทบพื้น เช่น ความเจ็บเท้า ความสบายเท้า ก็คือการเจริญ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้ว

          ขณะที่เหยียบพื้นนั้น ถ้าพื้นขรุขระ เจ็บเท้า ก็สังเกตเห็นความขัดใจ ไม่ชอบใจ หรือถ้าเหยียบไปบนพรมนุ่มๆ สบายๆ เท้า ก็สังเกตเห็นความพอใจ อันนี้ก็เป็นการเจริญ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้ว

          ขณะที่เหยียบนั้น ถ้ารู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ ก็จะเห็นกายเป็นส่วนหนึ่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นแต่ละส่วน ๆ หรือรู้ถึงความทะยานอยากของจิตที่ส่งหลงเข้าไปที่เท้า หรือรู้อาการส่งส่ายของจิต ตามแรงพลักของตัณหาคือความอยาก แล้วหนีไปเที่ยวทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือรู้ถึงความเป็นตัวกูของกูที่เกิดขึ้นในจิต หรือรู้ถึงนิวรณ์ที่กำลังปรากฎขึ้น แต่ยังไม่พัฒนาไปเป็นกิเลสเข้ามาครอบงำจิต หรือรู้ชัดถึงความมีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียร มีปิติ มีความสงบระงับ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้งสิ้น

          การดูจิต ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดเสมอไป เพราะในความเป็นจริง ไม่มีวิธีการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดในโลก มีแต่ "วิธีปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด" เฉพาะของแต่ละบุคคลเท่านั้น

          ดังนั้น ถ้าถนัดจะเจริญสติปัฏฐาน อย่างใดก่อน ก็ทำไปเถิดครับ ถ้าทำถูกแล้ว ในที่สุดก็จะทำสติปัฏฐานหมวดอื่นๆ ได้ด้วย

ที่มา : หนังสือดูจิตปีแรก (หน้า 27-38) สันตินันท์ (หลวงพ่อปราโมทย์)