Recent Posts

ความแตกต่าง สมถะกับวิปัสสนา


วิธีการปฏิบัติสมถะ กับ วิธีการปฏิบัติวิปัสสนาก็มีความต่างกัน

          ถ้าเราจะเจริญสมถะ เพื่อให้ได้ความสงบ ให้ได้ฌาน เราจะต้องเอาจิตเพ่ง อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่เป็นกรรมฐาน เช่น เพ่งกสิณ คือดิน น้ำ ดินก็ดี ไฟก็ดี ลมก็ดี สีเขียว สีเหลือง สีแดงที่มาทำเป็นกสิณ เป็นวงเป็นกลมๆ ไว้เพ่งจนมันติดตา เป็นอุคคหนิมิตติดตา เพ่งในอุคคหนิมิตจนเป็นปฏิภาคนิมิต ขยายให้ใหญ่ให้เล็กจนเข้าสู่อัปปนาสมาธิ ได้ฌาน

          การเจริญสมถะมีวิธีการทำถึง ๔๐ อย่าง อารมณ์ของสมถะที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ๔๐ อย่าง มีกสิณ ๑๐ มีอสุภะ เพ่งซากศพ ก็ทำให้ได้ฌาน มี ๑๐ ชนิด แล้วก็มีอนุสติ เพ่งลมหายใจก็ทำให้ได้ฌาน กำหนดเพ่งลมหายใจเข้าออก เจริญพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี่ก็ทำให้ได้ฌาน

          สรุป แล้วว่าสมถะจะต้องเอาจิตเพ่งอยู่ กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง อารมณ์เหล่านั้นเป็นบัญญัติ จะมีที่เป็นปรมัตถ์อยู่เป็นส่วนน้อยมาก ในบางอรูปฌาน มีบางอรูปฌานที่มีปรมัตถ์ นอกนั้นเป็นบัญญัติหมด

          ส่วนวิปัสสนา นั้นไม่ใช่การเข้าไปเพ่ง แต่เป็นการเจริญสติ เป็นการระลึกรู้ ระลึกรู้สภาวะ หรือปรมัตถธรรม หรือรูปธรรมนามธรรม หรือขันธ์ ๕ ที่กำลังปรากฏ วิปัสสนานี้สติจะต้องระลึกปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ ส่วนสมถะก็เพ่งให้อยู่ในอารมณ์เดียวที่เป็นบัญญัติ วิปัสสนาใช้ระลึกรู้สภาวะต่างๆ รูปต่างๆ นามต่างๆ ที่กำลังปรากฏ

          วิธีการปฏิบัติมันต่างกัน

          เราจะทำอะไร เราจะเจริญอะไรต้องรู้ ถ้าเราจะเจริญเพื่อความสงบก่อน เราก็เจริญสมถะ เพ่ง เช่น เพ่งลมหายใจเข้าออก ดูลมเข้าดูลมออก พุทโธ พุทโธ นับ ๑, ๒, ๓ ก็แล้วแต่ หรือเพ่งพิจารณานิมิตอะไรต่าง ๆ ก็ทำให้จิตนิ่งอยู่กับอารมณ์เดียวนั้นได้ ส่วนวิปัสสนาก็ใช้ระลึกรู้สภาวธรรม

          บางคนนั้นเจริญสมถะก่อน ได้ฌาน แล้วก็มาต่อวิปัสสนาทีหลัง อย่างนี้ก็ได้ เจริญสมถะก่อนจนกระทั่งได้ฌานแล้วก็ต่อวิปัสสนา เช่น บางคนทำจิตจนนิ่งได้แนบแน่น ได้สมาธิ ได้ฌาน เวลาต่อวิปัสสนาเขาก็จะมีสติกำหนดเข้ามาที่องค์ฌาน ดูวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ที่สำหรับปฐมฌาน ดูสภาวะที่เป็นนามธรรมที่ประกอบกับจิตใจ ลักษณะของปีติ ลักษณะของความสุข สมาธิ สภาพรู้เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม พอกำหนดมาอย่างนี้ถูก ก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดดับ เป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เกิดวิปัสสนาญาณ ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพาน โดยอาศัยการเจริญสมถะเป็นบาทแล้วเข้าสู่วิปัสสนาทีหลัง

          แต่บางคนนั้นไม่เจริญสมถะก่อน เจริญวิปัสสนาไปเลย มีสติระลึกรู้ รูปนามทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจไปต่างๆ ฝึกไป ระลึกไป ทำใจปล่อยวาง เป็นกลาง หนักเข้าสมาธิก็เกิดขึ้นมาเอง สมาธิมันตามมา เรียกว่าวิปัสสนานำหน้า สมถะตามหลัง จิตรวมตัวเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้

          - อันแรกนั้น สมถะนำหน้า วิปัสสนาตามหลัง เรียกว่า “สมถปุพพังคมวิปัสสนา

          - อันที่สอง “วิปัสสนาปุพพังคมสมถะ” วิปัสสนานำหน้า สมถะตามหลัง ระลึกได้ตรงสภาวะรูปนามต่างๆ จิตก็สามารถเป็นสมาธิตามมา

          ส่วนอีกประเภทหนึ่งก็คือ เจริญสมถะวิปัสสนาคู่ ๆ กันไป เจริญสมาธิบ้าง เพ่งบัญญัติบ้าง ปรมัตถ์บ้างสลับกันไป “ยุคนัทธสมถวิปัสสนา” เจริญสมถะวิปัสสนาคู่ๆ กัน

          ตอนนี้เราก็ต้องมาทำความเข้าใจ ในรายละเอียดว่า

          บัญญัติเป็นอย่างไร ปรมัตถ์เป็นอย่างไร

          เผื่อเราจะเจริญสมถะ เราจะได้เพ่งบัญญัติให้ถูก เราเจริญวิปัสสนาเราจะได้ระลึกรู้ปรมัตถ์ บัญญัติคืออะไร? ปรมัตถ์คืออะไร? อารมณ์ทั้งหลายทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อแยกมาแล้วมันก็จะมีอยู่ ๒ ที่ เป็นปรมัตถอารมณ์ ที่เป็นบัญญัติอารมณ์ คือถ้าไม่เป็นปรมัตถ์ มันก็ไปเป็นบัญญัติ

          บัญญัติ ก็คือสมมติ สมมติคืออะไร? สมมติก็คือแต่งตั้ง แต่งตั้งกันขึ้นมา ตกลงกันขึ้นมา ยินยอมขึ้นมา เพราะฉะนั้น สมมติหรือบัญญัติก็มีแบ่งออกไปเป็น

          ๑. สัททบัญญัติ หรือเรียกว่านามบัญญัติก็ได้ ก็คือชื่อ ชื่อเรียกต่างๆ บัญญัติกันขึ้นมา ชื่อว่าโต๊ะ ชื่อว่าเก้าอี้ ชื่อว่านาฬิกา สมมติชื่อนายดำ นายแดง ทุกอย่างตั้งชื่อเรียก แล้วแต่จะบัญญัติกัน คนไทยบัญญัติอย่างนี้ ฝรั่งบัญญัติอย่างนั้น คนจีนบัญญัติอย่างนั้น ถ้าเราไม่รู้ภาษาสมมติของเขา เราก็คุยฟังกับเขาไม่รู้เรื่อง นี่บัญญัติโดยชื่อ

          ๒. บัญญัติโดยความหมายกับรูปร่างสัณฐาน เวลาที่ตาเรามองไป เราว่ามันมีวัตถุรูปร่างกลมบ้าง แบนบ้าง เหลี่ยมบ้างนั้นไม่ใช่การเห็นได้ ตาจริงๆ จะเห็นเพียงสีสันเท่านั้น เห็นสีสันที่มันสลับกัน แต่มันส่งมาที่ใจ ใจก็แปลสีต่าง ๆ ออกมาให้เป็นรูปทรงสัณฐาน ไม่ใช่การเห็น แต่มันเป็นการรู้นึกด้วยทางใจ รูปร่าง หรือแม้เราหลับตาลง นึกมาที่กาย ในใจเราก็นึกได้ว่า ขา แขน ศีรษะรูปทรงแบบนี้ แขนรูปทรงอย่างนี้ ศีรษะกลมๆ แขนยาวๆ ขารูปร่างอย่างนี้ อย่างนี้คือรูปร่างสัณฐาน เป็นบัญญัติ เป็นสมมติ

          มันไม่ใช่เป็นความจริง อาศัยจิตมันปรุงขึ้นมา มันจำ มันสแกน มันฉายเป็นมโนภาพทางใจขึ้นมา เป็นสมมติอย่างหนึ่ง มันเป็นข้อมูลที่เราจะต้องเข้าใจต้องรู้ มิฉะนั้น เราจะไปติดอยู่กับสมมติเหล่านี้ มันจะไม่เป็นวิปัสสนา

          แต่ถ้าเราจะเพ่งสมถะนี่ได้ ให้จิตมีสมาธินี้เราเพ่งรูปร่าง นึกถึงรูปร่างหน้าตา นึกถึงศีรษะ นึกถึงแขน ขา อวัยวะน้อยใหญ่ ให้จิตใจมันอยู่กับตัว อย่างนี้ทำให้เกิดสมาธิ เป็นสมถะ

          แต่เวลาจะทำวิปัสสนามันต้องเพิกออกจากใจ เพิกรูปร่างสัณฐานออกจากใจ เพื่อจะเข้าไปสู่แก่นแท้ๆ ของธรรมชาติ ของชีวิตที่มันเป็นปรมัตถธรรม

          แม้แต่ความหมายก็เป็นบัญญัติ ความหมายนี่เป็นบัญญัติ ความหมายว่ายก ว่าจับ ว่ามา ว่าไป ว่าใหญ่ ว่าเล็ก เป็นความหมาย เป็นบัญญัติ อารมณ์ที่จิตปรุงแต่งนึกคิดขึ้นมา หายใจว่านี่หายใจเข้า นี่หายใจออก นี่เข้ายาว ออกยาว เหล่านี้คือความหมาย เป็นสมมติอีกเหมือนกัน ต้องเพิกไปจากใจถ้าจะเข้าสู่วิปัสสนา

          แต่ถ้าเจริญเพื่อความสงบ เราเพ่งอย่างนี้ก่อนได้ เพ่งลมหายใจนี้เข้า รู้ว่าเข้า ออกรู้ว่าออก นี่เข้าไปยาวรู้ว่ายาว เข้าออกยาว อย่างนี้ทำให้เกิดสมาธิได้ เพราะอารมณ์บัญญัติมันเป็นอารมณ์ของสมถะ ยาว สั้น เข้า ออก ไป มา ขวา ซ้าย ยก ย่าง เหยียบ มันเป็นบัญญัติอารมณ์ แต่มันเป็นกรรมฐานได้ มันทำให้เกิดสมาธิได้

          เราก็จำไว้ ถ้าหากว่ามันเป็นรูปร่างขึ้นมาในใจ เป็นมโนภาพ จะรูปร่างตัวเราเอง รูปร่างวัตถุสิ่งของภายนอก มันเป็นสมมติ อย่างบางคนนั่งไปเห็นนิมิต เห็นเป็นดวงไฟ เห็นเป็นดวงแก้ว เห็นเป็นสี แสง เห็นเป็นเมฆหมอก เห็นเป็นคน สัตว์ เห็นเป็นพระพุทธรูปอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันเป็นรูปภาพในใจขึ้นมา นั่นเป็นสมมติหมด แล้วนิมิตนี้มันเกิดขึ้นจากจิตเราสร้างขึ้นมาได้ สร้างภาพนิมิต พอมีสมาธิมันยิ่งสร้างชัด เหมือนตาเราเห็น เหมือนเราลืมตาเห็น เช่น มันสร้างภาพนิมิตเป็นรูปร่างตัวเราเอง ออกไปอีกร่างหนึ่ง เห็นตัวเราเองออกจากร่างนี้ลอยไป นึกจะไปไหนมันก็ไปตามที่ใจนึก อย่างนี้เรียกว่าเป็นนิมิต จิตพอมีสมาธิมันสามารถจะสร้างภาพออกไปอีกได้ บางคนเห็นนิมิตเป็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา อย่างนี้มันเป็นนิมิตที่จิตเราสร้างภาพ เหมือนเป็นภาพจริงขึ้นมาได้

          เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เข้าใจ บางทีเราหลง หลงว่าเราเป็นผู้วิเศษแล้ว เราเป็นอริยบุคคลแล้วบ้าง เรื่องของสมถะมันจะเกิดนิมิตได้

          ปรมัตถ์

          แต่พอมาสู่วิปัสสนามันจะไม่มีนิมิตอะไรทั้งหมด มันจะไม่มีภาพอะไรเลยในใจ ภาพแขน ขา หน้าตา ภาพคน สัตว์ สิ่งของไม่มี แต่ในความว่าง ไม่มีอะไรเลย ไม่มีภาพนั้น มันมีสภาวะแท้ ๆ ความเป็นจริงอยู่ เรียกว่า ปรมัตถธรรม เช่น ที่กายมันจะมีความรู้สึก ความไหว ความเย็น ความร้อน ความตึง ความหย่อน ความสบาย ไม่สบาย แต่มันไม่เป็นภาพ มันเป็นความรู้สึก ๆ นั่นคือปรมัตถ์ คือสภาพแท้ ธรรมชาติจริง ๆ ปรมัตถ์ก็คือธรรมชาติจริง ๆ ที่มันมีอยู่จริง ๆ สภาวะ สิ่งที่เป็นจริง ที่มีอยู่จริง

          อย่างเช่นเรานั่งอยู่ขณะนี้มันก็จะมีความปวด ความเมื่อย ความเจ็บ ความชา ความร้อน ความเย็น
อย่างนี้มันเป็นสภาวะ เป็นปรมัตถ์ที่มีจริง

