Recent Posts

รู้จัก...ขันธ์ 5


          ขันธ์ห้า มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และมีอุปาทาน หรือความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเสมือนยางเหนียวที่นำทั้งหมดมารวมกันเป็นกลุ่มก้อน นานเข้าจนแยกไม่ออก คิดว่ามีตัวตนของตนจริง ๆ

          1. รูป ประกอบด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ มาผสมรวมกันจนเกิดเป็นร่างกาย กลไกของร่างกายนี้มันทำงานของมันเอง มันมีกลไกที่ดูแลตัวมันเองอยู่เสมอ ถึงเราจะรู้หรือไม่รู้ แต่ร่างกายมันรู้

          มันหายใจเอง ถึงเราหลับมันก็ยังหายใจ ถ้าปล่อยให้หายใจกันเอง ก็คงจะตายกันหมดแล้วเพราะคอยแต่จะลืม แต่เพราะมันทำงานอัตโนมัติ มันจึงต้องหายใจเอง มันสูบฉีดโลหิตเอง มันย่อยอาหารเอง แม้เราไม่อยากให้มันย่อยเพราะไม่อยากจะกินบ่อย ๆ แต่มันก็ไม่สนใจเรา มันทำหน้าที่ของมันอัตโนมัติ มันดูแลตัวเองโดยอัตโนมัติ หรือมีเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย ภูมิคุ้มกันก็จะมาทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรคนั้นทันที

          นอกจากหนักหนาสาหัสไม่อาจต้านทานได้ ก็จะส่งอาการฟ้องออกมาที่ร่างกาย ตัวร้อนบ้าง เจ็บคอบ้าง หรืออาเจียนบ้าง ก็เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ฉันป่วยนะ หายากินหน่อย เพราะความจริงมันห่วงตัวมันเอง มันรักตัวมันเอง มันจึงดูแลตัวมันเอง

          ถ้าเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บมาก ๆ มันจะตัดให้สลบไปก่อน ไม่อย่างนั้นจะตายเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว มันต้อง safety ตัวมันเอง เพราะมันมีกลไกของมันเอง มันทำงานถูกต้องตรงตามเวลาเป็นอัตโนมัติ

          มันจึงเป็นสิ่งที่บังคับ บัญชาไม่ได้ จริงๆ สมมุติว่า ถ้าเราเห็นว่า มันก็ทำงานของมันได้ เราลืมกินข้าวเพราะมัวยุ่งกับงาน มันก็จะแจ้งเตือนเพราะมันห่วงตัวมันเอง ด้วยการทำท้องร้องบ้าง ทำเป็นหิวบ้าง ก็เพราะร่างกายมันห่วงตัวมันเองว่าจะเป็นโน่นเป็นนี่ จริงๆแล้ว

          ถ้าเราดูจริงๆ ไม่น่าห่วงมันหรอก เพราะมันห่วงตัวมันเองอยู่แล้ว เราก็แค่บริหารขันธ์ห้าไปตามสมควร ขาดเหลืออะไรมันเตือนของมันเองแหละ เพราะมันเป็นกลไกของธรรมชาติ มันก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไปตามกลไกของมัน เมื่อเห็นจริงก็ไม่ต้องทุกข์หรือกังวลให้มากนัก ก็จัดการไปตามเหตุปัจจัยอันสมควร ให้รู้ว่าร่างกายไม่ได้มีอำนาจเหนือเรา มันต่างหากที่ต้องพึ่งเรา

          ถ้ารู้อย่างนี้ เราจะไม่ค่อยให้ความสำคัญอะไรกับมันเท่าใดนัก ดูแลกันไปตามสมควร คิดว่ามันเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรายังได้เรียนรู้เพื่อดำเนินชีวิตบนโลกใบนี้แบบปุถุชนทั่วไป หรือเพื่อการปฏิบัติธรรมให้ออกจากวัฏฏสงสารเท่านั้น เหมือนพระอริยะเจ้า ท่านก็จะมุ่งเน้นที่จะออกจากขันธ์ห้าทั้งนั้น แล้วเราจะไปอาลัยอาวรณ์มันทำไม ?

          ถ้ามีสติดูร่างกายไปนานๆ จะเห็นว่า แทนที่เราจะต้องไปดูแลร่างกายมัน ประคับประคองมัน แต่กลับเป็นว่ามันจะต้องเป็นผู้ดูแลตัวมันเอง มีอะไรมันก็จะแจ้งเรามาเป็นระยะ เราก็แค่ดำเนินการดูแลให้ตามสมควร กินยา หาหมอ แต่ไม่จำเป็นต้องไปทุกข์กับมัน

          เพราะธรรมะก็สอนไว้อยู่แล้วว่า อริยสัจ 4 ก็คือทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ทางดับทุกข์ และปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์นั้น สรุปแล้วก็คือ ท่านสอนเรื่องของทุกข์ กับการดับทุกข์ที่เกิดขึ้นมานั่นเอง เมื่อเราไม่ทุกข์ ก็ไม่ต้องไปดับอะไร ใจก็สงบเย็นนั่นเอง ถ้าเข้าใจได้จริง และทำได้จริง ก็จะออกจากตัวขันธ์ห้าในส่วนของรูปได้เลย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ต้องตายจากกัน

          2. วิญญาณ จะขอเริ่มอธิบายจากวิญญาณขันธ์ก่อน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยจะขอเรียงลำดับก่อนหลังตามการกระทบ ตามการรับรู้ของร่างกายมนุษย์ แล้วเกิดสภาวะต่างๆขึ้นมา
ร่างกายจะมีอายตนะ (ที่เชื่อมต่อ) ภายในรวมอยู่ด้วย ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งจะต้องจับคู่กับอายนะภายนอก ก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ (ความรู้สึกนึกคิดในใจ)

          ดังนั้น ช่องทางที่เมื่อมีการกระทบแล้วทำให้เกิดภาวะทางจิตอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ก็ต้องผ่านช่องทางทั้ง 6 นี้เช่นกัน หากจับกันเป็นคู่ จะได้ดังนี้ เช่น

          - ตาก็ต้องคู่กับรูป แต่ระหว่างตากับรูปนั้นมันเป็นอย่างละสิ่งกัน ยังไม่รู้จักกัน ดังนั้นจึงต้องมีจักษุวิญญาณเป็นตัวเชื่อมระหว่างตากับรูป แล้วส่งเข้าไปที่ตัวสัญญา ก็คือความจำนั่นเอง เช่น ตามองเห็นดอกกุหลาบ ตา กับดอกกุหลาบเป็นอย่างละสิ่งกัน ไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ แต่มีจักษุวิญญาณ คือการรับรู้ทางตามาเป็นตัวเชื่อมของ 2 ชิ้นเข้าด้วยกัน ถ้าเคยรู้จักดอกกุหลาบอยู่แล้ว เมื่อเห็น ก็รู้จักทันทีเลย ไม่ต้องไปนั่งนึกใหม่ เพราะเคยบันทึกไว้แล้ว ดังนั้น ถ้าตาบอด การรับรู้ทางตาก็ไม่มีเพราะอายตนะภายในคือตาไม่มีการต่อเชื่อม ดังนั้นการที่จะมีอุปาทานจากการเห็นรูปเอามาปรุงแต่งก็ไม่มี

          - หูกับเสียงต่างๆ ก็เป็นอย่างละส่วนกัน แต่มีตัวโสตวิญญาณเป็นตัวเชื่อม แล้วก็เข้าใจได้ว่าเป็นเสียงของอะไร ตามที่ความจำได้เคยบันทึกไว้ ดังนั้น การที่จะเกิดสุขทุกข์ได้นั้น ก็เพราะการรับเข้าไป จำได้ว่าเสียงอะไร แล้วก็ไปปรุงแต่งความคิดเอาเอง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน
แต่ถ้าเรารู้กลไกของธรรมชาติแล้ว เราจะเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของขันธ์ห้า คือมันทำงานของมันอัตโนมัติ ตามเหตุ ตามปัจจัยที่สะสมไว้อย่างตรงไปตรงมา เหมือนเช่นเอาน้ำไปตั้งไว้กลางแดดจัด ๆ เมื่อน้ำถูกแดดนาน ๆ น้ำก็ย่อมร้อนเป็นเรื่องธรรมดา มันก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่คนที่จะกินน้ำนั้นต่างหากที่จะสุขหรือทุกข์ และตัวของน้ำเองมันก็ไม่ทุกข์ มันไม่ได้สนเลยว่า ใครจะรู้สึกอย่างไร จะพอใจหรือไม่พอใจที่ต้องดื่มน้ำร้อน ๆ แก้วนั้น เพราะน้ำมันไม่ได้ทำตัวมันเอง มีสิ่งอื่นมากระทำ เพราะเมื่อมีน้ำ มีแดด ผลที่ออกมาก็คือ มีความร้อนแทรกอยู่ในน้ำแก้วนั้น

          แต่คนที่จะดื่มน้ำนั้นต่างหาก ที่สุข หรือทุกข์ก็ได้ อยากจะดื่มน้ำให้ชื่นใจเสียหน่อย กลับร้อนเสียแล้ว โมโห หงุดหงิด และเกิดอารมณ์สุขทุกข์ได้ ก็เพราะไม่เห็นความเป็นธรรมดาของสิ่งที่เกิดนั่นเอง

          แต่ถ้ามีสติ มองเห็นความเป็นจริงของธรรมชาติ ความทุกข์ก็จะกินไม่ได้ ก็แค่รู้ตามความเป็นจริง ว่าน้ำมันตากแดด มันก็ร้อนอย่างนั้นเอง รอหน่อยเดี๋ยวก็เย็น หรือไม่เป็นไร ร้อนหน่อยก็กินได้ อารมณ์ขุ่นมัวก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะเห็นความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น

          ฟังเหมือนเป็นเรื่องไม่น่าสำคัญ แต่สำคัญมาก เพราะแค่เรารู้จักธรรมชาติตามที่มันเป็นอยู่จริง จะทำให้เราปล่อยวางได้มากขึ้น ซึ่งฝึกให้เห็นมุมมองของธรรมชาติแบบง่าย ๆ ที่เรามองข้ามไปนั่นเอง
อยากให้ลองมองเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง ของธรรมชาติให้ทะลุ เช่น ถ้าอากาศร้อน ก็ต้องหงุดหงิดเป็นธรรมดา ถ้าไม่ได้กินข้าว ก็ต้องหิวเป็นธรรมดา ถ้าใครว่า ก็ต้องโกรธเป็นธรรมดา ถ้าเพลงเพราะ เราก็ชอบเป็นธรรมดา หรือนั่งรถแล้วรถติด อารมณ์เบื่อหน่ายก็ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ แต่ไม่จำเป็นต้องไปทุกข์ หรือไปสุขกับมัน เพราะอารมณ์ที่จะขึ้นลงไปกับสถานการณ์รอบด้านนั้นมันเกิดขึ้นตามธรรมดา ตามกลไกของขันธ์ห้าอยู่แล้ว เมื่อเข้าใจถูกต้อง ความเคลื่อนไหว การกระเพื่อมของจิตจะเริ่มน้อยลง ความสงบจะมีมากขึ้น ความทุกข์จะเกิดได้ยากขึ้น เพราะเห็นความเป็นอย่างนั้นเองของธรรมชาติได้มากขึ้นนั่นเอง

          ที่กล่าวมานั้น ก็เพื่อให้มองเห็นในมุมมองกว้าง ๆ ของธรรมชาติ จะได้ไม่ไปทุกข์ไปกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา จะไปเที่ยวสักหน่อย ฝนดันมาตกเสียได้ หงุดหงิดไม่พอใจ ก็เป็นทุกข์ที่สร้างขึ้นมาเอง ธรรมชาติเขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น ไม่มีใครห้ามได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจก็ทุกข์ได้เหมือนกัน
ดังนั้นสิ่งที่จะมุ่งเน้นให้มองเห็นก็คือ ความเป็นธรรมชาติของขันธ์ห้า ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้

ตัวอย่างที่ 1 สมมุติว่า เราไม่พอใจคนที่ทำงานคนหนึ่ง และเห็นเขากำลังยืนซุบซิบอยู่กับคนอื่น

          เมื่อตามองเห็นรูป จักษุวิญญาณรับภาพนั้นเข้าไป ส่งไปที่สัญญาคือความจำ ที่เคยบันทึกไว้ว่า คน ๆ นี้เราไม่พอใจ สังขาร หรือความคิดก็จะปรุงแต่งตามพื้นฐานของการบันทึกไว้ต่อทันทีว่า เขาพูดอะไร นินทาเราหรือไง เพราะฐานในการจดจำที่บันทึกไว้ในลักษณะของความไม่ชอบ ไม่ถูกกัน ความคิดที่ปรุงแต่งให้ก็จะปรุงมาในด้านของความทุกข์เสียเป็นส่วนใหญ่ ร้อนรน หวาดระแวงว่าเขาจะนินทาเรา ซึ่งการปรุงแต่งความคิดด้านลบขึ้นมานั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา ตามเหตุตามปัจจัยนั่นเอง

          จากนั้นความคิดก็ส่งต่อไปที่เวทนา คืออารมณ์ ปกติก็กำลังทำงานเพลิน ๆ พอหันไปเห็น และความคิดปรุงแต่งในด้านไม่พอใจส่งเข้ามา อารมณ์ที่เคยสบาย ๆ กลายเป็นหงุดหงิด โมโห รุ่มร้อนขึ้นมาทันที ร้อนอกร้อนใจ อยากรู้ว่าเขาว่าเราหรือเปล่า ซึ่งความจริงคน ๆ นั้นอาจจะไม่ได้สนใจเรา ไม่ได้พูดถึงเราเลยด้วยซ้ำ แต่เพราะฐานการบันทึกของเรามีไว้ในแง่ของความหวาดระแวง ความไม่พอใจ ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ การปรุงแต่งมันก็ขึ้นมาตามเหตุปัจจัยที่บันทึกไว้นั่นเอง ซึ่งนี่แหละคือความทุกข์ที่สร้างขึ้นมาเองจากความคิดที่เข้ามาล่อหลอก

          ซึ่งความจริงแล้ว มันเป็นกลไกธรรมดาของขันธ์ห้า ที่คอยแต่จะปรุงแต่งไปตามเหตุปัจจัยที่ได้เคยถูกบันทึกไว้แล้วเท่านั้น ตัวความคิดเองมันไม่รู้หรอกว่า ที่คิดอย่างนี้จะทำให้ใครทุกข์หรือไม่ทุกข์ เพราะตัวความคิดมันไม่ได้ทุกข์ไปด้วย มันมีหน้าที่แค่คิด มันจึงสักแต่ว่าคิดของมัน แต่คนที่จับความคิดนี่สิ กลับไปอุปาทานว่าเป็นตัวเราคิด แล้วไปรับเอาความคิดนั้นมาทุกข์เอง มันก็เป็นธรรมชาติ เหมือนกับลมที่พัดมา บางคนชอบ บอกว่าเย็นสบาย มีความสุข อีกคนก็ไม่ชอบ เพราะกลัวผมปลิวเสียทรงแล้วจะไม่สวย ก็มีความทุกข์ แล้วแต่ใครจะสร้างเหตุปัจจัยในมุมไหนเอาไว้ แต่บังเอิญว่ามันมารวมกลุ่มกันอยู่ในสิ่งที่คิดว่าเป็นตัวเรา ก็เลยมองไม่ออกว่ามันเป็นธรรมชาติยังไง ซึ่งโดยความจริงแล้ว ความคิดมันก็เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น แล้วแต่บันทึกเหตุปัจจัยอะไรเข้าไว้ มันก็ออกมาเป็นอย่างนั้นตรงไปตรงมา จนกว่าจะมีการบันทึกเหตุปัจจัยใหม่เข้าไป มันจึงจะปรุงใหม่ตามเหตุปัจจัยที่ทำการบันทึกใหม่แล้วนั่นเอง

ตัวอย่างที่ 2 

          คนที่เลี้ยงแมว รักแมว พอเข้าบ้านเห็นหน้าแมว ก็รู้สึกชอบ รู้สึกพอใจ เป็นอัตโนมัติ เพราะจำได้ว่าแมวตัวนี้รัก ไม่ต้องมานั่งคิดปรุงแต่งว่ารักแมวอีกในทุกๆครั้งที่เจอ จากนั้นก็ส่งความคิดนั้นไปที่เวทนา ก็เกิดอารมณ์สุข เพราะเจอสิ่งที่พอใจนั่นเอง ทีนี้ลองใหม่ ถ้าเราลองเปลี่ยนเหตุปัจจัยเข้าไป เพื่อให้สัญญาคือความจำมันบันทึกในมุมมองใหม่ คือเห็นว่า อ๋อ คนนี้ที่เขาคิดร้ายเรา เขาไม่พอใจเรา ก็เพราะความไม่รู้ เขาไม่ได้ศึกษาธรรมะ ที่เขามีความอิจฉาริษยาคนอื่นๆไปเรื่อยนั้น ตัวเขาก็มีแต่ความทุกข์ความร้อนรนอยู่แล้ว เราจะไปโกรธเขาทำไม น่าจะสงสารเขามากกว่า

          นี่เป็นการเปลี่ยนความคิด ที่พุทธศาสนาก็สอนไว้ คือเมื่อคิดพยาบาท อย่าเลย คิดเมตตาดีกว่า หรือคิดริษยา อย่าเลยมีมุทิตาจิตดีกว่า ก็คือพลอยยินดีเมื่อเขาได้ดี นั่นคือการสอนให้เปลี่ยนความคิดนั่นเอง ไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่ทำเพื่อที่จะไม่ให้ผู้คิดมีความทุกข์นั่นเอง

          สรุป คือ ตัววิญญาณขันธ์ มันก็มีงานของมันแค่พนักงานไปรษณีย์ ก็คือมีหน้าที่รับแล้วนำไปส่งแค่นั้น คือมองไปเห็นดอกไม้ รับมา แล้วส่งต่อไปให้ความจำ(สัญญา) ความคิด(สังขาร) ความรู้สึก (เวทนา) ปรุงแต่งต่อไป ซึ่งจะเป็นในแง่ว่าจะชอบดอกไม้ดอกนี้ หรือไม่ชอบดอกไม้ดอกนี้นั้น จะถูกใจหรือไม่ถูกใจ จะสุขหรือทุกข์ ก็เป็นเรื่องของส่วนอื่น ๆ แล้วไม่เกี่ยวกับวิญญาณขันธ์

          ดังนั้น ถ้าหลับตา ไม่เห็นอะไร จักษุวิญญาณขันธ์ก็หยุดงานตรงจุดนั้น แต่ถ้าตาไม่เห็น แต่ได้ยินเสียงแทน โสตวิญญาณก็ทำงานรับไปส่งให้ตัวสัญญาหรือความจำแทน หรือกายสัมผัสความเย็นก็รับไปส่งให้สัญญาแทน ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องธรรมดา แม้ตาจะมองเห็นหรือเห็นรูปแล้ว ความทุกข์จะยังเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะตัววิญญาณไม่ได้เป็นตัวการทำให้เกิดทุกข์

          ดังนั้น เห็นจึงสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น สัมผัสก็สักแต่ว่าสัมผัสเท่านั้น ถ้าไม่มีขันธ์อื่นมาร่วมปรุงแต่งด้วย คู่แรกก็ผ่านไปแล้ว ก็คือ รูปขันธ์ที่เข้าคู่กับวิญญาณขันธ์ คู่นี้แม้ทำงานไปแล้ว ก็ยังไม่สามารถทำให้เราเกิดทุกข์ได้ เป็นแค่ช่องทางผ่านเท่านั้น

เพิ่มเติม คำสอนจากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้า (อ้างอิงจาก แก่นพุทธศาสน์ (ฉบับสมบูรณ์) หนังสือได้รับรางวัลชนะเลิศจากองค์การ UNESCO แห่งสหประชาชาติ ถ่ายทอดโดย พุทธทาส อินทปัญโญ)

“ดูกรพาหิยะ เมื่อใดเธอได้เห็นรูป สักว่าตาเห็น ได้ฟังเสียง สักว่าหูได้ยิน ได้ดมกลิ่น ก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ก็สักแต่ว่าได้ชิม ได้สัมผัสผิวหนัง ก็สักแต่ว่าเป็นการกระทบทางผิวหนัง จะคิดนึกขึ้นมาในใจก็สักแต่ว่า รู้สึกตามธรรมชาติขึ้นมาในใจ เมื่อเป็นดังนี้แล้ว เมื่อนั้นตัวเธอจักไม่มี (คือตัวกูไม่มี) เมื่อตัวเธอไม่มี การวิ่งไปทางโน้นหรือวิ่งมาทางนี้หรือหยุดอยู่ที่ไหนก็ตาม มันก็ไม่มี นั่นแหละ คือที่สุดของความทุกข์ นั่นแหละคือที่สิ้นสุดของความทุกข์ นั้นแหละคือนิพพาน”

          3. สัญญาและสังขาร (ความจำและความคิด) คู่ต่อไป คือ สัญญา(ความจำ) จับคู่กับสังขาร(ความคิดที่ถูกปรุงแต่ง) คู่นี้ถือว่ามีผลเหมือนกัน ถ้ารู้ไม่เท่าทันกลไกของธรรมชาติ

          เมื่อมีการรับภาพแล้วส่งต่อมาที่สัญญา(ความจำ) ที่ถูกบันทึกไว้ก็จะทำงานอัตโนมัติทันที จำได้ทุกเรื่องที่ถูกบันทึกไว้ เดินไปทำงานถูก เดินไปขึ้นรถยนต์ถูกคัน เข้าบ้านถูกบ้าน เห็นลูกเดินมาก็จำได้ ทุกอย่างถูกบันทึกไว้แล้วครั้งแรก ครั้งที่ 2 ก็ขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ จนกว่าสัญญานั้นจะมีการบันทึกเปลี่ยนแปลง และทำซ้ำๆจนเข้าใจว่าเป็นการบันทึกใหม่

ยกตัวอย่างเช่น

          สมมุติว่า เป็นคนชอบกินทุเรียนมาก พอเห็นทีไรก็ชอบทุกที ซื้อทุกที มีความสุขทุกครั้งที่กิน มีอยู่วันหนึ่งเกิดบังเอิญกินทุเรียนแล้วไปเที่ยวกับแฟน เขาบอกว่าเหม็นจังทุเรียน แล้วเลิกคบไปเลย ก็มีความฝังใจว่าไม่ชอบแล้วทุเรียน

          เมื่อไปเจอทุเรียน ครั้งแรกความจำที่เคยชอบก็จะพุ่งขึ้นมาก่อนว่าชอบ แต่พอความจำอีกอันซ้อนเข้ามาและมีน้ำหนักกว่า ก็จะมีผลทำให้เปลี่ยนใจ ไม่อยากกินแล้ว และถ้าทำซ้ำๆหลายๆครั้ง สัญญาก็จะบันทึกใหม่ ถ้าเห็นอีก ความอยากกินทุเรียนก็จะไม่ขึ้นอีกแล้ว นี่คือการเปลี่ยนสัญญาใหม่ และขันธ์ก็บันทึกใหม่ จึงไม่แสดงผลการอยากกินออกมาอีก

          ดังนั้น จะเห็นว่ามันมีกลไกการทำงานของมันเองแบบอัตโนมัติ คนเราที่จะทุกข์ก็เพราะชอบคิดว่า เราไม่อยากคิดอกุศล เราไม่อยากคิดร้าย เราไม่อยากคิดโกรธคนนี้เลย แต่เจอทีไรความโกรธก็ออกหน้าไปก่อนทุกที ต้องพยายามบังคับใจ ใช้สมาธิข่มให้หายโกรธ ให้หายคิดร้ายเขา ซึ่งก็เป็นความทุกข์อีกรูปแบบหนึ่งของคนที่อยากจะคิดดี พูดดี ทำดี

          จึงต้องมาเรียนรู้กลไกการทำงานของขันธ์ห้าให้แจ่มแจ้งก่อน จะได้ไม่หลงทุกข์ไปกับมัน พอยิ่งเข้าใจ กลับไม่ต้องทำอะไรเลย มีสติรู้ตัวดูให้เห็นความคิด หรือความทุกข์นั้นให้ได้ ไม่ต้องไปข่ม ไม่ต้องไปดับ ไม่ต้องไปบังคับให้หาย แค่ดูมันเฉยๆ หรือสอนมันบ้างก็ได้ เป็นการตอกย้ำว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน ถ้ามันอยากทุกข์ มันอยากร้อนรน ก็เรื่องของมัน มันทำตัวมันเอง

          ธาตุรู้ หรือจิตที่มีสติปัญญารู้เท่าทันธรรมชาติ จึงต้องถอยออกมาเป็นแค่ผู้ดูเท่านั้น จึงจะมองเห็นขันธ์ห้า ที่เล่นบทบาทไปตามสไตล์เดิมๆของมัน ยิ่งมองเห็นความคิด มองเห็นความรู้สึกของขันธ์ห้าในขณะนั้น ก็จะยิ่งขำที่เห็นมันดิ้นรน จะหาทางดึงเราเข้าไปทุกข์

          ดังนั้น ใครที่ชอบมีความคิดอกุศลเข้ามาหลอกล่อ ความโกรธ ความวิตกกังวล หรือเรื่องอื่นๆที่เป็นข่ายทุกข์นั้นเข้ามาอยู่เรื่อย อย่าได้ตกใจ ให้รีบเรียนเลย และต้องรู้ว่า พอกระทบสิ่งนั้นครั้งแรก มันก็จะคิดร้ายแบบเดิมก่อนนั่นแหละถูกแล้ว เพราะมันจำไว้อย่างนั้น แต่เราต้องมีสติรู้เท่าทันว่า นั่นแน่! คิดร้ายเขาอีกแล้ว ก็ดูมันไป เพราะมันอยากจะคิดก็ให้มันคิดไป อย่าไปโกรธตัวเองว่าทำไมเรายังคิดร้ายกับเขาอยู่

