Recent Posts

เห็นไตรลักษณ์ ง่ายๆ ในชีวิตประจําวัน


          เห็นไตรลักษณ์เห็นอย่างไร ง่ายๆในชีวิตประจําวัน ลองตบมือแรงๆ 1 ครั้ง เห็นความเจ็บ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แค่แว๊ปเดียวที่ใจเราไปรู้ เห็นครบเลยครับ เห็นความเจ็บเป็นไตรลักษณ์ แค่แว๊ปๆที่เห็นนั้นหล่ะ เป็นวิปัสสนาแล้ว

          แต่ถ้าหลังจากที่เห็น เราไปคิดพิจารณาไปปรุงแต่งต่อ ว่าเจ็บยังไง เจ็บมากเจ็บน้อยอันนี้เป็น ความคิดปรุงแต่งจากสมอง ไม่ใช่รู้จากใจเพราะมีการให้ความหมาย ในคนทั่วๆไปมักจะใช้ความคิดเยอะจนเคยชิน เลยไม่เห็นสิ่งที่รู้จากใจ เพราะโดนความคิดปกคลุมใจ จึงทําให้ใจเราวันๆไหลไปตามความคิด ตามความเคยชิน การเจริญสติก็เพื่อมารู้มาเห็นตรงนี้ เห็นตรงนี้ให้บ่อยๆให้ชัดๆ พอเห็นชัดแล้วเกิดเป็นความเคยชิน ใจเราก็จะไม่เผลอไหลไปตามความคิด จะเป็นการรู้จากใจที่เห็นความจริงของโลกของธรรม(ธรรมชาติ) เป็นการเจริญปัญญา และเอาปัญญามาละในตอนท้ายที่สุด

          ในการตบมือนั้น แต่ละคนก็เห็นได้ไม่เท่ากัน ในคนที่มีกําลังสัมมาสติมากๆ จะเห็นเป็นเหมือนภาพสโลว์ช้าๆครับ (ไม่ใช่เห็นมือขยับช้า แต่เพราะกําลังสติเรามากจนไปเห็นกิริยาของใจที่เร็วมาก แต่เราเห็นเป็นแบบสโลว์ช้าๆ) จะเห็นการเกิดขึ้นของความเจ็บ เห็นการตั้งแช่อยู่ของความเจ็บ เห็นความเสื่อมของความเจ็บ เห็นการดับไปของความเจ็บ เห็นอย่างนี้หล่ะครับ

          เห็นไตรลักษณ์ในชีวิตประจําวัน แต่ผู้ที่เพึ่งปฏิบัติยังมีกําลังสัมมาสติน้อยนั้น การตบมือจะผ่านไปเร็วมากเพราะใจเราไปเห็นไม่ทัน มารู้ตัวอีกที่ตรงตอนไปคิดแล้ว มีการให้ความหมายแล้วว่าตบมือแรงตบมือเจ็บมากเจ็บน้อยเป็นต้น อันนี้เป็นความคิดครับ เพราะกําลังสัมมาสติเราไม่มากพอที่จะไปเห็นทันนั้นเอง เหตุนี้หล่ะครับ เราถึงต้องมาเจริญสติ เพื่อให้มีกําลังของสัมมาสติไวพอที่จะไปเห็นสิ่งเหล่านี้ ส่วนสมาธิที่ทําให้จิตตั้งมั่นนั้นก็สําคัญครับ เพราะถ้าใจเรานิ่งไม่วอกแวก เราก็จะเห็นอะไรได้ง่ายขึ้นชัดขึ้นนั้นเอง

          การเห็นไม่ได้เห็นสิ่งที่วิเศษ หรือพิเศษเหนือปกติเลย แต่การเห็นไตรลักษณ์นั้น เราเห็นได้พบเจอได้ในชีวิตประจําวันเรานี้เอง เป็นการเห็น ณ.ขณะจิตบัจจุบัน โดยไม่ได้ไปคิดรู้ เห็นนี้ต้องเห็นเองไม่ใช่ไปปรุงแต่งให้เห็น และเห็นนี้จะเห็นได้ จากเราเจริญสติปัฏฐาน 4 มาในระยะหนึ่งแล้ว จะรู้เห็นได้ด้วยใจตน เป็นการเจริญวิปัสสนาญาณ หรือ ปัญญาญาณ นั้นเอง การเห็นนี้เป็นการเจริญปัญญา เพื่อมาละ อวิชชา ถอนเราออกจาก กิเลส ตัญหา ทั้งมวล สุดท้าย ปัญญานี้หล่ะที่จะนําเราให้ มรรค 8 ครบองค์จนบริบูรณ์ จนสุดท้ายมี มรรคผลเป็นที่หมาย

ที่มา : Trader Hunter พบธรรม


          อนิจจลักษณะ หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวอนิจจัง ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะอาการที่เปลี่ยนไป จะเป็นการกำหนดอนิจจลักษณะ

          ทุกขลักษณะ หมายถึง เครื่องกำหนดขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวทุกขัง ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่บีบบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยนไป ก็จะกลายเป็นการกำหนดทุกขลักษณะ

          อนัตตลักษณะ ทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตน  ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่ไร้อำนาจบังคับตัวเองให้ไม่เปลี่ยนไปไม่ได้ ก็จะกลายเป็นการกำหนดอนัตตลักษณะ

ที่มา : วิกิพีเดีย