การฝึกทางอายตนะหกนี้ มันเหมาะกับคนที่มีปัญญากล้ามากๆ มันอยู่ใน
ธัมมานุปัสสนา
การปฏิบัติโดยอายตนะหกนี้ เมื่อตาเห็นรูปก็มีสติ รู้รูป รู้ตา รู้การเห็น รู้สังโยชน์ รู้กิเลสที่เกิดตามหลังมา มีงานเยอะนะ
เมื่อหูได้ยินเสียง ก็รู้ประสาทหู รู้เสียง รู้การได้ยิน รู้กิเลสที่เกิดตามหลังการได้ยิน เมื่อได้รสก็รู้ลิ้น รู้ประสาทลิ้น รู้รส รู้การกระทบสัมผัส รู้ความรู้สึกที่กระทบสัมผัสรส รู้กิเลสที่เกิดตามมา
สังเกตไหมว่ามันมีตัวร่วมอยู่ตัวหนึ่งคือ
รู้กิเลสที่เกิดตามมา ฉะนั้นในธัมมานุปัสสนา อายตนบรรพไม่ได้จบลงที่การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้รสนะ
ถ้าเมื่อใดเราจงใจกำหนดลงไปที่การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้รส จะไม่มีการทำงานอะไรต่อไป จิตจะทื่อๆ นิ่งๆ แท้จริงแล้วจิตที่ไปรู้อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เป็นวิบาก จิตไม่มีดีมีชั่วอะไร ไม่มีสุขมีทุกข์อะไร เฉยๆ
ดังนั้น พอเราไปดูแต่ทางอายตนะพวกนี้ เราจะเห็นว่าจิตเฉยๆ ตลอดเวลาเลย จะทื่อๆ นิ่งๆ อยู่อย่างนั้น ในที่สุดก็ติดความนิ่ง ความทื่อ กิเลสเหมือนไม่เกิดขึ้น แต่ความจริงโมหะเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว จิตซึมๆ ทื่อๆ ไปเรียบร้อยแล้ว จิตที่ซึมๆ ทื่อๆ เป็นอกุศลจิต
ในหนังสือ ทางเอก ที่หลวงพ่อเขียนไว้ มีเรื่องของพระองค์หนึ่งชื่อพระโปฐิละ พระใบลานเปล่า ให้ไปอ่านเอานะ คือ
เมื่อตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์แล้ว มันส่งสัญญาณมาที่ใจ ให้รู้ความเปลี่ยนแปลงที่ใจไป เหมือนที่เณรพระอรหันต์สอนพระโปฐิละว่า ถ้ากระทบอารมณ์ทางทวารทั้งหกแล้ว ให้ตั้งกัมมัฏฐานขึ้นทางมโนทวารทางใจ เพราะชวนจิตเกิดขึ้นที่มโนทวาร กุศลอกุศลสุขทุกข์เกิดขึ้นที่นี่ ให้
คอยรู้ทันตรงนี้
อย่ามัวเอาแต่ตั้งอยู่ที่ตาอยู่ที่หูนะ เพราะตั้งอยู่ที่นั่นจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เพราะทื่อๆ เรียกว่าเราเรียน
อายตนบรรพไม่ครบนะ
ในอายตนบรรพที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านสอนถึงตาถึงรูปถึงการรับรู้การกระทบ คือถึงจิตที่เกิดทางตา แล้วก็ถึงกิเลสที่เกิดตามมา ถ้าเราไปจ้องใส่จิตที่เกิดทางตา มันคือการเพ่งจิต ถ้าเราไปจ้องประสาทตา มันคือการเพ่งรูป ถ้าไปจ้องอยู่ที่รูปที่จิตไปรู้เข้าที่ตาไปเห็นเข้า ก็คือการเพ่งรูป การเพ่งตัวรูปตัวนามนี้เรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน เป็นการเพ่งตัวอารมณ์ ได้สมถะนะ ดังนั้นคนที่ฝึกไล่จี้ทางอายตนะจำนวนมาก
เกิดสมถะโดยไม่รู้สึกตัว นึกว่าทำวิปัสสนาอยู่ มีใจนิ่งๆ ทื่อๆ อยู่อย่างนั้น เหมือนหมดกิเลสนะ
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช