Recent Posts

นิพพิทา...ความเบื่อหน่ายเป็นยังไง


        นิพพิทา หมายถึง ความหน่ายที่เกิดขึ้นจากปัญญาพิจารณาเห็นความจริง จึงมีความเบื่อหน่ายในกองทุกข์,  ความหน่ายจากการไปรู้เห็นความจริงในการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ หรือความเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิดในกองทุกข์ ที่ไม่รู้วันจบ,ไม่รู้วันสิ้น  จึงเป็นความหน่ายที่ประกอบด้วยปัญญา  จึงย่อมแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับความเบื่อหน่ายโดยทั่วๆไปหรือในทางโลกหรืออย่างโลกิยะ ที่ย่อมประกอบด้วยตัณหา

        ดังในพจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่านพระเดชพระคุณเจ้า พระพรหมคุณาภรณ์ (พระธรรมปิฎก) ได้แสดงถึงความเบื่อหน่ายในทางโลกหรือโลกิยะไว้ดังนี้ว่า "ถ้าหญิงชายอยู่กินกันเกิดหน่ายกัน เพราะความประพฤติไม่ดีต่อกัน  หรือหน่ายในมรรยาทของกันและกัน อย่างนี้ไม่จัดเป็นนิพพิทา"


        ดังนั้น ความเบื่อหน่ายในทางโลก จึงมีความหมายถึง ความเบื่อหน่ายหรือหน่ายกัน เหตุพราะมีกิเลสตัณหามาพัวพัน  อย่างเช่น หญิงชายเกิดหน่ายกันดังข้างต้น ก็เกิดมาแต่มีกิเลสตัณหาอื่นๆเข้ามาแทรกนั่นเอง ไม่ได้เกิดแต่ปัญญาไปเห็นความจริง ดังเช่น เกิดการหน่ายขึ้นเพราะไปมีคนรักใหม่ หรือมีตัณหาหรือกิเลสใดๆขึ้น เช่น ไม่ชอบไม่อยากให้คู่หรือคนรักของตนเป็นอย่างนั้น,เป็นอย่างนี้  หรืออยากให้เป็นดังนั้น,เป็นดังนี้  เมื่อไม่เป็นไปตามปรารถนา(ตัณหา)ก็เกิดความเบื่อความหน่ายกันขึ้น,  หรือดังได้รถใหม่ แล้วเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นในภายหลัง เนื่องจากมันเก่ามันเสียมันรวนอยู่เสมอๆจึงเกิดกิเลสความขุ่นมัว จึงเกิดตัณหาอยากได้คันใหม่ จึงเบื่อหน่ายในรถคันเดิม,  หรืออาจเกิดจากตัณหาอยากได้รุ่นใหม่ที่ดีกว่า สวยกว่า จึงเบื่อหน่ายในรถคันเก่า,  หรือความเบื่อหน่ายเพราะไม่อยากรอคอย ฯลฯ. อย่างนี้เป็นต้น  ล้วนเป็นความเบื่อหน่ายในทางโลกๆ ที่มีพื้นฐานหรือเชื้อไฟอันมาแต่กิเลสตัณหา   จึงย่อมไม่ใช่นิพพิทา ความหน่ายอันเกิดจากปัญญาไปเห็นความจริงอย่างปรมัตถ์

        นิพพิทาญาณ  ญาณ แปลว่า ความรู้ ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง,  นิพพิทาญาณ จึงหมายถึง ความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งที่ทำให้เบื่อหน่ายในสังสารวัฏหรือกองทุกข์,  ความปรีชาหยั่งเห็นสังขารตามความจริง จึงเกิดความหน่ายในสังขารทั้งปวงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา,  ปรีชาคำนึงถึงสังขารด้วยความหน่าย เพราะมีแต่ทุกข์และโทษมากมาย  แต่ไม่ใช่การทำลายตนเองเพราะเบื่อสังขารด้วยตัณหา,  นิพพิทาญาณจัดเป็นหนึ่งในญาณ ๑๖ หรือโสฬสญาณ

        ส่วน นิพพิทานุปัสสนาญาณ เป็นการจำแนกแบบวิปัสสนาญาณ ๙ หมายถึง ความปรีชาคำนึงถึงสังขารด้วยความหน่าย เพราะมีแต่โทษมากมาย  หรือก็คือนิพพิทาญาณดังกล่าวข้างต้นนั่นเองเพียงแต่จำแนกแตกธรรมในแบบญาณ ๑๖ หรือโสฬสญาณเท่านั้นเอง

        อนึ่งพึงระลึกรู้ด้วยว่า การปฏิบัติทุกรูปแบบ ในที่สุดเมื่อเกิดความรู้ความเข้าใจใดๆ หรือธรรมสามัคคีใดๆอันย่อมเบิกบานเป็นผู้รู้ผู้ตื่น  แต่ในที่สุดแล้วต้องประกอบด้วยนิพพิทาในธรรมหรือสิ่งต่างๆ

        นิพพิทา จึงมีความหมายว่า ความหน่ายที่เกิดขึ้นมาจากการมีปัญญาไปรู้ไปเข้าใจตามความเป็นจริงในสิ่งต่างๆ(ธรรม)ตามความจริงอย่างปรมัตถ์  เช่น  เกิดนิพพิทาจาก

        ปัญญาหรือปรีชาไปเห็นเข้าใจในการเวียนว่ายตายเกิดในกองทุกข์หรือสังสารวัฏ ในปฏิจจสมุปบาทธรรม จึงเกิดความหน่าย จึงเกิดการวางใจเป็นกลาง(อุเบกขา)ต่อสังขารปรุงแต่ง หรือ

        ปัญญาไปเห็นเข้าใจในอนิจจัง ความไม่เที่ยง ของสังขารทั้งหลายทั้งปวง จึงเกิดความหน่าย จนเกิดการวางใจเป็นกลาง(อุเบกขา)ต่อสังขารปรุงแต่งทั้งปวง  หรือ

        ปัญญาไปเห็นเข้าใจในทุกขัง ความคงทนอยู่ไม่ได้ จึงต้องดับไปของสังขารทั้งหลายทั้งปวง จึงเกิดความหน่าย จนเกิดการวางใจเป็นกลาง(อุเบกขา)ต่อสังขารทั้งปวง  หรือ

        ปัญญาไปเห็นเข้าใจในอนัตตา ว่าล้วนไม่มีตัวตนเป็นแก่นสาร ของสังขารทั้งหลายทั้งปวง จึงเกิดความหน่าย จนเกิดการวางใจเป็นกลาง(อุเบกขา)ต่อสังขาร  หรือ

        ปัญญาการไปเห็นเข้าใจในสังขารสิ่งปรุงแต่ง ล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย จึงล้วนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงเกิดความหน่าย จนเกิดการวางใจเป็นกลาง(อุเบกขา)ต่อสังขาร หรือ

        ปัญญาไปเห็นเข้าใจในทุกขอริยสัจ  ว่าล้วนหนีไม่พ้น  ช่างล้วนเป็นทุกข์ จนเกิดความหน่าย จึงเกิดการวางใจเป็นกลาง(อุเบกขา)ต่อสังขาร  ฯลฯ.

        เมื่อเห็นเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในธรรมต่างๆเหล่าใดเหล่านั้น  อันเป็นธรรมใดก็ได้ ตามจริต สติ สมาธิ ปัญญา ตลอดจนแนวทางของการศึกษาปฏิบัติ  อันเมื่อถูกต้อง ย่อมล้วนทำให้เกิดความหน่าย เมื่อหน่าย จึงย่อมคลายความอยากหรือความกำหนัดในสิ่งต่างๆหรือสังขารทั้งปวงลงไป เป็นของคู่กัน เป็นปฏิจจสมุปบันธรรม  หรือเพื่อให้เกิดนิพพิทาในเรื่องนั้นๆตามจริตของนักปฏิบัติเองเป็นสำคัญก็ได้ ดังเช่น

        อสุภกรรมฐาน ก็เป็นการเอาอสุภมาเป็นกสิณ(อสุภนิมิต) ในการพิจารณาร่างกายว่าล้วนแต่เป็นอสุภ เน่าเสีย หรือปฏิกูลเหมือนกันล้วนสิ้น  ก็เพื่อจุดประสงค์ให้เห็นในความจริงของร่างกายตัวตนว่า ล้วนเป็นเช่นนี้เอง  ที่สวยงาม ที่ถูกใจนั้น ล้วนไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ และเป็นอนัตตา จึงย่อมเกิดอุปาทานทุกข์ขึ้น ถ้าไปอยากด้วยตัณหาหรือไปยึดด้วยอุปาทานว่าเป็นของตัวของตน  ก็เพื่อให้เกิดปัญญาเข้าใจยิ่งในสังขารร่างกายตามความเป็นจริงอย่างลึกซึ้ง อย่างจดจำ จนเกิดนิพพิทาความหน่ายในสังขารร่างกายอันเน่าเฟะที่เพียรเพ่งหรือนิมิตขึ้น  จึงย่อมคลายความอยาก คลายตัณหาความกำหนัดในสังขารร่างกายอันสวยงามต่างๆลงไปทั้งในของตนเองและบุคคลอื่นลงไป หรือคลายราคะจริตในเรื่องเพศลงไปโดยตรงๆนั่นเอง

        เมื่อหน่าย  ย่อมเป็นไปตามปฏิจจสมุปบันธรรมกล่าวคือย่อมคลายความอยากหรือความกำหนัดอันคือดับตัณหาเสียนั่นเอง...จึงย่อมคลายความยึดมั่นในกิเลสหรือในความพึงพอใจของตัวตนอันเป็นอุปาทานตามมาโดยธรรม  กล่าวคือ นิพพิทาเป็นปฏิปักษ์หรือธรรมคู่ปรับกันโดยธรรมหรือธรรมชาติกับตัณหาโดยตรงนั่นเอง,  จึงย่อมดำเนินและเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายดับทุกข์หรือฝ่ายนิโรธวาร กล่าวคือ เมื่อตัณหาดับ  อุปาทานดับ   ภพดับ   ชาติดับ   ชรา-มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส  ล้วนย่อมดับไปตามธรรมคือสภาวธรรม จึงเป็นการดับไปของกองทุกข์

        ความหน่ายหรือความเบื่อหน่ายที่เกิดแต่นิพพิทาญาณนี้  จึงมีความแตกต่างกันอย่างยิ่งกับความหน่าย ความเบื่อ หรือความเบื่อหน่ายอันเกิดแต่กิเลสหรือตัณหาหรือวิภวตัณหาก็ตามที  ความหน่ายจากการรู้ความจริงหรือนิพพิทาจึงคลายกำหนัดหรือตัณหานั้นเป็นความหน่าย ที่เบาโล่งสบาย เพราะขาดด้วยกิเลสตัณหาอันเร่าร้อนนั่นเอง  ส่วนความเบื่อหน่ายโดยทั่วไปหรือทางโลกนั้นเป็นความเบื่อหน่ายที่เร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย จึงไร้สุขหรือยังความหดหู่มาให้ก็เนื่องจากกิเลสหรือตัณหาต่างๆที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆนั่นเอง กล่าวคือเกิดภวตัณหาหรือวิภวตัณหาเข้าแทรกแซงปรุงแต่งนั่นเอง เมื่อไม่ได้ตามตัณหาก็เกิดเป็นอุปาทานทุกข์  เป็นการดำเนินและเป็นไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร หรือฝ่ายเป็นทุกข์นั่นเอง

        นิพพิทาญาณ จัดเป็นเครื่องวัดในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดีว่า ดำเนินมาอย่างถูกต้องหรือไม่? กล่าวคือ ถ้าปฏิบัติแล้วเกิดนิพพิทาหรือนิพพิทาญาณก็เป็นเครื่องชี้นำได้อย่างดีว่าได้ปฏิบัติมาอย่างถูกต้องแนวทางดีแล้ว   แต่ถ้าปฎิบัติแล้วมีความรู้สึกอวดดี อวดเก่ง อวดรู้ อวดกล้า มีฤทธิ์มีเดช มีอำนาจ ถือดี วางตัวเป็นผู้รู้ เยี่ยงนี้แล้วให้โยนิโสมนสิการในข้อปฏิบัติของตนให้ดีว่า ได้ปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดผิดพลาดไปเสียแล้วอย่างแน่นอนเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวิปัสสนูปกิเลสอันเกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติเป็นธรรมดา จึงเนื่องด้วยวิปัสสนูปกิเลสแบบใดเป็นสำคัญเท่านั้นเอง แล้วแก้ไขเสีย กล่าวคือ วางฌานสมาธิลงเสีย แล้วเจริญแต่วิปัสสนาเป็นสำคัญ

        ด้วยเหตุดังกล่าวเหล่านี้  นิพพิทาญาณ จึงจัดเป็น หนึ่งในญาณหรือความรู้ยิ่งในการปฏิบัติวิปัสสนา คือ นิพพิทานุปัสสนาญาณ ในวิปัสสนาญาณ ๙  เป็นญาณอันสำคัญยิ่งที่ต้องเจริญหรือภาวนาให้เกิดขึ้น(ภาวนาปธาน)ให้ได้ในที่สุด มิฉะนั้นก็กล่าวได้ว่าการปฏิบัติที่ผ่านมานั้นยังเป็นไปอย่างไม่ถูกต้องแนวทาง เพราะเป็นญาณหรือความปรีชาที่เป็นปฏิปักษ์โดยตรงต่อตัณหา  อันเป็นสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งถ้ากล่าวอย่างปรมัตถ์แล้ว สมุทัยก็คือเหตุแห่งอุปาทานทุกข์นั่นเอง

        อนึ่งพึงพิจารณาโดยแยบคายด้วยว่า นิพพิทาญาณเป็นวิปัสสนาญาณที่เป็นไปทางปัญญา เพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสอย่างถาวร   ส่วนฌานสมาธิที่เมื่อปฏิบัติแต่ฝ่ายเดียวไม่เน้นการวิปัสสนาอย่างจริงจังนั้น แม้จะยังให้เกิดความสุข,สงบ,สบาย ที่แลดูหรือรู้สึกราวกับว่าเป็นสุขกว่านิพพิทานั้น  แต่ตามความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม ฌานสมาธิแม้จะเกิดความสุขความสงบความสบายอันเกิดแต่การระงับไปของกิเลสในนิวรณ์ทั้ง ๕ แต่ก็จะเกิดมานะทิฏฐิสูง มีความอวดเก่ง ความอวดกล้าจนบางครั้งก้าวร้าวอยู่ในจิตเป็นเครื่องแทรกอยู่เสมอๆ และยังเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่สุดในการเกิดวิปัสนูปกิเลส จากการติดเพลินหรือเพลิดเพลินในองค์ฌานหรือสมาธิโดยไม่รู้ตัวที่เรียกทั่วไปว่าติดสุข ซึ่งมีอาการของจิตส่งในเป็นเครื่องเคียงหรือเครื่องร่วมเสมอๆ  อันจักยังให้โทษทั้งต่อธาตุขันธ์และจิตขันธ์ในที่สุด และยังไม่เป็นการดับทุกข์ไปอย่างถาวร  พระองค์ท่านจัดเป็นความสุขอันเกิดแต่ฌานหรือสมาธิว่าเป็นแบบโลกิยวิมุตติหรือวิกขัมภนวิมุตติที่ยังไม่เที่ยง สามารถกลับกลายหายสูญได้  ดังนั้นเมื่อปฏิบัติฌานสมาธิแล้วต้องดำเนินการเจริญวิปัสสนากำกับด้วยทุกครั้งทุกทีไป กล่าวคือนำความสุขสงบสบายอันเป็นเครื่องอยู่เป็นกำลังสำคัญของจิตไปเป็นเครื่องหนุนการเจริญวิปัสสนาเสียนั่นเอง เพื่อให้เกิดปัญญาวิมุตติจึงทำให้ไม่กลับกลายหายสูญ

         ส่วนนิพพิทา ความหน่ายที่ฟังจากชื่อแล้ว ชวนทำให้เข้าใจผิดไปว่า เมื่อเป็นความหน่ายจึงเป็นความทุกข์นั้น  แต่ตามความจริงกลับยังให้เกิดความสุขอันยิ่งตามมา เพราะเป็นเพียงการหน่ายในอารมณ์ที่ผัสสะเนื่องจากปัญญาหรือปรีชารู้ความจริง  ดังนั้นเมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัดหรือความอยากหรือตัณหานั่นเอง  และเมื่อคลายกำหนัดจึงไม่เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทานขึ้นนั่นเอง อันเป็นการดำเนินไปตามปฏิจจสมุปบันธรรมตามวงจรปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวารหรือฝ่ายดับทุกข์นั่นเอง   เมื่อไม่เร่าร้อนเผาลนกระวนกระวาย จึงเป็นสุขอันยิ่ง และเป็นสุข ชนิด สะอาด สงบ และบริสุทธ์ อย่างแท้จริง

ที่มา : http://nkgen.com/781.htm