Recent Posts

ลิ้นปี่ [หลวงพ่อจรัญ]


          มันจะปวดแค่ไหนก็ให้กำหนดปวดไปแค่นั้น เราจะปวดมากแค่ไหนวันข้างหน้ามันจะปวดมากกว่านั้น เมื่อถึงคราวที่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยขนาดไหนเราก็จะสามารถอดทนได้สำคัญที่พองหนอ ยุบหนอ บางคนไม่พอง หายใจยาว ๆ ให้ท้องพองให้ได้

          วิธีฝึกให้เคยชินให้นอนหงายลง เอามือประสานบนท้อง แล้วภาวนาพองหนอ ยุบหนอ นาน ๆ เข้าก็จะเคยชินไปเอง พอได้แล้วก็จะคล่อง

          ที่ อาตมาบอกให้กำหนดที่ลิ้นปี่ อาตมาได้ประสบการณ์จากตอนที่คอหัก ตอนนั้นจะมีความรู้สึกที่ตรงลิ้นปี่ ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายไม่มีความรู้สึกเลย และลมหายใจที่จมูกไม่มี เหมือนถูกฟันคอขาดไปแล้ว เพราะกระดูกข้อที่สามมันหลุด คอก็พับไปแต่หนังมันดึงไว้ เส้นประสาทมันไม่ติดต่อ หัวใจสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงสมองไม่ได้ อาตมารู้สึกถึงความทรมานที่สุด อาตมาจึงหายใจทางสะดือได้

          สะดือมีความสำคัญกับการพองหนอยุบหนอมาก สติจะรู้ที่ลิ้นปี่ จะรู้ทุกระยะ ตาลืมขึ้นมามองเห็นเป็นหมอกเต็มไปหมด หูก็ได้ยินแว่ว ๆ คนพูดอยู่ใกล้ ๆ เหมือนพูดอยู่ไกล ๆ แสดงว่าสังขารตายแล้ว เหตุใดอาตมาจึงหายใจทางสะดือได้ บอกไปอย่างนี้ใครเขาจะเชื่อ ถ้าไม่มีประสบการณ์เอง

          เหมือนนายแพทย์ที่สิงห์บุรีรู้ว่าอาตมาหายใจทางสะดือเพราะเลือดเต็มจมูก เต็มคอ หายใจคล่องคือพองหนอ ยุบหนอตลอด อาตมาก็ไม่รู้ว่าหายใจทางสะดือ รู้สึกตัวที่ตรงลิ้นปี่ เพราะฉะนั้นคนที่จะตายนั้น พองหนอยุบหนอยังอยู่ สติจะควบคุมจิตอยู่ที่ลิ้นปี่นี้แน่ บางคนบอกว่าตายตั้งแต่หัว หรือตายลงตายขึ้นนั้นไม่จริง และลมหายใจที่จมูกไม่มีกลับไปมีที่สะดือ แต่หัวใจยังไม่หยุดเต้น มันยังสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้ แต่ไม่ไปเลี้ยงสมอง เพราะคอหักพับไปแล้ว โลหิตจึงลงไปข้างล่างแล้วไปดันที่สะดือ สะดือจึงหายใจได้

          เพราะฉะนั้น พองหนอ ยุบหนอ นั้นแน่นอนที่สุด อาตมาก็สำนึกสมัญญาได้ว่า ลิ้นปี่สำคัญมาก ตาก็มองไม่เห็นและก็ไม่รู้สึกว่าปวด อาตมามีความรู้สึกเมื่อตอนรถเข็นคนไข้ตกร่องประตูทางเข้า ถึงรู้สึกแล้วก็ปวดกันเลย ส่วนหัวนั้นเมื่อตอนที่คอหักพับเลือดไม่ไปเลี้ยงจะมีสีดำทั้งหัว พอเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงแล้วกลับขาว

          จึงขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติพองหนอยุบหนอให้เคย พอนอนหลับก็จะพองหนอยุบหนอเอง มีสติอยู่ตลอดเวลาจะไม่ฝันร้าย ถ้าฝันก็จะเป็นเรื่องจริง ลิ้นปี่นี้สำคัญมาก ถ้าเราโกรธอย่าลืมตรงนี้ และคนเรานี้กลิ่นตัวไม่เหมือนกัน ลมหายใจไม่เหมือนกัน อารมณ์เหมือนกันไม่ได้ เพราะว่ากิเลสไม่เท่ากัน ทิฎฐิสามัญญตาไม่เหมือนกันทุกคน หายใจสั้นยาวไม่เหมือนกัน คนมีโทสะจะหายใจสั้นและกระตุกด้วย กลิ่นตัวก็เหม็น และพอเรามาทำกรรมฐานหายใจยาว ๆ กลิ่นตัวจะเปลี่ยน ไม่ใช่กลิ่นเหงื่อ ซึ่งกลิ่นเหงื่อก็มีเหมือนกันทุกคน คนที่กินเจกินแต่ผักกลิ่นตัวจะไม่เหม็น คนที่กินของคาวกลิ่นตัวจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง คนที่โมโหร้ายถ้าไม่มานั่งกรรมฐานเลย จะไปกินเลือดกินเนื้อ เป็นโจรปล้นฆ่าคนอื่น เหมือนตัวอย่างโจรที่หนีไปอยู่กลางป่าที่สุพรรณบุรี

          ตอนนั้นอาตมาเพิ่งบวชใหม่ ๆ ได้ไปที่บ้านเสือเข้า เป็นบ้านใหญ่โต ภรรยาเขาก็เอาข้าวไปส่ง แต่ไปส่งไม่ได้ เพราะตำรวจล้อมไว้อยู่เป็นเดือน คน ๆ นี้ใครมองหน้าไม่ได้ต้องฆ่าทันที แล้วโจรคนนี้ก็อยู่ในป่าซึ่งมีแต่ผักหญ้าต่าง ๆ พอมืดก็จะออกมาเก็บผักบุ้งไปกิน ข้าวก็ไม่มีกิน กินแต่ผัก ก็อยู่ได้เป็นเดือน เขาก็เล่าให้อาตมาฟังว่า เมื่อก่อนนี้เขาใจดำอำมหิตมาก ตอนที่อยู่ในป่าเขาก็ไม่ได้สวดมนต์ไหว้พระ เขาไม่มีธรรมะ ฆ่าคนตายเป็นจำนวนมาก พอไปอยู่ในป่าไม่ได้กินเนื้อสัตว์เลย กินแต่ผัก ขุดมันนกกินทุกวัน กินผักบุ้งเป็นกำ ๆ ตาที่เคยมองไม่ค่อยเห็นเพราะเป็นต้อก็กลับมองเห็นได้ดี และทำให้อารมณ์ดีได้ ความที่เป็นคนใจดำอำมหิตโหดร้ายก็หายไป เสือคนนี้คือลูกน้องเสือฝ้าย สุพรรณบุรี อาตมาไปบ้านเขามา ตอนนั้นคดีเขาก็หมดแล้วเขาจึงเล่าให้ฟัง พอต่อมาเขาก็บวชเป็นสมภารเจ้าวัด ขณะนี้ตายไปแล้ว

          พระพุทธเจ้าสอนให้เราดูตัวเอง ให้ใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ ที่เรามาปฏิบัตินี้ก็เพื่อมาดูตัวเอง เพื่อพัฒนากาย พัฒนาจิต ตั้งสติอารมณ์ การปฏิบัติต้องผ่านความยากลำบาก เพื่อที่จะได้รู้ว่าทุกข์ของเราเป็นเช่นนี้แหละหนอ คนอื่นก็มีทุกข์เหมือนกับเรา คนที่ไม่เคยปฏิบัติกรรมฐานจะไม่เห็นว่าทุกข์เป็นอย่างไร

          ผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติกรรมฐาน เรียนแต่วิชาการ เรียนแต่ธรรมะอย่างเดียวจะไม่รู้จริง ความรู้จริงก็คือความรู้จากการเจริญกรรมฐาน เมื่อรู้จริงแล้วเราจะได้แก้ไขปัญหาได้

          เรามานั่งก็เป็นทุกข์ ปวดเมื่อยทั่วสรรพางค์กาย เราแก้อย่างไร ก็โดยกำหนด ทุกข์หนอ ปวดหนอ แล้วตั้งสติอารมณ์ไว้ เราจะได้รู้ว่ามันทุกข์แค่ไหน เข้าไปถึงจิตใจเราอย่างไร เราแก้ทุกข์ตรงนี้ได้แล้วเราจะรู้ทุกข์ของคนอื่น ถ้าจิตไม่สงบ พลุ่งพล่าน ก็จะไม่เกิดปัญญา

          สาเหตุที่จิตไม่สงบมี ๘ ประการ

          ๑. มีไม่พอ ดิ้นรนตะเกียกตะกาย
          ๒. เวลาว่างมากเกินไป คิดแต่เรื่องเหลวไหล อย่าอยู่ว่างต้องให้จิตมีงาน คือ เจริญกรรมฐาน จะได้รับผิดชอบหน้าที่การงานที่มีอยู่
          ๓. ถูกเบียดเบียนจิตใจ
          ๔. อวัยวะตั้งอยู่ในความไม่ปกติ ธาตุทั้ง ๔ ไม่สมดุล
          ๕. โรคภัยเบียดเบียน
          ๖. สิ่งแวดล้อมดึงไปในทางชั่ว
          ๗. ครอบครัวไม่มีความสุข ทะเลาะวิวาทกันอยู่เสมอ
          ๘. มัวเมาอบายมุข

นัตถิ  สันติปะรัง  สุขัง  –  สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี

          สิ่งที่เราทำอยู่นี้เป็นการทำความสงบ   ความสงบเป็นความสุข  ที่เราวุ่นวายฟุ้งซ่านเป็นความทุกข์   ทุกข์กายทุกข์ใจ   ถ้าจิตสงบลงเมื่อไรกายก็เป็นสุข    จิตก็เป็นสุข   โรคภัยไข้เจ็บก็หายไปด้วยอย่างน่าอัศจรรย์

          เหตุที่จิตไม่เป็นสมาธิมีอยู่   ๗   ประการ

          ๑.นั่งไม่ถูกวิธี
          ๒.ไม่กำหนดรู้อารมณ์
          ๓.จิตวิตกกังวล
          ๔.มีโรคประจำตัว
          ๕.ราคะเกิด
          ๖.โทสะเกิด
          ๗.อารมณ์มากระทบอย่างแรง   จะทำสมาธิไม่ได้เลย  ถ้าจิตไม่สงบ

         คนเราเลือกเกิดเลือกตายไม่ได้ แต่เลือกสร้างความดีได้ เรามาสร้างความดี โดยเดินจงกรม  นั่งกรรมฐาน มาดูตัวเราเอง เพื่อที่จะอ่านตัวออก บอกตัวได้ ใช้ตัวเป็นเกิดปัญญาเอาไปใช้บริหารงานของเราตามหน้าที่และความรับผิดชอบ งานการก็จะเจริญรุ่งเรือง

          วิชาทางโลกมีมากมายเรียนไม่รู้จักจบ วิชาทางธรรมเรียนแล้วทำเลยปฏิบัติเลย จนชำนาญ วิชาทางโลกนั้นเราเรียนแล้วก็ช่วยเราให้เป็นสุขไม่ได้  และก็เรียนไม่จบเสียด้วย วิชาทางธรรมเรียนแล้วปฏิบัติ  ทำให้ชัดเจนจะพบประสบสุขแล้วชีวิตเราจะเป็นแก่นสาร

          ถ้าอาตมาไม่ได้เจริญกรรมฐานมาตั้งแต่บวชใหม่ ๆ  คงคอหักตายหรือแขนหักเป็นคนพิการ   หรือฟ้าผ่าตายไปแล้ว   ธรรมชาติลงโทษที่อาตมาได้สาบานกับยายไว้   เพราะเสียสัจจะ   แต่อาตมามีความดี  จึงแก้ร้ายกลายเป็นดีได้

