Recent Posts

ฝึกสติ ตามลำดับ 4 ขั้นตอน


          คนใหม่ ๆ ก็ว่าไปทีละขั้นตอนก่อนก็ได้ ต่อเมื่อเราฝึกรู้จักสภาวะทางกายทางจิตทั่วถึง วางใจเป็นกลาง มันก็จะมีความสามารถ มันก็จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น บางครั้งก็เลยต้องให้มีวางขั้นตอนไว้ เราจะปฏิบัติตามไปทีละขั้นตอน ค่อย ๆ เป็นไปก็ได้

          1. ขั้นตอนที่หนึ่ง ก็เพ่งบัญญัติไปก่อน ระลึกลมหายใจเข้า ระลึกลมหายใจออก หรือจะมีคำบริกรรมก็แล้วแต่ เดินก็กำหนดรู้ขวาซ้าย ยกย่างเหยียบ หรือจะมีคำบริกรรมกำกับไปด้วยก็ได้อย่างนี้คือใช้บัญญัติไปก่อน

          2. เราฝึกต่อ ๆ ไป ก็ไปเริ่มขั้นที่สอง ก็ไประลึกรู้ปรมัตถ์ ดูปรมัตถ์โดยเจาะจงไปก่อน คือดูเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย เช่น เคยกำหนดเท้าก้าวไปขวาซ้าย ยกย่างเหยียบ ก็เริ่มสังเกตความรู้สึก เวลายกเท้า เวลาก้าว เวลาเหยียบ มันจะมีความรู้สึก ความตึง ความหย่อน ความแข็ง อ่อน เย็น ร้อน มันเป็นรู้ปรมัตถ์ แต่ปรมัตถ์เฉพาะส่วนกายส่วนใดส่วนหนึ่ง

          หรือเวลานั่ง ขั้นที่ ๑ ดูลมหายใจเข้าออก ต่อๆ มาก็ระลึกความรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก หายใจออกรู้สึก มีตึง มีหย่อน มีไหว มีสบาย ไม่สบาย ความรู้สึกมันเป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวะ แต่ว่าอย่าไปจดจ้องเฉพาะทรวงอก เฉพาะโพรงจมูก เฉพาะหน้าท้อง

          แต่เมื่อฝึกต่อๆ ไปก็พัฒนาการระลึกรู้ความรู้สึก หรือปรมัตถธรรม ให้กระจายไปทั่ว ๆ กาย ไม่ยึดที่เดียว แม้เวลาเดินก็สามารถจะระลึกรู้ความรู้สึก จะเป็นที่โคนขา เป็นที่ลำตัว เป็นที่แขน เป็นที่ศีรษะ รู้ไปได้ทั้งตัว ความเคลื่อนไหว ความตึง ความหย่อน ความไหว มีอยู่ทั่ว ๆ กาย เวลานั่งก็ระลึกรู้ไปทั่วกายได้ ความรู้สึกมีอยู่ มีตึง บางส่วนก็ตึง บางส่วนแข็ง ไหว เย็น ร้อน ตึง หย่อน ไหว สบาย ไม่สบาย ไม่ว่าจะที่ศีรษะ ใบหน้า ลำตัว แขน ขา ในท้อง ในทรวงอก ที่ขา ที่ฝ่าเท้า รู้สึกหมด รู้ปรมัตถ์ทั่วไป

          3. เมื่อฝึกระลึกรู้ทางกายได้ทั่ว ต่อไปก็รู้เพิ่มมาถึงจิตใจ แทนที่จะรู้แต่ความรู้สึกทางกาย รู้ใจเพิ่มเข้าไปด้วย รู้ใจที่คิด รู้ใจที่รู้สึก รู้ใจที่เป็นสภาพรู้ รู้กายรู้ใจในความรู้สึก แม้เวลาเดิน เดินก็รู้ทั้งความรู้สึกทางกายทางใจได้ เวลานั่งก็รู้ทั้งกายทั้งใจ เวลาจะคู้ เหยียด เคลื่อนไหว ก็รู้ความรู้สึก ยกแขน งอแขน เหยียดขา ก้ม เงย เหลียวซ้ายแลขวา เคี้ยวอาหาร กลืนน้ำลาย ล้างหน้า แปรงฟัน ระลึกไปถึงความรู้สึกต่าง ๆ รู้ไปทั่วทั้งกายทั้งใจ

          4. เมื่อรู้ได้ทั่วถึงทั้งกายทั้งใจก็ฝึกปล่อยวาง ฝึกการวางเฉย ฝึกการไม่จดจ้อง ไม่เพ่งเล็งติดตาม ไม่จงใจในการกำหนดอารมณ์ วางใจนิ่ง ๆ หยุดใจเฉย ๆ มันก็มีสภาวะมาให้รู้ ถึงไม่ตั้งใจจะกำหนด มันก็มาปรากฏให้รู้

          (สรุป) ถ้าเราฝึกมาเยอะ ๆ แล้ว อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติ ค่อย ๆ เป็นมาโดยตามขั้นตอนจาก

          (1.) ขั้นที่ ๑ กำหนดบัญญัติไปก่อน พอสักระยะหนึ่ง จะกี่วันก็แล้วแต่
          (2.) ปรับมาดูความรู้สึก ดูความรู้สึกบางส่วนที่เป็นปรมัตถ์ ต่อไปรู้ปรมัตถ์ทั่วไปทางกาย
          (3.) ต่อไปทางใจ
          (4.) ต่อไปก็ฝึกปล่อยวาง

          มันก็จะไปได้ แต่บางคนสติปัญญาดีก็ pass (ข้าม)ไปเลย เริ่มปฏิบัติก็ไม่ดูแล้วบัญญัติ รู้ปรมัตถ์เลย รู้สภาวะทั่วไปเลยทางกายทางใจ ฝึกระหว่างรู้ปรมัตถ์ทั่วไปกับปล่อยวาง ระดับที่ ๓ ที่ ๔ ไปเลย ถ้าได้ก็ได้

หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี