Recent Posts

รู้จักธาตุ 4 ขันธ์ 5

แนวทาง และวิธีปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องโดยสังเขป

          หัวใจของการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์นั้น ต้องทำความเข้าใจวิธีปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าไม่รู้วิธีและแนวทาง ก็จะทำให้เสียเวลา ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง หรือไม่ประสบความสำเร็จ กว่าจะลองผิดลองถูก กว่าจะเข้าใจ ก็อาจเสียเวลาไปนาน

          สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าท่านยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ทรงเน้นสอนและแสดงโทษของการยึดมั่นอยู่ในอุปาทาน “ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์” พระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อการตรัสรู้ เพื่อเข้าสู่มรรคผลนิพพาน คือพระองค์จะทรงหยิบยกและแสดงธรรมในเรื่อง “อริยสัจ ๔” เป็นส่วนมาก และในการแสดงธรรม “อริยสัจ ๔” แต่ละครั้งนั้นจะมีทั้งอุบาสก อุบาสิกา พระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณี ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นจำนวนมาก

          ในอริยสัจ ๔ พระองค์จะทรงเน้นแสดง “ตัวสมุทัย” คือเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ “ตัณหา” ความอยากได้และความไม่อยากได้ในกองขันธ์ ๕ อันเป็นเหตุปัจจัยส่งผลให้เราเป็นสุข และเป็นทุกข์ เช่น เวลาขันธ์ ๕ เป็นสุข ก็ยึดไว้ เวลาขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ก็ผลักไส จึงเกิดความลำบากเพราะพยายามที่จะแก้ไข คืออยากวิ่งหนีทุกข์และอยากวิ่งหาสุข แต่โดยความเป็นจริงของสัตว์และมนุษย์ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มีแต่กองแห่งทุกข์หาความสุขไม่เจอ เท่าที่สังเกตดูมีแต่ทุกข์น้อยกับทุกข์มาก เท่านั้นเอง

          ฉะนั้นจึง “มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป” รวมแล้วขณะที่ยังมีชีวิตคือมีขันธ์ ๕ อยู่ เราจะต้องอยู่กับกองแห่งทุกข์อยู่ตลอด มีวิธีเดียวที่จะไม่ทุกข์ คือไม่มาเกิดอีก เมื่อไม่มาเกิดอีกก็ไม่มีขันธ์ ถ้าไม่มีขันธ์ก็ไม่มีทุกข์ เพราะทุกข์มีที่ขันธ์ ไม่ใช่มีที่จิต

          แต่เหตุที่มาเกิดก็เพราะความหลงได้แก่ “อวิชชา” คือความไม่รู้ความจริง ไปยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตน จิตจึงเกาะติดขันธ์ ๕ ทำให้พาให้เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น และก็มาทุกข์เพราะขันธ์ ๕ “อยู่ทุกชาติไป” นี่คือเหตุให้เกิดทุกข์

          เราต้องมาทำลายเหตุของการเกิดก่อน คือทำลายความยึดมั่นถือมั่นในกองขันธ์ ๕ ให้ได้ และจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมาพิจารณากาย-ใจ คือขันธ์ ๕ นี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพื่อให้จิตเกิดความเบื่อหน่าย แล้วจิตจะได้ถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นในกายใจนี้เสียได้ จิตจะไม่หลงไปเกาะติดกับขันธ์ คือถอนตัวเป็นอิสระอยู่เหนือขันธ์ ทั้งที่มีความทุกข์ของขันธ์อยู่ “แต่จิตสบาย” ไม่ทุกข์ไปกับขันธ์ เพราะยอมรับความจริงว่าเกิดมามีขันธ์ก็ต้องทุกข์แบบนี้ “ไม่มีใครหนีพ้น”

          จงพิจารณาว่าก่อนที่เราจะเกิดมาเป็นมนุษย์ เราก็ไม่มีรูปกายนี้มาก่อน เมื่อเกิดมามี รูปกาย แล้วจึงมี เวทนา ความสุข ทุกข์ เฉยๆ ตามมา จึงมี สัญญา ความจำได้หมายรู้ตามมา จึงมี สังขาร ความคิดปรุงแต่งตามมา จึงมี วิญญาณ ความรับรู้ รับทราบตามมา เมื่อรูปกายนี้ดับ เวทนาก็ดับ สัญญาก็ดับ สังขารก็ดับ วิญญาณก็ดับ จึงไม่เหลือความเป็นเราอยู่ตรงไหนอีกเลย นี่แหละที่เราหลงกัน จึงเรียกว่า หลงสมมุติ หลงของ ชั่วคราว ทั้งที่ยึดเอาไว้ ก็ยึดไม่ได้ แก้ไขก็ไม่ได้ แล้วแต่เขาจะเป็นไป และท้ายที่สุดก็ดับสลาย ตายจากไปไม่มีเหลือ และขณะอยู่ก็เป็นทุกข์ด้วย ทุกข์ตลอดเวลาที่เราอาศัยเขาอยู่