          ก็ในเมื่อสิ่งนี้ เราบังคับบัญชามันไม่ได้ อยากให้มันหยุดคิดแล้วมันไม่หยุดคิด จะไปรับผิดชอบว่าเป็นตัวเราผู้คิดได้อย่างไร ถ้าเป็นตัวเราจริง ความคิดเราจริง เราก็ต้องหยุดคิดได้สิ แต่ในเมื่อมันไม่ได้เป็นตัวใครของใคร มันก็ทำงานไปตามกลไกของมัน กลไกของธรรมชาติ แล้วเราจะไปรับเอามาทุกข์นั้นสมควรหรือ?

          ดังนั้น เมื่อเราเห็นความคิดนั้นแล้ว เห็นความโกรธนั้นแล้ว เราจะไม่กลัวมัน มันอยากคิดร้ายก็สักแต่ว่าคิดไป ส่วนเรื่องที่จะเดินไปทะเลาะกับเขาตามความคิดที่กำลังล่อหลอกอยู่นั้น เราก็เลือกได้ เพราะมีสติสัมปชัญญะตัดสินใจเองได้ ว่าควรหรือไม่ที่จะไปทะเลาะกับเขา หรือจะกลับเข้าบ้านนอนดี นี่เป็นสิ่งที่เราเลือกได้ถ้าเรารู้เท่าทันความคิดนั้น

          มนุษย์ปุถุชน ต้องเหนื่อยกับความคิด สู้กับความคิด ทุกข์กับความคิดหลากหลายรูปแบบ แต่เมื่อมารู้กลไกของขันธ์ห้าตามความเป็นจริง ก็สามารถปล่อยวางความคิดนั้นลงได้ ดูมันเฉยๆ และฝึกสติมากขึ้นเพื่อกระโดดจับมันให้ทันตอนมันขึ้นมา แล้วค่อยว่ากันว่ามันคิดอะไรบ้าง แล้วก็ตัดสินใจไปตามสมควร ปัจจุบัน ก็จะสงบ และเบาสบาย ในท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมรอบข้าง เพราะไม่ไปบังคับบัญชาความคิด ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ไม่ไปห้ามมัน อยากคิดอะไรก็เชิญ เมื่อเราไม่สนใจมันก็กลายเป็นความฟุ้งซ่าน อยู่ไม่นานมันก็ดับไป ก็เป็นเรื่องปกติที่มันต้อง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดา

          ใครที่มีความทุกข์คล้ายกันนี้ จะนำอุบายนี้ไปใช้บ้างก็ได้ อาจได้พบกับความว่าง ด้วยการปล่อยวางขันธ์ห้าก็เป็นได้

          ก็ผ่านไปอีก 1 คู่ สำหรับ สัญญา (ความจำ) กับสังขาร (ความคิด) ที่คอยแต่จะปรุงแต่งยุยงส่งเสริมให้เกิดทุกข์ แต่ถ้าพิจารณาและรู้เท่าทัน ตัดตรงความคิดนั้นเลย ก็จะไม่ทำให้เราทุกข์ได้ ซึ่งโดยความจริงแล้ว ความทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆนัก เพราะมันมีหลายขั้นตอนที่สามารถสกัดมันได้แต่ละจุด แต่เพราะคนในปัจจุบันนี้ พอคิดด้านทุกข์ขึ้นมาแล้ว ก็ทุกข์เลย จึงดูเหมือนว่าความทุกข์เกิดได้ง่ายเหลือเกิน

          4. เวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์) กับธาตุรู้ (จิตที่มีสติปัญญา) ดังนั้น จึงเหลือคู่สุดท้าย คือเวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์) กับธาตุรู้ (จิตที่มีสติปัญญา) ที่ต่อเชื่อมเข้าด้วยกัน สองสิ่งนี้จะทำให้เกิดความทุกข์ได้จริงหรือ?

          ดังนั้น การที่จะกล่าวถึง ขันธ์ห้าคู่สุดท้ายนี้ อยากจะให้ท่านใช้การไตร่ตรองตามอย่างตั้งใจสักนิด เพราะหากเข้าใจจริงๆ และทำได้จริง นั่นก็หมายความว่า ความทุกข์จะไม่สามารถอยู่เหนือท่านได้เลย ต่อให้กำลังทุรนทุรายด้วยความทุกข์ แต่ท่านจะไม่ได้เป็นทุกข์ ซึ่งฟังแล้วอาจจะค่อนข้างงง สับสน ก็กำลังทุกข์แล้วจะไม่ทุกข์ได้อย่างไร?