          แต่พอเรากำหนดเพ่งไป มันกลายเป็นรูปร่างขา เป็นขา เป็นแขน นี่เป็นบัญญัติแล้ว ถ้าปรมัตถ์มันจะอยู่แค่รู้สึกตึง หย่อน ทางกายก็จะมีเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อน แข็ง หย่อน ตึง สบาย ไม่สบาย เหล่านี้เป็นสภาวะปรมัตถ์

          แล้วก็ยังมีปรมัตถ์ทางใจ ก็คือความนึกคิด นี่เป็นจริง คิดโน่นคิดนี่ คิดเรื่องราว แต่ว่าเรื่องราวที่มันเป็นอารมณ์ของจิตที่จิตมันล้วงขึ้นมา นึกล้วงมาเรื่องอดีต เรื่องอนาคตเหล่านั้นมันเป็นสมมติหมด แต่ความคิดนึกมันเป็นปรมัตถ์ เป็นของจริง

          เวลาเขาเจริญวิปัสสนา

          เขากำหนดดูของจริง เขาก็จะกำหนดมาที่ความคิด กำหนดมาที่ความรู้สึกที่กาย ความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง สบาย ไม่สบาย แล้วในจิตใจนี้นอกจากจะมีความคิดแล้ว มันยังมีความรู้สึก สบายก็มี ไม่สบายก็มี ในจิตมันจะมีอยู่ มีเวทนา สบายใจ ไม่สบายใจ ดีใจ เสียใจ เฉยๆ นี่เป็นปรมัตถธรรม

          แล้วบางทีมันก็มีสังขารที่ปรุงแต่ง ให้เกิดความวิตก วิจาร วิจัย สงสัย พอใจ ไม่พอใจ โลภ โกรธ หลง ศรัทธา เมตตา กรุณา อย่างนี้คือสังขาร เป็นปรมัตถธรรม เจริญวิปัสสนาก็จะต้องเข้าไปรู้ ๆ สภาพธรรมสิ่งเหล่านี้

          ใหม่ๆ เราจะสัมผัสมันไม่ถูก 
         (บทความที่เกี่ยวข้อง "ฝึกสติ ตามลำดับ 4 ขั้นตอน")

          เขาจึงต้องเริ่มฝึกจากการดูทางกายไปก่อน เริ่มดูความเย็น ความร้อน ความตึง ความหย่อน ความไหวทางกายให้เก่งทั่วตัว แล้วก็จะเชื่อมไปดูใจได้ ไปดูความคิด ไปดูความรู้สึก ใจรู้สึกสบาย ไม่สบาย สงบ ไม่สงบ ขุ่นมัว ผ่องใส เหล่านี้เป็นการเจริญวิปัสสนา

          ขยายออกไปเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นที่เป็นปรมัตถ์ ทางหูก็แค่เสียง เสียงดัง ๆ ได้ยิน นี่เป็นปรมัตถ์ พอเลยไปเป็นคน สัตว์ สิ่งของ เป็นบัญญัติแล้ว ทางจมูกก็แค่กลิ่น รู้กลิ่น นี่เป็นปรมัตถ์ ถ้าเลยไปเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ก็เป็นบัญญัติ

          เวลารับประทานอาหาร ที่เป็นปรมัตถ์ก็แค่รส รสชาติ รู้รส เป็นปรมัตถ์ เลยไปเป็นสิ่งของ แกงนั้นแกงนี้ เป็นบัญญัติ ทางตาก็แค่เห็น แค่สี แค่เห็นนี่เป็นปรมัตถ์ เลยไปเป็นรูปร่าง ความหมาย คน สัตว์ สิ่งของ เป็นบัญญัติ

          ฉะนั้นถ้าหากว่าเราไม่ได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไม่รู้จักเลยปรมัตถธรรม เวลาเรามองอะไร เราก็มองเป็นสัตว์ บุคคล พอเราได้ฟังอะไร เราก็ฟังเป็นสัตว์เป็นบุคคลไปหมด เราสัมผัสที่กายก็เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นรูปร่าง ความหมาย เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา เป็นหญิงเป็นชาย มันก็ตกอยู่ในความไม่รู้อยู่อย่างนี้เรื่อยไป ตกอยู่ในสมมติ หลงอยู่ในสมมติ หลงในความเป็นตัวเราของเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล มันก็เกิดกิเลส ทำชั่ว ทำกรรม มันก็หมุนเวียนอย่างนี้ มันไม่สามารถจะออกจากวัฏสงสารได้เพราะความไม่รู้ ความไม่รู้มันทำให้หมุนวนหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายตายเกิด

หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
ถอดเทปธรรมบรรยาย คุณจุฑาทิพย์ หิรัญญสัมฤทธิ์