Recent Posts

สัมปชัญญะ เหมือนเจ้าของบ้าน


          ในสัมปชัญญะบรรพ ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในหมวดที่ ๓ สัมปชัญญะบรรพ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอย่างไร? อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต สมฺปชานการี โหติ พึงทำความรู้สึกตัวในขณะก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง อาโลกิเต วิโลกิเต สมฺปชานการี โหติ พึงทำความรู้สึกตัวในขณะแล ในขณะเหลียว

          มันจะรวมกระทั่งทำความรู้สึกตัว ในขณะคู้อวัยวะเข้า เหยียดอวัยวะออก ทำความรู้สึกตัวในขณะรับประทานอาหาร การเคี้ยว การลิ้ม การดื่ม ทำความรู้สึกตัวในขณะนุ่งห่มเสื้อผ้า

          ถ้าพระก็ สงฺฆาฏิปตฺตจีวรธารเณ สมฺปชานการี โหติ พึงทำความรู้สึกตัวในขณะทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร เป็นโยมก็รู้สึกตัวในขณะสวมใส่เสื้อผ้า อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม สมฺปชานการี โหติ พึงทำความรู้สึกตัวในขณะถ่ายอุจจาระปัสสาวะ พึงทำความรู้สึกตัวในขณะยืน ในขณะเดิน ในขณะนั่ง ในขณะนอนหลับ ตื่น พูด นิ่ง

          ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดที่ ๒ อิริยาบถบรรพ กำหนดการยืน เดิน นั่ง นอน ว่าเดินก็รู้ตัวว่าเดิน ยืนก็รู้ตัวว่ายืน นั่งก็รู้ว่านั่ง นอนก็รู้ว่านอน แต่ในสัมปชัญญะก็ยังมียืน เดิน นั่ง นอน มันไม่ซ้ำกันเลย

          ในสัมปชัญญะก็ยังมีกล่าวทำความรู้สึกตัว ในขณะเดิน ในขณะยืน ในขณะนั่ง ในขณะนอนหลับ มันไม่ซ้ำกับอิริยาบถบรรพเลย อิริยาบถบรรพก็มีอยู่แล้ว ยืน เดิน นั่ง นอน แสดงว่ามันต้องมีอะไรที่ต่างกันบ้าง พระพุทธเจ้าถึงได้แสดง

หมวดที่ ๓ เรื่องสัมปชัญญะ เรื่องความรู้สึกตัว 

          อิริยาบถ อาจจะรู้การเดิน รู้การนั่ง รู้การนอน แต่ไม่รู้สึกตัว

          แต่ทีนี้มันฝึกการรู้สึกตัว ขึ้นต้นด้วยการรู้สึกตัว ทำความรู้สึกตัว ทำความรู้สึกตัวในขณะแลในขณะเหลียว ทำความรู้สึกตัวในขณะคู้อวัยวะเข้า เหยียดอวัยวะออก

          เหมือนเจ้าของบ้านต้องรู้สึกตัวในขณะรับแขก รู้สึกตัวเอง รู้สึกตัวได้ ทำอะไรก็ต้องให้รู้สึกตัวไว้

เวลาภาคปฏิบัติจริง ๆ มันทำได้อย่างไร?

          คำสอนให้รู้สึกตัว โดยเฉพาะว่าจิตมีความรู้สึกตัว มันเป็นเรื่องที่ต้องฝึกหัดขึ้นมา ฝึกทำ ฝึกหัด ฝึกการที่จะมีสติรู้สึกตัวทั่วพร้อม เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าจิตมีความรู้สึกตัว ในการคู้ เหยียด เคลื่อนไหว รู้สึกตัวอยู่ มันก็เกิดการรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ทั้งหมดทั้งกายทั้งใจ รู้สึกตัวในขณะแลในขณะเหลียว

          คนเวลาที่แลแล้วไม่รู้สึกตัว มันจะเป็นอย่างไร? เวลาแล เวลามอง มองโดยไม่รู้สึกตัว มันจะเป็นอย่างไร? จิตมันก็จะไปอยู่สิ่งที่มอง จิตมันจะไปสนใจ มันจะติดอยู่กับสิ่งที่มอง มันจะลืมเจ้าของ เจ้าของเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ถ้าไม่ได้รู้สึกตัว

          แต่ถ้ารู้สึกตัวในการมอง มันก็จะเห็นเจ้าของ จะรู้เจ้าของ เจ้าของคืออะไร? เจ้าของที่ว่าคือใคร? คือ จิต

          รู้จิต รู้กาย แล้วก็ประกอบพร้อมไปด้วย ความปล่อยวาง วางเฉย ปล่อยวาง รู้สึกตัวทั่วพร้อมอย่างปล่อยวาง คำสอนอย่างนี้เป็นสิ่งที่เราจะปล่อยให้ผ่านไป ฟังไปผ่าน ๆ มันไม่ได้เป็นจริง ไม่ได้ทำได้จริง
มันก็จะฟาวล์ไป เหมือนคำสอนที่ไม่เห็นมันจะมีอะไร ถ้าเราไม่ได้ทำเป็น มันก็เหมือนธรรมดา แต่ถ้าเราทำเป็น มันจะเป็นประโยชน์ มันจะเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะมาใช้กับชีวิตจริง

          การรู้สึกตัวในการคู้ เหยียด เคลื่อนไหว ในการมอง ในการก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง
มันเป็นชีวิตที่จะต้องเคลื่อนไหว ไม่ได้หลับตาอยู่ ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนั้น แสดงถึงการปฏิบัติไม่ใช่นั่งหลับตาอยู่เฉย ๆ เท่านั้น ทำความรู้สึกตัวก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง มีใครหลับตาอยู่ มีไหม?
ไม่มีใครหลับตาแล้วก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลัง ชีวิตจริงแสดงว่าต้องลืมตาอยู่ ยิ่งบอกทำความรู้สึกตัวในขณะแล หลับตาแล้วจะแลได้อย่างไร

          เพราะฉะนั้น ท่านที่ถามว่า ทำกรรมฐานลืมตาได้ไหม?  ก็ทำความรู้สึกตัวในขณะแลแล้วจะหลับตาได้อย่างไร ก็ไม่เห็นอะไร แสดงถึงว่าการเจริญสติ ไม่ใช่เรื่องอยู่ในการหลับตาเท่านั้น ทำความรู้สึกตัวในขณะรับประทาน การเคี้ยว การลิ้ม การกลืน ชีวิตจริงเวลาทานข้าว หลับตาหรือเปล่า? ตักอาหารแล้วหลับตาใส่ปาก มันไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องลืมตา แสดงว่าเวลานั้นปฏิบัติได้ ลืมตาอยู่ ทำความรู้สึกตัวในขณะนุ่งห่มเสื้อผ้ามันก็ต้องลืมตา ทำความรู้สึกตัวในขณะยืน เดิน นั่ง ใครจะหลับตาเดินไปไหนมาไหน ตกท้องร่อง ยิ่งเดินไปตามถนนหนทาง ไม่ลืมตา เดี๋ยวก็เดินไปชนรถ ก็ต้องลืมตา ทำความรู้สึกตัว

          เพราะฉะนั้น แค่คำสอนเพียงว่า ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เป็นเรื่องที่เราจะผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้
ไม่เอามาฝึกทำ ไม่เอามาหัดทำ เราก็จะไม่ได้ประโยชน์คุณค่าคำสอนตรงนี้ ต้องทำให้เป็นแล้วก็จะได้เห็นคุณค่าได้รับประโยชน์ เอาไปใช้ได้ในเหตุการณ์ในทุกกรณีต่าง ๆ

หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี 
ถอดเทปธรรมบรรยาย คุณจุฑาทิพย์ หิรัญญสัมฤทธิ์