          เวลาปฏิบัติปวดแทบตาย   น้ำตาไหลก็ต้องทนให้ได้  แต่พอเรารู้จริงแล้วมันก็จะไม่มีปัญหาเลย  สามารถแก้ปัญหาได้   คนรู้ไม่จริงแก้ปัญหาไม่ได้   ซ้ำร้ายสร้างปัญหาให้ตัวเอง  ถ้าเรามีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  บ้านของเราจะเป็นบ้านแสนสุข

          บางครั้งคนเราจิตพลุ่งพล่านฟุ้งซ่าน   เพ้อฝันถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เราอยากได้   มันก็คลุ้มคลั่งไปตามสภาพของจิต   การที่จะทำให้จิตนิ่งและมีสมาธินั้นยาก   ต้องตั้งใจฝึกปฏิบัติจึงจะได้ผล   อาตมาเคยพูดอยู่เสมอว่า   เราจะมีสติอยู่สัก   ๕   นาทีก็แสนจะยาก   ยากเพราะจิตอยู่กับที่ไม่ได้   มันฟุ้งซ่าน  มาทำให้จิตอยู่กับที่   เรื่องเก่าก็มาปรากฏขึ้น   มันปรากฏขึ้นมาในขณะที่เราเดินจงกรมแล้วเกิดสมาธิ   เรื่องโน้นเรื่องนี้ที่เราเคยลืมไว้ในอดีตมันจะโผล่ขึ้นมาให้เราคิดถึง   ถ้าเราทำงานเพลิน ๆ ที่เราชอบ    เรื่องพวกนี้จะไม่โผล่มาให้เราคิด   แต่ถ้าเราสำรวมจิตสำรวมกายให้มันอยู่ที่   พอมีสติบ้างพอมีสมาธิบ้าง   เรื่องเก่าปรากฏออกมาเลย   อย่าเข้าใจผิดคิดว่าทำสมาธิไม่ได้ผล   แต่แท้ที่จริงแล้วมันได้ผล   เมื่อปรากฏขึ้นแล้วให้เรากำหนด  “คิดหนอ”   พอทำนานเข้า  สติเราครบ  สมาธิตั้งมั่น  ความคิดจะปรากฏชัดว่าเรื่องในครั้งอดีตมาแล้วนั้นไม่ควรจะคิด     คำว่าไม่ควรคิดจะเกิดขึ้นเอง    ไม่ใช่เราไปนึกว่าอย่าไปคิดมันนะ    บางทีเราไปฟังวิทยากรว่า   “อย่าไปคิดเรื่องเก่า   เอาแต่ปัจจุบัน”   มันก็ถูก   แต่โดยวิธีปฏิบัติแล้วไม่ให้คิดไม่ได้   โดยธรรมชาติจะต้องคิดตลอด   คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้

          เรามาเจริญกรรมฐานเมื่อสติดีสมาธิดีแล้ว  เรื่องเก่ามันจะปรากฏออกมา  พอเรากำหนด  “คิดหนอ ๆ”  “รู้หนอ ๆ”  ที่ลิ้นปี่  เรื่องที่ปรากฏออกมาก็จะหายไป  แล้วเรื่องอื่นก็จะปรากฏออกมาอีก  จิตจะเป็นอย่างนี้เสมอ

          เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านกำหนด  อย่าปล่อยให้เรื่องผ่านไปเฉย ๆ  ถ้าเราปล่อยผ่านไปโดยไม่กำหนดมันก็จะปรากฏขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ เรื่องที่เป็นกุศล เป็นอกุศล ปัญญาจะบอกเราเองว่ามนุษย์เราก็เป็นอย่างนี้  ให้นึกเอาแต่ปัจจุบัน อดีตก็ผ่านไปแล้ว อนาคตก็ยังอยู่อีกไกล  เราจะทำงานให้เป็นตามที่เราคิดได้หรือไม่ได้   ตัวปัญญาจะช่วยบอกเราเอง ปัญญาซึ่งเป็นตัวรู้จะฝังอยู่ในจิตใจเรา   จะให้จำแต่สิ่งที่ดี   สิ่งที่ไม่ดีมันจะคัดออกไป  ซึ่งเรียกว่า “แยกแยะ” คิดอย่างแยกแยะ  แยกแยะสิ่งที่ไม่ดีในใจหรือบาปในใจออกไป

          เวลาทำกรรมฐานนั้นครูสอบอารมณ์เขาจะไม่บอกล่วงหน้าว่านี่ญาณอะไร   เป็นอย่างไร   เพียงแต่ถามอาการที่เกิดขึ้น   พอบอกอาการจะรู้สภาวธรรมที่เกิด   ครูอาจารย์เขารู้แล้วว่าเราได้ญาณอะไร ได้ถึงตรงไหน   บางทีเรารู้สึกว่าทำไม่ได้เรื่องได้ราว   นั่นแหละที่จริงได้เรื่องแล้ว   แต่เราไม่รู้ว่าได้เรื่อง    ถ้าเราทุกข์ปวดเมื่อยแสนสาหัสเราต้องกำหนดไว้ให้ได้ ทุกสิ่งเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป  จะได้แยกเวทนาออกไป

          จิตนั้นไม่มีตัวตน แม้เราสละร่างกายสังขารถึงแก่กรรมไปแล้ว  สังขารทั้งหลายก็ต้องเสื่อมก็ต้องเน่าไปตามสภาวะ  แต่จิตเน่าไม่ได้  จิตไม่ตาย  มันก็เดินทางต่อไป จิตนี้อายุเป็นหมื่น ๆ ปี   เหมือนอย่างเราเมื่อชาติก่อนเราเคยเป็นอะไร  อยู่ที่ไหน  จิตดวงนั้นแหละ  แต่มันมีกระแส  ๑๒๑  อารมณ์   เราถึงได้รู้   ถ้าหากว่าจิตดวงไหนมันหมุนเข้าไป  พอเทปมันหมุนมา   ถึงแม้เราไม่ทำสมาธิเราก็ระลึกชาติได้ว่าเราเคยไปที่ไหน  เรามักจะฝันถึงเรื่องที่อยู่ในเทปอันนี้  มันบอกในฝัน

          ความฝันนี่ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล  แต่ที่ฝันมันเป็นจิตเหลวไหล  อารมณ์ไม่ดี  ธาตุทั้ง  ๔   ไม่สมดุล  ก็ฝันเหมือนกัน  แต่เป็นฝันที่ไม่ใช่เรื่องจริง  ที่ฝันเรื่องจริงก็คือที่ออกมาจากเทปที่อัดไว้ในชาติก่อน ๆ   ถ้าปฏิบัติถึงขั้นแล้วเราจะรู้หลาย ๆ อย่าง  อย่างที่เรามาปฏิบัติ  ๒  วันนี้ จะรู้

          - อย่างแรกก็คือเวทนา  
          - อย่างที่  ๒  คือจิตหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนไปตามสภาวะมันจะไม่คงที่  เช่น  นั่งคราวนี้ได้อย่างนี้   พอนั่งคราวใหม่ก็ได้อย่างใหม่อีกแล้ว  มันผันแปร  ถ้าจิตเราจับได้ กำหนดได้  มีสติครบ   และสภาวธรรมจะเกิดขึ้น   เราถึงจะจับได้ว่ามันผันแปรไม่แน่นอน  เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา   เวลาปวดมากให้อดทน  กำหนดให้ได้  อย่าไปเปลี่ยนอิริยาบถนั้น

          ขอให้ทุกคนพยายามปฏิบัติ   ให้กินน้อย   นอนน้อย   พูดน้อย   ทำความเพียรให้มาก   หมั่นฝึกฝน   เมื่อทำได้เราก็เก็บรวบรวมผลงานไว้   จะได้ผลต่อไปในภายหน้า  หากมีปัญหาเราก็จะแก้ไขได้ง่าย