          เมื่อเรามาพิจารณาในกายใจโดยความเป็นทุกข์ และเป็นธรรมชาติของเขา ว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์อันหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปตามสภาวะของเขา โดยไม่มีใครไปบังคับบัญชาเขาได้ แม้แต่เราผู้ที่ไปรู้สมมุตินี้ ก็เกิดมาจากธรรมชาติเช่นกัน หาได้เป็นตัวเป็นตนไม่ เมื่อเรามาพิจารณา กาย กับ ใจ ว่าเป็นธรรมชาติที่เกิดดับ หาความเป็นตัวเป็นตนไม่ได้ จิตก็จะปล่อยวางรูปขันธ์และนามขันธ์เสียได้ จึงต้องทำบ่อยๆ พิจารณาขันธ์ ๕ และการทำงานของขันธ์ ๕ โดยแยกให้เห็นหน้าที่แต่ละตัวและอาการต่างๆ ของเขาจนชัดเจน มองหาและสังเกตอยู่ตลอดเวลา เท่าที่มีเวลา โดยไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิเสมอไป ทำได้ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง นอน เพราะการที่เรากำหนดดูอยู่ที่กาย ก็เป็นสมาธิอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายเอาความสงบ เพราะความสงบตรัสรู้ไม่ได้ เพราะขณะที่มีความสงบ ตัวสังขารจะไม่ทำงาน เมื่อสังขารไม่ทำงานจะเกิดปัญญาไม่ได้ ต้องอาศัยการคิดค้นจึงจะรู้ความจริง เมื่อเข้าใจความจริงแล้ว จึงปล่อยวางตัวสังขารอีกที เพราะคิดค้นจึงรู้ เมื่อรู้แล้วจึงปล่อยวางความคิดไป เพราะความคิดก็เป็นเพียง สังขารขันธ์ เป็นของสมมุติเป็นของไม่เที่ยงเช่นกัน

          ทำและพิจารณาอย่างนี้ไปนานๆ ก็จะเกิดความชำนาญขึ้นเอง เมื่อชัดเจนขึ้น จิตจะยอมรับเอง และจะปล่อยวางในที่สุด ถ้ายังไม่ปล่อยวางก็ทำต่อไป จนเข้าไปเห็นความจริง แล้วจิตจะยอมรับ ทำซ้ำๆ โดยการหาเราในความเป็นรูป และหาเราในความเป็นนาม ว่ามีเราอยู่ตรงไหน ให้เน้นดูใน

          - ธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟลม ในกายนี้ว่ามีเราอยู่ตรงไหน ในเมื่อหาเราในธาตุทั้ง ๔ ที่กายว่าไม่มีเราแล้ว ก็ยก
          - นามทั้ง ๔ ขึ้นมาหาว่ามีเราอยู่ตรงไหนเมื่อนามทั้ง ๔ ไม่มีเราแล้ว ก็ย้อนกลับมาหาเราใน
          - ตัวผู้รู้ ว่ามีเราอยู่ตรงไหน ทั้งที่ตัวผู้รู้ก็เป็น วิญญาณขันธ์ นั่นเอง ก็ไม่เที่ยงเช่นกัน เมื่อเห็นอย่างนี้จะมีอะไรให้หลง เพราะทุกอย่างเป็นสมมุติของขันธ์ ๕ ทั้งหมดเลย จึงต้องวางทั้งหมด จะได้ชื่อว่าปล่อยวางสมมุติ เพื่อเข้าสู่ความเป็นวิมุตติ คือหลุดพ้นจากการยึดมั่นในสมมุติทั้งปวง...

มารู้จักธาตุ ๔ ขันธ์ ๕

          ในเบื้องต้นนั้นให้ทุกท่านจงมาเรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ กันให้มากๆ ก่อน เพื่อจะเข้าไปรู้ความจริงว่าที่แท้นั้น ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ที่มีอยู่ในกายใจเรานั้น เป็นเพียงแค่ธรรมชาติหนึ่งซึ่งเรามาอาศัย และธรรมชาติที่เรามาอาศัยนี้

          เขาอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งมีกฎธรรมชาติของเขา คือ อยู่ใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ และกฎแห่งไตรลักษณ์นี้ก็คือปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ซึ่งมีความเป็นปกติธรรมดา ธาตุทั้ง ๔ มีหน้าที่อะไร ขันธ์ทั้ง ๕ มีหน้าที่อะไร เราต้องแยกให้ออกระหว่างขันธ์ ๕ กับ จิต หรือระหว่างกาย ใจ และจิต กายส่วนหนึ่ง ใจส่วนหนึ่ง จิตส่วนหนึ่ง ต้องเข้าใจในคุณสมบัติในหน้าที่ของ กาย ใจ และจิต ด้วยการมาเรียนรู้ว่า

          - สภาวะของกาย คืออะไร
          - สภาวะของใจ คืออะไร
          - สภาวะของจิต คืออะไร

          การทำงานของร่างกายเขามีหน้าที่อย่างไร กายที่รวมตัวมาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เขาทำหน้าที่อย่างไร แล้วสภาวะของใจเขามีอาการอย่างไร มีสภาวะใดบ้าง เราต้องมาสังเกตและคอยแยกการทำงานของเขา โดยเข้าไปเรียนรู้การทำงานของเขา แยกให้ออกว่าอะไรคือกาย อะไรคือใจ และอะไรคือจิต 

          เมื่อเราเข้าใจว่า อะไรคือกาย อะไรคือใจ และอะไรคือจิตแล้ว หลังจากนั้นเรา ก็มาเฝ้าดูการทำงานของเขาในชีวิตประจำวัน ในระหว่างวันว่า เขาทำงานอย่างไร เราเฝ้าดู เฝ้ารู้ เฝ้าสังเกตการทำงานของธาตุ ๔ และในขณะที่เราเฝ้าสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของกายนั้น เราไม่ได้ดูเพียงแค่การเคลื่อนไหวของกายอย่างเดียว แต่ให้หมายว่าเป็นธาตุ ๔ กำลังเคลื่อนไหว นี่คือการเจริญมรรค ให้เราเจริญด้วยมรรค มรรคองค์ ๘ ย่อลงเหลือสาม คือ สติ สมาธิ ปัญญา ดังนั้นมรรคองค์ ๘ ที่เราจะใช้ต่อไปคือสาม องค์มรรคเป็นหลัก คือ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นการเจริญมรรค ด้วยการดูกายเคลื่อนไหวเท่าที่จะเป็นไปได้

ฝึกดูกาย

          การดูกายสามารถดูได้ทุกขณะ ทั้ง ยืน เดิน นั่ง นอน โดยดูได้ทั้งขณะที่หยุดนิ่งและเคลื่อนไหว ดูให้เห็นโดยความเป็นธาตุว่าเป็น ดิน น้ำ ไฟ ลม เช่น ขณะที่เคลื่อนไป ให้เห็นว่าไม่ใช่เพียงกายเท่านั้นที่เคลื่อนไหว แต่ให้เห็นว่านั่นคือธาตุ ๔ กำลังเคลื่อนไหว เหมือนเครื่องจักรกลกำลังทำงานอยู่

          ในขณะที่เราหายใจเข้าก็ให้รู้ว่าธาตุลมกำลังเคลื่อนเข้า เราหายใจออกก็ให้รู้ว่าธาตุลมกำลังเคลื่อนออก เห็นการทำงานของธาตุลม เหมือนลมที่พัดใบไม้ซึ่งเป็นธรรมชาติที่เขาพัดอยู่ตลอดเวลา เราก็ไม่ได้ให้ค่า ให้ความหมายของลมที่พัดผ่านไป เราดูลมหายใจเข้าไปในกาย และออกจากกายนั้นก็เป็นเพียงแค่ลมหนึ่งซึ่งพัดเข้ากาย พัดออกจากกาย เป็นแค่ธาตุลม ไม่ใช่ลมหายใจของเรา

          ขณะลมที่พัดเข้าสู่กายและลมพัดออกจากกายก็ไม่แตกต่างอะไรกับต้นไม้ใบไม้ ซึ่งถูกลมพัด กายของเราก็คือธาตุดิน ต้นไม้ใบไม้ก็คือธาตุดิน เวลาลมพัดใบไม้ หรือ ลมพัดเข้าสู่กาย ให้เรารู้ว่านั่นลมกำลังพัดดิน และกายเราไม่ได้มีแค่ธาตุดินเพียงอย่างเดียว แต่มีธาตุน้ำชุ่มฉ่ำอยู่ด้วย เวลาเรากลืนน้ำลาย เวลาน้ำเหงื่อไหลออก เวลาน้ำมูกไหล ให้รู้เถิดว่าขณะนั้นธาตุน้ำกำลังไหลซึมเข้าไหลซึมออก แม้เวลาเราดื่มน้ำเราก็จงรู้ว่านั่นเรากำลังเติมน้ำให้กับธาตุดิน

          เหมือนว่าเรากำลังรดน้ำให้กับต้นไม้ ต้นไม้จึงเจริญงอกงามได้ที่ร่างกายเราเจริญงอกงามได้ เพราะอาศัยน้ำที่คอยเติมให้กายอยู่ทุกวัน ไม่ต่างอะไรกับเวลาเราใส่ปุ๋ยให้กับต้นไม้ ต้นไม้จึงงอกมาได้เพราะเราใส่ปุ๋ย การที่เราเติมอาหารให้กับร่างกายจะเป็นพืชผักผลไม้หรือเนื้อสัตว์ต่างๆ นั่นก็คือเรากำลังเติมปุ๋ยให้กับธาตุดินคือกาย เราไม่ได้บริโภคอาหารเพื่อความเมามันเพื่อความสนุกสนาน หรือเพื่อความเอร็ดอร่อย แต่เป็นไปเพื่อดับทุกขเวทนาคือความหิว พิจารณาว่าเรากำลังเติมปุ๋ยให้กับธาตุดิน เมื่อเราเติมปุ๋ยให้กับธาตุดินแล้ว ธาตุดินก็เจริญเติบโต จึงเห็นว่าร่างกายของเราเจริญเติบโตอยู่ตลอดทุกวัน ผมของเราก็ยาวออกมา เล็บของเราก็งอกยาวออกมา เราจึงต้องตัดเล็บตัดผมบ่อยๆ ฉะนั้นปุ๋ยที่เราเติมให้กับร่างกายก็เป็นการเพิ่มเซลล์ใหม่ให้เกิดขึ้น เซลล์ใหม่เกิดขึ้น เซลล์เก่าก็ตายไป

          ร่างกายเราก็ไม่แตกต่างอะไรกับต้นไม้ จงมองให้เห็นกายเป็นเพียงแค่ธาตุ และต้นไม้ก็ไม่ได้มีเพียงแค่น้ำ หรือดินอย่างเดียว ต้องมีแสงแดด ความร้อนด้วย ถ้าขาดแสงแดดแล้วต้นไม้ก็จะไม่โต ฉะนั้นร่างกายก็ต้องอาศัยธาตุไฟเป็นตัวเร่ง ตัวเผาผลาญอาหาร เผาผลาญน้ำ ให้กายเรามีการเจริญเติบโตเกิดขึ้น จงพิจารณาวงจรภายในกายอย่างนี้

เฝ้าดูใจ

          เมื่อเราเข้าใจการทำงานของกายแล้ว เราก็จงยกใจขึ้นมาพิจารณา ใจของเรามี ๔ อาการ คือ มีความรู้สึก มีความจำ มีความคิด และมีตัวรู้ จงแยกให้ออกว่าใจเขาทำงานอย่างไร หน้าที่ของความรู้สึก เขาก็แค่รู้สึกอย่างเดียว หน้าที่ของความจำ เขาก็จำอย่างเดียว หน้าที่ของความคิด เขาก็คิดอย่างเดียว หน้าที่ของตัวรู้ เขาก็รู้อย่างเดียว เขาไม่ได้แทรกแซงกันเลย

          ฉะนั้น รู้นี้ก็สักแต่ว่ารู้ เขาไม่ได้แทรกแซงในความคิด เขาไม่ได้แทรกแซงในความจำ และรู้นี้ก็ไม่ได้แทรกแซงในความรู้สึก ความรู้สึกก็เช่นกันก็คนละส่วนกับรู้ ความจำก็คนละส่วนกับรู้ ความคิดก็คนละส่วนกับรู้ คิดก็คิดไปแต่เขาไม่มีความรู้สึกอะไรเลย แต่หน้าที่ของความรู้สึกกลับเป็นอีกตัวที่มีแค่ความรู้สึกเท่านั้น ความจำก็มีหน้าที่จำเท่านั้นแต่เขาไม่รู้สึกอะไร ความรู้สึกกับความจำ ก็คนละตัวกัน เราจงพยายามแยกหน้าที่ของใจที่เขาทำหน้าที่แตกต่างกันไป

          เหมือนเราทำงานอยู่ในออฟฟิศก็มีหลายแผนก มีแผนกอะไรบ้าง เราก็จงแยกเอา แผนกจัดซื้อ แผนกฝ่ายขาย แผนกการตลาด แผนกบัญชี เขาไม่แทรกแซงกัน แล้วฝ่ายผลิต ก็คือฝ่ายผลิตไม่แทรกแซงกัน ฝ่ายบัญชีก็คือหน้าที่จดจำบันทึกรายรับรายจ่าย ฝ่ายผลิตก็คือกองสังขาร เขาก็จะผลิตความคิดขึ้นมา ฝ่ายรู้ก็คือผู้จัดการ คอยดูลูกน้องทำงาน แต่เขาไม่ได้เป็นผู้ผลิต เขานั่งอยู่เฉยๆ ผู้จัดการไม่ได้เหนื่อยอะไรเลย แค่นั่งดูเฉยๆ แต่ลูกน้องทำงาน นี่คือการทำงานของใจเป็นอย่างนี้

          เราก็ดูการทำงานของเขาเหมือนว่าเราเป็นผู้ดู ผู้รู้ อย่าแทรกแซงการทำงานของเขา รู้ความรู้สึก รู้ความจำ รู้ความคิด และรู้ในรู้ซึ่งเขาทำหน้าที่แตกต่างกันไป เหมือนเราดูธาตุ ๔ เราดูธาตุ ๔ ด้วยความเป็นกลางๆ โดยที่เราไม่ได้แทรกแซงในธาตุ ๔ และมาดูการทำงานของใจ โดยที่เราไม่ได้ไปแทรกแซงการทำงานของใจ เห็นการเกิดดับของเขา ทำอย่างนี้บ่อยๆ เข้า นั่นแหละเราจะเข้าใจวิถีการทำงานของใจ

การทำงานของกายและใจ

          กายของเราก็มีแค่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม และภายในธาตุ ๔ ก็มีเพียงแค่ ๒ ธาตุที่เราสามารถเห็นได้ ก็คือธาตุดินกับธาตุน้ำ เราจงแยกเป็น ๒ กลุ่มหลักๆ ที่เราเห็นและจับต้องได้ ก็คือ

          กลุ่มของธาตุดินมี ๒๐ ชนิด
          กลุ่มของธาตุน้ำมี ๑๒ ชนิด

          พิจารณากลุ่มของธาตุดิน โดยเห็นรูปร่างลักษณะ สีของเขา โดยยก
          ผมขึ้นมาก่อน เห็นผมของเราเป็นเส้นๆ ว่าสีอะไร ก็พิจารณาตามสีที่เราเข้าใจ เมื่อพิจารณาลักษณะของผมแล้วจงพิจารณาลักษณะสีของผม แล้วพิจารณาถึงกลิ่นของผมให้ครบหมด ลักษณะรูปของผม สีของผม และกลิ่นของผม เวลาไม่สระผม กลิ่นเป็นอย่างไร พิจารณาถึงกลิ่นของเขา พิจารณาให้ละเอียดตรงนี้
          ขนก็เช่นกัน พิจารณาลักษณะของขน สีของขน และกลิ่นของขน
          เล็บ ยกขึ้นมาพิจารณาลักษณะของ เล็บ สีของเล็บ และกลิ่นของเล็บ
          ฟัน ยกฟันขึ้นมาพิจารณา ลักษณะของฟัน สีของฟัน และกลิ่นของฟัน
          หนัง ยกหนัง ขึ้นมาพิจารณาลักษณะของหนังเป็นผืนๆ สีของหนัง และกลิ่นของหนัง
          เนื้อ ก็ยกเนื้อขึ้นมาพิจารณาลักษณะของเนื้อ สีของเนื้อ และกลิ่นของเนื้อ ให้เห็นโดยความเป็นจริง
          เอ็น เส้นเอ็นที่อยู่ในร่างกาย ที่เขาร้อยรัดร่างกาย ยึดร่างกายเอาไว้ ยึดตามข้อกระดูก ยึดกระดูกเราไว้ให้เป็นโครงสร้างขึ้นมา เราก็พิจารณาถึงลักษณะของเอ็น สีของเอ็น และกลิ่นของเอ็น
          กระดูก ก็ยกกระดูกขึ้นมาพิจารณาลักษณะของกระดูกตั้งแต่กระดูกปลายเท้าถึงกระดูกศีรษะ ลักษณะของกระดูก สีของกระดูก และกลิ่นของกระดูก เยื่อในกระดูก เราก็ยกกระดูกขึ้นมาพิจารณาภายในกระดูกนั้นจะเป็นโพรง เป็นเยื่อในกระดูกเหมือนฟองน้ำจงพิจารณาเยื่อในกระดูก สีของเขา และกลิ่นของเขา
          ม้าม ก็ยกม้ามขึ้นมาพิจารณา ลักษณะของม้าม สีของม้าม และกลิ่นของม้าม
          ตับ เราก็ยกตับขึ้นมาพิจารณา พิจารณาลักษณะของตับ สีของตับ และกลิ่นของตับ และยก
          ปอดขึ้นมาพิจารณา พิจารณาลักษณะของปอด กลิ่นของปอด และสีของปอด
          หัวใจ เราก็ยกหัวใจขึ้นมาพิจารณา พิจารณาลักษณะของหัวใจ สีของหัวใจ และกลิ่นของหัวใจ
          ไส้น้อยไส้ใหญ่ เราก็ยกขึ้นมาพิจารณาลักษณะของไส้ สีของไส้ และกลิ่นของไส้
          อาหารเก่าและอาหารใหม่ ก็ยกขึ้นมาพิจารณา ลักษณะของอาหารเก่าและอาหารใหม่ ทั้งสี และกลิ่นของอาหารเก่าและอาหารใหม่
          เยื่อในสมอง ก็คือมันสมอง พิจารณาเห็นลักษณะของสมอง กลิ่นของสมอง และสีของสมอง นี่เรียกว่าธาตุดิน ๒๐ ชนิด

          การพิจารณาธาตุน้ำ ก็ไม่ต่างจากธาตุดิน จงพิจารณาลักษณะเดียวกัน
          น้ำดีมันสีอะไร ลักษณะเป็นอย่างไร กลิ่นเป็นอย่างไร พิจารณาไปให้หมดในร่างกาย
          น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำเสลด น้ำลาย ไขมันข้น ไขมันเหลว พิจารณาให้หมดตรงนี้ นั่นเราจะได้ไม่หลงเขาในความสวยความงาม

          แล้วเราจะเห็นว่าทั้งสีและกลิ่นก็ดี ธาตุดิน ธาตุน้ำ ทั้งหมดเป็นเพียงสภาวะธาตุ ซึ่งรวมตัวมาจากพืชผักผลไม้ และเนื้อสัตว์ต่างๆ เมื่อราเข้าใจอาการของธาตุ ๔ จนสมบูรณ์แล้วก็ยกใจขึ้นมาพิจารณาการทำงานของเขา

          ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วว่า เขามีหน้าที่จำ ก็ให้สังเกตอาการจำว่าเขาจำอย่างไร รู้ในปัจจุบัน ในขณะที่เขาจำ และความรู้สึกเขารู้สึกอย่างไร เราจับในความรู้สึกของปัจจุบันนั้นๆ ว่าขณะที่เขาเป็นทุกข์ อาการของทุกข์นั้นเป็นอย่างไร และอาการของสุขนั้นเขาสุขอย่างไร อาการที่เขาเฉยๆ เขาเฉยอย่างไร นี่เขาเรียกว่าความรู้สึก และยกความจำขึ้นมาดูว่าเวลาเขาจำ เขาเป็นลักษณะใด เวลาเขาจำไม่ได้ เขาเป็นเช่นไร คิด ก็มาเฝ้าดูความคิด เวลาเขาคิดโน่นคิดนี่ คิดดี คิดชั่วเป็นอย่างไร เวลาเขาคิดและเวลาเขาไม่คิดเป็นอย่างไร แล้วมาเฝ้าดูตัวรู้ ตัวรู้นี้ก็รู้ได้สารพัด เวลาที่เขารู้เป็นอย่างไร และเวลาที่เขาไม่รู้เป็นอย่างไร นี่คือดูการทำงานของกายและใจ

ที่มา : หนังสือพาจิตกลับบ้าน
พระอาจารย์ชานนท์ ชยนันโท