Recent Posts

อย่าเชื่อ..ถ้ายังไม่ได้พิสูจน์ !


ทำความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติ

          ให้เราเข้าใจในการปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่นพระพุทธเจ้าของเราทั้งปฏิปทาก็ตาม ทั้งอุบายแนะนำพร่ำสอนสาวกทั้งหลายก็ตาม ให้เอาตัวอย่างพระพุทธเจ้า ท่านสอนข้อปฏิบัติเป็นอุบายให้เราละถอนทิฏฐิมานะ ไม่ใช่ว่า ท่านปฏิบัติให้

          เมื่อเลิกจากการฟังแล้วเราต้องมาสอนตัวเอง มาปฏิบัติตัวเอง ผลมันเกิดขึ้นตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นตรงที่ท่านสอน ที่ท่านสอนเรานั้นเราเพียงแต่เข้าใจ แต่ว่าธรรมะนั้นยังไม่มีในใจ เพราะอะไร เพราะเรายังไม่ได้ปฏิบัติ คือยังไม่ได้สั่งสอนตัวเรา

          พูดตรงๆแล้วก็คือ ธรรมะนี้เกิดที่การกระทำ จะรู้ก็อยู่ตรงที่การกระทำจะสงสัยก็อยู่ตรงที่การกระทำ ธรรมที่เราฟังจากครูบาอาจารย์ก็จริงอยู่ แต่ว่าการฟังนั้นไม่สามารถที่จะให้เราบรรลุธรรมะได้ เป็นแต่เหตุให้รู้จักการปฏิบัติให้บรรลุธรรม การจะให้เราบรรลุธรรมนั้นเราก็ต้องเอาคำสอนของท่านมาทำขึ้นในใจของเรา ส่วนที่เป็นทางกายก็เอาให้กาย ส่วนที่เป็นทางวาจาก็เอาให้วาจา  ส่วนที่เป็นทางใจก็เอาให้ใจปฏิบัติ หมายความว่าท่านสอนเราแล้วเราก็กลับมาสอนตัวเราอีก ให้เป็นธรรมะ ให้รู้ธรรมตามทำนองนั้น

อย่าเชื่อผู้อื่นโดยปราศจากการพิจารณา

          บุคคลที่เชื่อคนอื่น พระพุทธเจ้าของเราไม่ตรัสสรรเสริญว่าบุคคลนั้นเป็นปราชญ์ คนที่เป็นปราชญ์นั้น ก็คือ คนที่ปฏิบัติธรรมะให้เป็นธรรมะ จนเชื่อตัวของตัว ไม่ต้องเชื่อคนอื่น

          ในคราวหนึ่งครั้งพุทธกาล พระสารีบุตรและสาวกหลายรูปนั่งฟังธรรมด้วยความเคารพต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ท่านก็อธิบายธรรมะให้ความเข้าใจไป แล้วที่สุดท่านก็ย้อนถามพระสารีบุตรว่า

“ท่านสารีบุตรเชื่อแล้วหรือยัง”
พระสารีบุตรตอบว่า “ข้าพระองค์ยังไม่เชื่อ

          นี่เป็นตัวอย่าง แต่ว่าท่านรับฟัง คำที่ว่าท่านยังไม่เชื่อนั้น มิใช่ว่าท่านประมาท ท่านพูดความจริงออกมา ท่านรับฟังเฉยๆ คือปัญญายังไม่เกิด ท่านจึงตอบพระพุทธองค์ว่ายังไม่เชื่อ ก็เพราะว่ายังไม่เชื่อจริงๆ คำพูดนี้คล้ายๆกับประมาท แต่ความจริงท่านมิได้ประมาทเลยท่านพูดตามความจริงใจว่าท่านยังไม่เชื่อ พระพุทธองค์ก็ทรงสรรเสริญ

“เออ สารีบุตรดีแล้ว นักปราชญ์ไม่ควรเชื่อง่ายๆ ควรไตร่ตรองพิจารณาแล้วจึงเชื่อ”

ลักษณะของการเชื่อตนเอง  คำที่ว่าเชื่อตนเองนั้นก็มีหลายอย่างมีหลายลักษณะ

          - ลักษณะอันหนึ่งมีเหตุผลที่ถูกต้องตามสัจจธรรมแล้ว
          - ลักษณะอีกอันหนึ่งมีเหตุผลที่ไม่ถูกต้องตามสัจจธรรม ลักษณะอันนี้ประมาท เลยเป็นความเข้าใจที่ประมาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เชื่อใคร

ยกตัวอย่างเช่น ทีฆนขะพราหมณ์ พราหมณ์คนนี้เชื่อตนเองมาก ไม่เชื่อคนอื่น เมื่อพระพุทธเจ้ากับพระสารีบุตรลงมาจากดอยคิชฌกูฏนั่งพักอยู่ ทีฆนขะพราหมณ์ก็เข้าไปเรียนถามพระพุทธเจ้า ให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ฟัง หรือจะว่าไปแสดงธรรมให้พระพุทธเจ้าฟังก็ได้ คือไปอวดรู้อวดความเห็นของตัวเอง

“ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าทุกอย่างไม่ควรแก่ข้าพเจ้า”

ความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ฟังทิฏฐิของทีฆนขะพราหมณ์อยู่ ท่านก็เลยตอบว่า

“พราหมณ์ ความเห็นอย่างนี้ก็ไม่ควรแก่พราหมณ์เหมือนกัน”

พอพระพุทธเจ้าตอบสวนมา พราหมณ์ก็สะดุดใจ ไม่รู้ว่าจะพูดอะไร พระพุทธเจ้าจึงยกอุบายหลายอย่างขึ้นให้พราหมณ์เข้าใจพราหมณ์ก็เลยหยุดพิจารณา จึงได้เข้าใจว่า

“เออ…ความเห็นของเรานี้มันไม่ถูก”

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบปัญหาเช่นนั้น พราหมณ์ก็ลดทิฏฐิมานะลง พิจารณาเดี๋ยวนั้น เห็นเดี๋ยวนั้น พลิกเดี๋ยวนั้นเลย เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือในเวลานั้น ได้สรรเสริญธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า

“เมื่อได้รับธรรมะของพระผู้มีพระภาคแล้วจิตใจของข้าพระองค์มีความแจ่มแจ้งใสสว่างเหมือนอยู่ในที่มืด มีคนมาทำไฟให้สว่างฉันนั้น หรือเหมือนกะละมังที่มันคว่ำอยู่ มีคนมาช่วยหงายกะละมังขึ้นหรือเปรียบประหนึ่งว่าหลงทาง ไม่รู้จักทาง ก็มีคนมาชี้ทางให้ฉันนั้น”

เมื่อความเห็นผิดหายไป ความเห็นถูกก็เข้ามา

          อันนี้ความรู้ได้เกิดขึ้นที่จิตเดี๋ยวนั้น ที่จิตที่มันเปลี่ยนกลับเดี๋ยวนั้น ความเห็นผิดหายไป ความเห็นถูกก็เข้ามา ความมืดก็หายไปความสว่างก็เกิดขึ้นมาเดี๋ยวนั้น ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ทีฆนขะพราหมณ์นี้เป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม

          เพราะว่าในสมัยก่อนทีฆขนะพราหมณ์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงความเห็นของตัวเอง และไม่รู้สึกว่าจะพยายามเปลี่ยนแปลงความเห็นเช่นนั้นด้วย เมื่อได้รับธรรมะของพระพุทธเจ้า จิตของท่านก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของตนนั้นผิดไป เมื่อความรู้ที่ถูกเกิดขึ้น ก็เห็นความรู้ที่มีก่อนนั้นว่ามันผิด ท่านจึงเปรียบเทียบอยู่ในที่มืด มีคนมาทำไฟให้สว่าง อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ในเวลานั้น ทีฆนขะพราหมณ์ก็หลุดไปจากมิจฉาทิฏฐิที่ยึดถือไว้เช่นนั้น

หลวงพ่อชา สุภัทโท