คำว่า “ฌาน” และ “ญาณ” คำที่นักปฏิบัติธรรมและผู้เรียนรู้พุทธศาสนาจำเป็นต้องรู้และทำความเข้าใจ เพราะเกี่ยวเนื่องไปถึง“ความหลุดพ้น”
“ฌาน” คือ สภาพจิตที่มีสมาธิเป็นแกน ประกอบด้วยคุณสมบัติอื่นๆที่ดีงามอีก ๒-๓-๔-๕ อย่าง แล้วแต่ฌานขั้นไหน “ฌาน”เป็นผลที่ประสงค์สำคัญของ “สมถะ” หรือ จิตตภาวนา
ฝ่าย“วิปัสสนา” ที่ว่ามีหลักการคือ รู้ เห็นตามความเป็นจริงนั้น ผลที่เกิดขึ้นของมันคือ “ญาณ” ชื่อใกล้กันมาก ระวังสับสน ผลที่มุ่งหมายของวิปัสสนา คือ “ญาณ”
ผลที่ประสงค์ของ
สมถะ คือ “ฌาน”
พอถึงผลสำเร็จของ
วิปัสสนา เป็น “ญาณ”
“ฌาน” ของสมถะนั้น แปลว่า การเพ่งพินิจ แน่วแน่อยู่ จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้
แต่..วิปัสสนา ทำให้เกิด “ญาณ” คือ ตัวความรู้ หรือ ความหยั่งรู้ “ญาณ”จึงเป็นผลที่มุ่งหมายของวิปัสสนา ที่พูดมาแล้วนี้ เป็นผลสำเร็จทั่วไป ต่อไปเป็นผลสำเร็จขั้นสุดท้าย
ผลสำเร็จขั้นสุดท้ายของ “สมถะ”
เมื่อทำให้จิตแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียว เกิด“ฌาน” พอได้ฌานแล้ว จะเกิดความสำเร็จขั้นสุดท้ายขึ้น คือ จิตจะปลอดพ้นหลุดไป หมายถึง หลุดพ้นไปจากสิ่งที่ไม่ดีที่ไม่ต้องการทั้งหมด
จิตใจของคนเรานี้มีความขุ่นมัว มีความเศร้าหมอง มีกิเลส มีเรื่องทุกข์ร้อนต่างๆมากมาย พอเราทำสมาธิได้“ฌาน”แล้ว จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ สงบ มันก็พ้นไปจากสิ่งที่ไม่ต้องการ สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นความขุ่นมัวเดือดร้อนวุ่นวาย สิ่งที่เป็นกิเลสทั้งหมด ก็เรียกว่าเป็น ความหลุดพ้น
แต่ความหลุดพ้นนั้นเป็นไปได้ชั่วคราว ตลอดเวลาที่เราอยู่ในสภาพจิตนั้น เมื่อไรเราออกจากสิ่งที่กำหนด ออกจากสมาธิ จิตของเราก็เข้าสภาพเดิม เราก็มีปัญหาได้อีก เราก็มีความทุกข์ได้อีก จิตใจของเราก็มีความขุ่นมัวเศร้าหมองได้อีก อันนี้ จึงถือว่าเป็นความหลุดพ้นชั่วคราว ตอนนี้จะมีความยุ่งเรื่องศัพท์นิดหน่อย ศัพท์ไม่จำเป็นต้องจำ แต่ถือว่าฟังไว้ประดับความรู้ เรียกว่า “วิกขัมภนวิมุตติ”
วิกขัมภนวิมุตติ บางทีท่านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สมยวิมุตติ แปลว่า หลุดพ้นชั่วสมัย สมย หรือ สมัย แปลว่า เวลา, วิมุตติ แปลว่า ความหลุดพ้น พ้นจากกิเลสและความทุกข์ สมย ชั่วสมัย คือชั่วเวลา ได้แก่ ชั่วเวลาที่เราอยู่ในสมาธิ แต่สมัยหลังมักเรียกกันว่า วิกขัมภนวิมุตติ แปลว่า หลุดพ้นด้วยกดทับไว้ เหมือนอย่างเอาหินไปทับหญ้า ทำให้หยุดงอกงามไป พอเอาหินออกแล้วหญ้าก็กลับเจริญงอกงามต่อไปอีก เหมือนกับกิเลสและความทุกข์ พอได้สมาธิ กิเลสและความทุกข์ก็สงบเงียบ เหมือนกับหายไปหมดไป แต่พอออกจากสมาธิ กิเลสและความทุกข์นั้นก็เฟื่องฟูขยายตัวขึ้นมาได้อีก นี่คือ ผลสำเร็จสุดท้ายของสมาธิหรือของสมถะ คือ สมยวิมุตติ หลุดพ้นชั่วคราว หรือ วิกขัมภนวิมุตติ หลุดพ้นด้วยกดทับหรือข่มไว้
ส่วน“วิปัสสนา” ทำให้เกิด“ญาณ” มีความรู้แจ่มแจ้ง รู้ตามที่เป็นจริง
เมื่อรู้เห็นตามที่เป็นจริงแล้ว จิตจะเป็นอิสระหลุดพ้นจากสิ่งนั้นๆ เด็ดขาดไปเลย
เมื่อเรารู้เข้าใจสิ่งใดตามความเป็นจริงแล้ว จิตของเราก็จะหลุดพ้นจากความยึดติดในสิ่งนั้น แล้วเราก็ไม่ขุ่นมัวไม่ขัดข้องเพราะสิ่งนั้น เมื่อยังไม่รู้ว่าอะไรเราก็ขัดข้องอยู่กับสิ่งนั้น เมื่อเรารู้ เราก็หลุด เราก็พ้นได้ รู้เมื่อไรก็หลุดเมื่อนั้น
ทีนี้ ความรู้เห็นตามเป็นจริงก็นำไปสู่ความหลุดพ้น เป็นอิสระอย่างชนิดเด็ดขาดสิ้นเชิง เรียกว่า อสมยวิมุตติ คือ หลุดพ้นไม่จำกัดสมัย เรียกอีกอย่างว่า สมุจเฉทวิมุตติ คือ หลุดพ้นโดยเด็ดขาด”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
ที่มา : หนังสือ “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง”