Recent Posts

เจริญสติ กรรมฐานต่างๆ [พระอาจารย์ธาดา]


อานาปานสติ   (กรรมฐานที่ใช้ลมหายใจ) เป็นกรรมฐานที่อยู่กาย

          เป็นการใช้ลมหายใจในการเจริญภาวนา กรรมฐานตัวนี้มีการใช้อย่างแพร่หลาย ผู้เป็นวิปัสสนาจารย์อาจแนะนำเหมือนกันบ้าง หรือแตกต่างกันไปบ้าง   แต่หลักสำคัญคือ ใช้ลมหายใจเป็นหลักนั่นเอง การฝึกหรือการใช้กรรมฐานตัวนี้ อาตมาจะแนะนำพอเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้ดังนี้

          การใช้อานาปานสติ ในการเจริญสติและสมาธิ
          เมื่อต้องการเจริญสติและสมาธิ  โดยใช้กรรมฐานนี้ ให้กำหนดดูที่จุดใดจุดหนึ่งของร่างกายที่เป็นผลต่อเนื่องจากลมหายใจ เช่น จุดที่ลมหายใจกระทบได้แก่ปลายจมูก หรือ จุดที่แสดงผลอันเป็นเกิดจากลมหายใจ ได้แก่ ท้อง

           หลักการสำคัญในปฏิบัติ
           ผู้ภาวนาจะต้องกำหนดดูจุดที่ตัวเองเห็นชัดเจน และถือว่าจุดนั้นเป็นจุดของฐานจิต แล้วให้กำหนดรู้สภาวะ การเข้า หรือ ออกของลมอยู่ตลอดเวลา หรือ อาจจะมีคำบริกรรม กำกับด้วยก็ได้ เช่น พุทโธ  , ธัมโม ,สังโฆ หรือ อะไรก็ได้ให้มีความสัมพันธ์กัน กับจังหวะการหายใจ  แต่ที่สำคัญจะต้องรู้ถึงจังหวะการเข้า-ออก ของลมหายใจตลอดเวลา ถ้าสติสัมปชัญญะ (การระลึกรู้)หรือความรู้สึก หลุดออกจากลมหายใจ ให้รีบกำหนดใหม่ทันที

          ข้อควรระวัง
          เมื่อใดก็ตามที่เกิดอาการทางกาย เช่น  ตัวเบา , ร่างกายขยายใหญ่ขึ้น , ร่างกายหดเล็กลง หรือ ลมหายใจหายเริ่มจะหมดหรือเบาลง  ให้รีบตั้งสติและกำหนดรู้ที่ฐานจิตใหม่ เพราะอาการนั้นเกิดจากการที่สติเปลี่ยนระดับ ทำให้จิตเข้าสู่องค์ฌาน  ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้องเพราะเราต้องการใช้กรรมฐานในการเจริญสติและสมาธิ ไม่ใช่เจริญหรือฝึกเข้าฌาน  และถ้าหากจิตออกจากองค์ฌานไม่ได้ ก็จะเกิดผลเสีย คือทำให้อาการเบลอ ๆ และสติจะอ่อนลง เหมือนคนนอนไม่เต็มที่ สุดท้ายจะเกิดอาการที่เรียกว่า วิปลาส ได้  และนี่เองที่ผู้ภาวนาจำนวนมากเข้าใจผิด คิดว่าตัวเองภาวนาก้าวหน้า  แต่แท้จริงแล้วไม่ถูกกับจุดประสงค์ของการภาวนาเพื่อเจริญสติและสมาธิให้สูงขึ้นเลย

          หมายเหตุ
          การใช้กรรมฐานในการภาวนาเพื่อ เจริญสติและสมาธิ... ควรอยู่ในท่าการนั่ง  จะหลับตา หรือ ไม่หลับตา  ก็ได้   แต่ถ้าหลับตา ควรระวังจิตจะวิ่งเข้าสู่องค์ฌาน และ นั่งหลับ หรือ สัปหงก

_________________________________________

กสิณ(ไฟ)  ที่แนะนำให้ใช้ในการภาวนาเพื่อเจริญสติและสมาธิ

          การฝึกกสิณในที่นี้ อาจจะไม่เหมือนกับที่ หลาย ๆ คนได้ทราบมาจากตำราหรือจากที่เคยได้ยินได้ฟังมา เพราะอาตมาผู้เขียนได้แนะนำตามที่ตัวเองเคยได้ปฏิบัติมา และได้แนะนำให้ลูกศิษย์ฝึกจนได้ผลดีต่อการภาวนามาแล้ว ส่วนการฝึกหรือการปฏิบัติในที่อื่น ๆ  นั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอย่างไร  ได้ผลอย่างไร ถูกหรือผิด จะไม่ขอพูดถึง เพราะไม่มีประโยชน์อันใด  ดังนั้นจะแนะนำตามที่รู้เห็นจากการที่ตัวเองปฏิบัติมา และได้แนะนำให้ผลอื่นปฏิบัติมาแล้ว จนเกิดผลดีในการภาวนาด้านนี้เท่านั้น

       1.   กสิณไฟ ผู้ปฏิบัติจะต้อง การเพ่งดูเปลวเพลิง ในการปฏิบัตินั้น เมื่อเราต้องการที่จะฝึก กสิณไฟ หรือ ต้องการใช้กสิณไฟ ในการเจริญ สติ และ สมาธิ เราจะต้องมองดู ดวงไฟ หรือ เปลวไฟ เพื่อให้เกิดสัญญา (ความจำได้) ว่า เปลวไฟนั้นมีลักษณะอย่างไร  เช่น  เปลวเทียน หรือ เปลวไฟที่เกิดจาก กองไฟ  หรือหลอดไฟฟ้า  ไฟฉาย ก็ได้
     
           ขั้นตอนการฝึก
     1.   ให้จ้องดูเปลวไฟ (ถ้ามีเปลว) หรือแสงไฟ(หลอดไฟหรือไฟฉาย  ประมาณ อึดใจหนึ่ง
     2.   ให้หลับตาลง  ก็จะปรากฏแสงสว่างในดวงตา แล้วเพ่งมอง จนแสงนั้นรวมกัน และจะเป็นดวงไฟเล็กลงไปเรื่อย ๆ  จนเห็นดวงไฟนั้นมีแสงจ้าสีส้มชัดเจน แล้วให้ลืมตาขึ้น
     3.   ให้จำลักษณะของดวงไฟที่เล็กและมีแสงจ้านั้นให้ได้ทั้งขนาดและลักษณะตลอดจนสี  แล้วให้ตั้งภาพนั้นไว้ในจิต  โดยไม่ต้องหลับตา
     4.   ให้ระลึก หรือ ตั้งภาพนั้นจนชำนาญ คือ กำหนดเวลาใด ก็ให้เห็นภาพนั้นในจิตของเรา และให้ทำเรื่อย ๆ  (เหมือนเราบริกรรม พุทโธ ) แต่นี่เป็นการตั้งดวงกสิณ จึงไม่ต้องบริกรรม
     5.   เมื่อเราตั้งได้ดีแล้วหรือชำนาญแล้ว ก็สามารถที่จะนั่งหลับตา และกำหนดกสิณนี้ได้ ถ้าดวงกสิณอยู่นานเท่าใด แสดงว่า เรามีสติและสมาธิยาวในระดับนั้น  (การฝึกแบบนี้ จะนำไปสู่การเจริญสมถะ และวิปัสสนาขั้นสูง ได้ดีต่อไป)

            หมายเหตุ
            ระวังอย่าให้จิตเข้าสู่ องค์ฌาน เพราะการฝึกในระดับนี้เพื่อการเจริญสติและสมาธิเท่านั้น ยังไม่ได้ฝึกเพื่อเจริญฌาน หรือ เจริญในวิปัสสนา
            ดังนั้น การฝึกในขั้นนี้จึงจำเป็นต้องเห็นเห็นดวงกสิณอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดเกิดอาการทางกาย เช่น  เกิดอาการชา หรือ รู้สึกว่า ตัว เบา สูง ขยาย หรืออะไรก็ตาม แสดงว่า สติเราอ่อนลง ทำให้จิตเคลื่อนเข้าสู่ฌาน ก็ให้รีบหายใจเข้า – ออก ยาว ๆ  ประมาณ ห้าหรือหก ครั้ง ก็จะทำให้สติกลับมาอยู่ในระดับเดิม แล้วเริ่มต้นทำใหม่

_________________________________________

อโลโก กสิณ (อาโลกสิณ)  ...กรรมฐานที่เกิดขึ้นที่จิต

                กสิณชนิดนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับกสิณไฟ จะแตกต่างก็ตรงที่ กสิณไฟจะจับเอาเปลวไปเป็นอารมณ์ หรือ อาศัยแสงไฟโดยตรงในการเพ่ง  แต่อาโลกสิณจะอาศัยหรือจับเอาที่ความสว่างเป็นอารมณ์ โดยไม่เกี่ยวข้องกับเปลวของไฟ และขั้นตอนการฝึกนั้นก็จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน  โดยที่กสิณไฟนั้นจะเพ่งเอาเปลวไฟ จนเกิดสัญญาเกี่ยวกับเปลวไฟที่เพ่ง ส่วนอาโลกกสิณนั้นจะเพ่งเอาความสว่าง แล้วจับเอาสัญญาแห่งความสว่างนั้น

              ผู้ที่สมควรฝึกอาโลกสิณ
             ผู้ที่สมควรนำกรรมฐาน อโลโกกสิณมาใช้ในการภาวนานั้น ควรมีจริต หรือ ลักษณะของจิตโดยทั่ว ๆ ไปดังนี้
                  1. ผู้ที่มีนิมิตเกิดขึ้นในจิต เมื่อฝึกได้ดีแล้วและสติอยู่ในระดับสูง สามารถควบคุมนิมิตได้ จะทำให้นิมิตต่าง ๆ หายไป
                  2.  ผู้ที่มักจะเห็นกายทิพย์ หรือรูปละเอียดเสมอ ๆ  ซึ่งบางที ก็เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตาฝาด เห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนบ่อย ๆ
                  3.   ผู้ที่ชอบฝึกเกี่ยวกับเรื่องของอิทธิฤทธิ์ โดยเฉพาะ เรื่องตาทิพย์

             ขั้นตอนการฝึก อโลโก กสิณ
                 1.   ผู้ฝึกจะต้องเพ่งเอาความสว่างของแสง  เช่น ลำแสงของไฟฉาย  ความสว่างของดวงไฟต่าง ๆ สักระยะหนึ่งชั่วอึดใด
                 2.    หลังจากเพ่งแล้วก็ให้หลับตาลง  ก็จะเห็นความสว่างหรือจะปรากฏ ความสว่างเกิดขึ้นให้มองเห็นอย่างชัดเจน  เมื่อเห็นความสว่างแล้วอย่าเพ่งนาน ให้จำเอาความสว่างนั้น แล้วก็ระลึกภาพ หรือ ตั้งภาพความสว่างนั้นไว้ในจิต ให้นานที่สุด
                3.   ให้ระลึกหรือตั้งภาพนั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าดับลงก็ให้ตั้งใหม่ไปเรื่อย ๆ   โดยไม่ต้องหลับตา หรือ บริกรรม อะไร
               4.    ให้ระลึก หรือ ตั้งภาพนั้นจนชำนาญ คือ กำหนดเวลาใด ก็ให้เห็นภาพนั้นในจิตของเรา และให้ทำเรื่อย ๆ  (เหมือนเราบริกรรม พุทโธ ) แต่นี่เป็นการตั้งดวงกสิณ จึงไม่ต้องบริกรรมอะไร
               5.  เมื่อเราตั้งได้ดีแล้วหรือชำนาญแล้ว ก็สามารถที่จะหลับตา และกำหนดกสิณนี้ได้ ถ้าดวงกสิณอยู่นานเท่าใด แสดงว่า เรามีสติและสมาธิยาวในระดับนั้น  (การฝึกแบบนี้ จะนำไปสู่การเจริญสมถะ และวิปัสสนาขั้นสูง ได้ดีต่อไป)[

            หมายเหตุ การฝึกอาโลกสิณ
            ระวังอย่าให้จิตเข้าสู่ องค์ฌาน เพราะการฝึกในระดับนี้ เพื่อการเจริญสติและสมาธิเท่านั้น ดังนั้น การฝึกในขั้นนี้จึงจำเป็นต้องเห็นดวงกสิณอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดเกิดอาการทางกาย เช่น  เกิดอาการชา หรือ รู้สึกว่า ตัว เบา สูง ขยาย หรืออะไรก็ตาม แสดงว่า สติเราอ่อนลง ทำให้จิตเคลื่อนเข้าสู่ฌาน ก็ให้รีบหายใจเข้า – ออก ยาว ๆ  ประมาณ ห้าหรือหก ครั้ง ก็จะทำให้สติกลับมาอยู่ในระดับเดิม แล้วเริ่มต้นทำใหม่

_________________________________________

กสิณลม  เพื่อใช้ในการเจริญสติ สมาธิ

            กสิณลม เป็นกรรมฐานอีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้แนะนำให้สาวกใช้ในการภาวนา  ผู้ใดก็ตามที่จิตฟุ้งหรือปรุงแต่งอย่างมากเมื่อฝึกกสิณลมแล้ว จิตจะสงบได้ง่าย กสิณลมเป็นการใช้สติระลึกฟังเสียงดังนั้น การฝึกกสิณลมจึงต้องอาศัยสถานที่สงบทางเสียง จึงจะได้ผลดี และกสิณลมนั้น เป็นกรรมฐานที่ใช้ในการเจริญสติและสมาธิได้ดีมาก แต่การฝึกต้องใช้ความเพียรมาก และสถานที่ฝึกจะต้องเหมาะสมจึงจะได้ผล

            ผู้ที่สมควรฝึกกสิณลม
            ผู้ที่สมควรจะฝึกกสิณลมจะต้องเป็นผู้ที่มีความเพียรสูงจึงจะได้ผล  และผู้ที่จะฝึกกสิณลมควรมีลักษณะดังนี้
           1.   ใช้กรรมฐานหรือฝึกกรรมฐานอย่างอื่นมาแล้วไม่ได้ผลเท่าที่ควร คือ ความฟุ้งของจิตยังเกิดขึ้นอย่างมากมายเหมือนเดิม จิตไม่สงบ   สติยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่สามารถหยุดการปรุงแต่งของจิตได้
           2.     เป็นคนที่ได้ยินเสียงแปลก ๆ  หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นคน “หูแว่ว” หรือ “หูฝาด” ได้ยินเสียงจากโลกทิพย์
          3. ผู้ที่ชอบฝึกเกี่ยวกับเรื่องของอิทธิฤทธิ์ โดยเฉพาะ เรื่องหูทิพย์
          4.  ผู้ที่สนใจในเรื่องการเจริญในสมถะขั้นสูง เพราะกสิณลมจะทำให้ผู้ฝึกรู้ระดับสติได้ดี สามารถกำหนดหรือตั้งสติในระดับต่าง ๆ ได้ดี จึงทำให้เข้าสู่องค์ฌาน หรือ เล่นวสีได้ง่ายและเร็วขึ้น
          5.  เป็นผู้มีความเพียร และ ความอดทนสูง

           วิธีการและขั้นตอนการฝึก กสิณลม  ผู้สนใจในการฝึกกสิณลม ควรปฏิบัติดังนี้

               การเลือกสถานที่
        1.  เลือกสถานที่สงบ ห่างจากผู้คน และไม่มีเสียงคนรบกวน
        2.  เลือกสถานที่มีลมพัดเข้าถึง หรือ เสียงน้ำตกเบา ๆ   ก็ได้

              ขั้นตอนการฝึก
        1.   ท่าในการฝึก ควรเป็นท่านั่งสมาธิ จะหลับตาหรือไม่ก็ได้ 
        2.   ให้เอาสติสัมปชัญญะ (ระลึกรู้) ไว้ที่หู เพื่อฟังเสียงใบไม้ที่ถูกลมพัด และระวังจิตจะเข้าสู่องค์ฌาน เมื่อใดที่เกิดอาการจิตสงบและเข้าสู่องค์ฌาน ให้รีบถอนจิตให้อยู่ในภาวะปกติ แล้วค่อยทำต่อไป  โดยให้ได้ยินเสียงที่เราจับนั้นตลอด
        3.   ถ้าเป็นเสียงน้ำตก ต้องเป็นเสียงดังที่ไม่แรง ให้แว่วพอได้ยินเท่านั้น แล้วให้เอาสติสัมปชัญญะ (ระลึกรู้) ไว้ที่หู เพื่อฟังเสียงน้ำตก อย่าให้เสียงนั้นดับจากการได้ยิน และระวังจิตจะเข้าสู่องค์ฌาน เมื่อใดที่เกิดอาการจิตสงบและเข้าสู่องค์ฌาน ให้รีบถอนจิตให้อยู่ในภาวะปกติ  แล้วค่อยทำต่อไป  โดยให้ได้ยินเสียงที่เราจับนั้นตลอด

              หมายเหตุ
              การฝึกกสิณลมในขั้นนี้ ระวังอย่าให้จิตเข้าสู่ องค์ฌาน เพราะการฝึกในระดับนี้ เพื่อการเจริญสติและสมาธิเท่านั้น ดังนั้น การฝึกในขั้นนี้จึงจำเป็นต้องให้ได้ยินเสียงที่เรากำหนดฟังอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดเกิดอาการทางกาย เช่น  เกิดอาการชา หรือ รู้สึกว่า ตัว เบา สูง ขยาย หรืออะไรก็ตาม แสดงว่า สติเราอ่อนลง ทำให้จิตเคลื่อนเข้าสู่ฌาน ก็ให้รีบหายใจเข้า – ออก ยาว ๆ  ประมาณ ห้าหรือหก ครั้ง ก็จะทำให้สติกลับมาอยู่ในระดับเดิม แล้วเริ่มต้นทำใหม่

_________________________________________

อสุภกรรมฐาน เพื่อใช้ในการเจริญสติ สมาธิ

             อสุภกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่จำเอาภาพจากข้างนอกแล้วมาตั้งภาพไว้ที่จิต  ตามคัมภีร์ท่านแบ่งอสุภกรรมฐานไว้ 10 อย่าง โดยการแบ่งตามลักษณะของศพที่ตาย ตั้งแต่ 1 วัน ถึง 10 วัน  เพราะศพคนที่ตายแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน การใช้อสุภกรรมฐานในการภาวนานั้น ตามตำราหรือคัมภีร์ ก็จะแนะนำวิธีการต่าง ๆ  ไว้  แต่ในหนังสือนี้ อาตมาผู้เขียน จะแนะนำตามที่ตนเองได้ฝึกมา และได้แนะนำให้ผู้อื่นฝึกตามจนได้ผลมาแล้ว  ดังนั้นจึงอาจจะแตกต่างจากในหนังสือหรือตำราอื่น ๆ  จะถูกหรือผิด ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจึงจะรู้ได้

            ผู้ที่สมควรฝึกอสุภกรรมฐาน
            ดังที่กล่าวมาแล้ว กรรมฐานต่าง ๆ  นั้นมีคุณประโยชน์อย่างมาก ที่จะทำให้ผู้ภาวนาเข้าสู่สภาวธรรมต่าง ๆ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ ตั้งแต่ระดับต้นถึงระดับสูงสุดในกระแสธรรม  แต่ที่สำคัญกรรมฐานแต่ละอย่างนั้น จะต้องเหมาะสม กับจริตนิสัย

            อสุภ หมายถึง สิ่งที่ไม่สวยงาม ในการเจริญภาวนานั้น จุดมุ่งหมายอันสูงสุด ก็คือ ความหลุดพ้น   ซึ่งนับเอาตั้งแต่หลุดพ้นชั่วคราว ไปจนถึงหลุดพ้นตลอดกาล  การหลุดพ้นนั้นคือ หลุดพ้นจากทุกข์    และเหตุของทุกข์นั้น ก็คือ สมุทัย เรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัณหา 3 อย่าง นั่นเอง อันได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิวภตัณหา และ  กามตัณหานี่เองที่มาเกี่ยวข้องกับ อสุภกรรมฐาน เพราะผู้ที่ติดในกามตัณหา ก็คือ ผู้ที่หลงใน รูป รส กลิ่น เสียง และ สัมผัส   ที่หลงในรูปก็เพราะเห็นว่ารูปนั้น เป็นของสวยงาม และ เป็นของเที่ยง 

             ด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้า ท่านจึงเอากรรมฐานตัวนี้มาแนะนำให้สาวกเจริญอสุภกรรมฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีจริตนิสัยไปในทาง กามราคะ  คือ ชอบ หรือ พอใจ ในความสวยงาม หรือ พูดอย่างหนึ่งก็คือ คนที่ติดใจในความสวยงาม ฝังอยู่ในจิตนั่นเอง  ดังนั้นใครก็ตาม ถ้ามีจริตนิสัยแบบนี้ ควรอย่างยิ่งที่จะใช้อสุภกรรมฐานมาใช้ในการเจริญภาวนา เพราะจะทำให้จิตสงบได้ง่าย กว่าการใช้กรรมฐานอย่างอื่น
            ขั้นตอนการฝึกอสุภกรรมฐาน
     1.  หาดูของจริง ซึ่งเป็นซากศพของคนตาย  หรือ ดูการผ่าศพจากโรงพยาบาล
     2.  ถ้าหาดูของจริงไม่ได้ อาจใช้รูปภาพแทนก็ได้
     3.  เมื่อได้ดูตามในข้อ 1 หรือ 2  แล้ว  ให้จำภาพนั้นให้ได้ แล้วให้ตั้งภาพนั้นไว้ในจิต  โดยไม่ต้องหลับตา
     4.  ให้ระลึก หรือ ตั้งภาพนั้นจนชำนาญ คือกำหนดเวลาใด ก็ให้เห็นภาพนั้นในจิตของเรา และให้ทำเรื่อย ๆ  (เหมือนเราบริกรรม พุทโธ ) แต่นี่เป็นการตั้งภาพของอสุภะ จึงไม่ต้องบริกรรมอะไร
     5.   เมื่อเราตั้งได้ดีแล้วหรือชำนาญแล้ว ก็สามารถที่จะหลับตา และกำหนดภาพอสุภะนั้นได้ ถ้าภาพนั้นอยู่นานเท่าใด แสดงว่า เรามีสติและสมาธิยาวในระดับนั้น  (การฝึกแบบนี้ จะนำไปสู่การเจริญสมถะ และวิปัสสนาขั้นสูง ได้ดีต่อไป)

            หมายเหตุ
            ระวังอย่าให้จิตเข้าสู่ องค์ฌาน เพราะการฝึกในระดับนี้เพื่อการเจริญสติและสมาธิเท่านั้น ดังนั้น การฝึกในขั้นนี้จึงจำเป็นต้องเห็นภาพอสุภะที่ตั้งขึ้นนั้นอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดเกิดอาการทางกาย เช่น  เกิดอาการชา หรือ รู้สึกว่า ตัว เบา สูง ขยาย หรืออะไรก็ตาม แสดงว่า สติเราอ่อนลง ทำให้จิตเคลื่อนเข้าสู่ฌาน ก็ให้รีบหายใจเข้า – ออก ยาว ๆ  ประมาณ ห้าหรือหกครั้งก็จะทำให้สติกลับมาอยู่ในระดับเดิม แล้วเริ่มต้นทำใหม่

_________________________________________

จตุธาตุววัฏฐาน

            จตุธาตุววัฏฐานกรรมฐาน  เป็นกรรมฐานที่กำหนดเอาส่วนของธาตุต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของร่างกาย ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม  และ ธาตุไฟ  ในที่นี้ จะแนะนำเอาเฉพาะที่อาตมาผู้เขียนเคยฝึกมา และได้แนะนำให้ลูกศิษย์ฝึกมาและได้ผลดีในการภาวนาเท่านั้น

            การตั้งภาพกระดูก   
            กระดูกจัดเป็น 1 ในหลาย ๆ อย่าง ของจตุธาตุววัฏฐานกรรมฐาน  เหตุที่เอา “การตั้งภาพกระดูก” มาแนะนำนั้น เพราะสมารถทำให้จิตสงบและทำให้ เจริญสติและสมาธิเป็นไปได้ดี  โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว การใช้กรรมฐานแบบนี้ มีลักษณะคล้ายกับอสุภกรรมฐาน จะแตกต่างกันก็คือ อสุภกรรมฐานเป็นภาพรวม ๆ ของร่างกาย แต่การตั้งภาพกระดูกนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดของกระดูกเท่านั้น

           ผู้ที่สมควรฝึกจตุธาตุววัฏฐานกรรมฐาน
           การฝึกหรือการใช้ จตุธาตุววัฏฐานกรรมฐาน ในการเจริญสติและสมาธินั้น  สามารถใช้ฝึกร่วมกับ กรรมฐาน อื่น ๆ ได้ เพื่อเป็นกรรมฐานเสริม หรือ จะใช้กรรมฐานหลักตัวเดียวก็ได้ กรรมฐานนี้ จะ มีประโยชน์มาก ในการเจริญวิปัสสนาขั้นสูง ต่อไป  ดังนั้นจึงสมควรฝึกไว้ โดยผู้ฝึกควรมีจริตนิสัยหรือมีจิตในลักษณะดังนี้   
    1.  ผู้ที่เห็นภาพ หรือ นิมิตเกิดขึ้นในจิต ในขณะที่จิตสงบจากความคิด(สมมุติบัญญัติ) ไม่ว่าขณะนั่งสมาธิ หรือท่าใด ๆ ก็แล้วแต่  
    2. ผู้ที่เห็นภาพต่าง ๆ ปรากฏขึ้นบ่อย ๆ (บางครั้งเรียกว่าตาฝาด)
    3.  ผู้ที่มักจะนอนฝันบ่อย ๆ
    4.  ผู้ที่มีความเชื่อหรือความสงสัยในฝันของตนเอง
    5. ผู้ต้องการฝึกอิทธิฤทธิ์ 
    6.  ผู้ที่ต้องการเจริญวิปัสสนาโดยการใช้นิมิตของกระดูก


          ขั้นตอนการฝึกจตุธาตุววัฏฐานกรรมฐาน
        1.   หาดูกระดูกคนตาย หรือ เป็นภาพกระดูกของมนุษย์ก็ได้ จะเป็นส่วนใดของร่างกายก็ได้ แต่ควรจะเป็นส่วนที่ใหญ่ เช่น กะโหลกศีรษะ กระดูกแขน   กระดูกขา  หรือ กระดูกหัวเข่าก็ได้  แล้วให้จำภาพนั้นให้ได้   ทั้งสี และ ลักษณะ
        2.   แล้วให้ตั้งภาพนั้นไว้ในจิต   โดยไม่ต้องหลับตา และให้ระลึก หรือ ตั้งภาพนั้นจนชำนาญ คือกำหนดเวลาใด ก็ให้เห็นภาพนั้นในจิตของเรา และให้ทำเรื่อย ๆ  (เหมือนเราบริกรรม พุทโธ ) แต่นี่เป็นการตั้งภาพกระดูก และไม่ต้องบริกรรมอะไร
และเมื่อเราตั้งได้ดีแล้วหรือชำนาญแล้ว   ก็สามารถที่จะ
หลับตา และกำหนดภาพกระดูกนี้ได้ ถ้าภาพที่ตั้งนี้อยู่นานเท่าใด แสดงว่า เรามีสติและสมาธิยาวในระดับนั้น  (การฝึกแบบนี้ จะนำไปสู่การเจริญสมถะ และวิปัสสนาขั้นสูง ได้ดีต่อไป)

         หมายเหตุ
         ระวังอย่าให้จิตเข้าสู่ องค์ฌาน เพราะการฝึกในระดับนี้ เพื่อการเจริญสติและสมาธิเท่านั้น  ดังนั้น การฝึกในขั้นนี้จึงจำเป็นต้องเห็นภาพกระดูกอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดเกิดอาการทางกาย เช่น  เกิดอาการชา หรือ รู้สึกว่า ตัว เบา สูง ขยาย หรืออะไรก็ตาม แสดงว่า สติเราอ่อนลง ทำให้จิตเคลื่อนเข้าสู่ฌาน ก็ให้รีบหายใจเข้า – ออก ยาว ๆ  ประมาณ ห้าหรือหก ครั้ง ก็จะทำให้สติกลับมาอยู่ในระดับเดิม แล้วเริ่มต้นทำใหม่

พระอาจารย์ธาดา : วัดญาติธรรม ภูห่าน
http://www.yartturm.com