          ดังนั้น คู่สุดท้ายนี้ ก็คือ เวทนา ความรู้สึกที่เราจะคิดเสมอว่าเราสุข เราทุกข์ เรากำลังเสียใจ เรากำลังเศร้าหมอง กำลังท้อใจ เรากำลังหดหู่ซึมเศร้า เพราะมันเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ครอบคลุมเราอยู่ ทำให้เราอยู่ในอาการที่เรียกว่าเศร้าหมอง วิตกกังวล ร้อนรน กระวนกระวาย ซึ่งอาการเหล่านี้เราจะเรียกมันว่าความทุกข์ เพราะเมื่ออารมณ์โศกเศร้า หดหู่เศร้าหมองเข้ามาเมื่อไร ความสดชื่นแจ่มใสที่เราเข้าใจว่าเป็นความสุขก็จะหายไปทันที

          แล้วทำไมธรรมะจึงบอกว่า สุข กับ ทุกข์ มันเท่ากันล่ะ? ทำไมบอกว่ามันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้นเอง มันจะเท่ากันได้อย่างไร? เพราะมองยังไงก็ไม่มีทางเท่ากันได้ ซึ่งหลายคนก็คิดอย่างนี้

          การที่จะเห็นว่าสุขกับทุกข์เท่ากันได้นั้น ต้องรู้กลไกในขันธ์ห้าให้แจ่มแจ้งเสียก่อน จึงจะพอทำความเข้าใจได้

          ดังนั้น คู่สุดท้าย ก็คือเวทนา (ความรู้สึก) จับคู่กับจิตที่มีสติปัญญา ซึ่งในขันธ์ห้าก็อยู่ในกลุ่มของวิญญาณ ที่เรียกว่ามโนวิญญาณ หรือในส่วนที่เรียกว่าจิตหรือใจนั่นเอง

          ดังนั้นเวทนา (ความรู้สึก) เป็นตัวการที่คอยสร้างความรู้สึกขึ้นมา แต่กลไกของมันจะเนื่องกับความคิด มันไม่ได้สร้างขึ้นมาลอย ๆ ส่วนใหญ่มันจะอิงกับความคิดเป็นหลัก แล้วความคิดมันมีอิทธิพลอย่างไร ทำไมตัวเวทนา(ความรู้สึก) จึงต้องไปเนื่องกับมัน

          เราจึงต้องมารู้จักกลไกตามธรรมชาติของขันธ์ห้าในมุมมองของวิทยาศาสตร์ ที่มีสารเคมีเป็นตัวคอนโทรลอารมณ์นั้นควบคู่กันไปด้วย จึงจะพอนำไปเทียบเคียงเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติได้

ความเป็นเช่นนั้นเองในมุมมองของ ธรรมะ และวิทยาศาสตร์

          แม้ปัจจุบัน มนุษย์โลกจะมีความเจริญทั้งสองด้าน แต่ส่วนใหญ่ จะต่างคนต่างมุมมอง คิดในส่วนที่ตนเองรู้ และพยายามทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงตามนั้นซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร

          คนปฏิบัติธรรมะ ก็ปล่อยวางด้วยวิธีการศึกษาด้านธรรมะ พิจารณาการเกิดดับของอารมณ์ ความรู้สึกว่าเป็นเช่นนั้นเอง ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นอะไร

          ทางธรรมะ มีการปฏิบัติธรรมเพื่อควบคุมความคิด อารมณ์ให้เป็นไปในแนวทางที่เป็นกุศล เพื่ออะไร? เพื่อเราจะได้ไม่มีความทุกข์ ซึ่งการคิดดี พูดดี ทำดี ก็จะทำให้ผู้นั้นมีความสุข เพราะมีความสงบเย็น อิ่มเอิบในจิตใจแต่ถ้าพยาบาท มุ่งร้าย ผู้นั้นจะมีแต่ความทุกข์ ร้อนรน และหาวิธีแก้แค้นต่าง ๆซึ่งมันอยู่ในข่ายของ ความทุกข์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันต้องเป็น ...... อย่างนั้นเอง.......อยู่แล้ว มันเป็นไปตามกลไกของธรรมชาติ เพราะกลไกของร่างกายมนุษย์ มันจะอิงกันกับความคิด ความรู้สึกของมนุษย์ผู้นั้น

          เมื่อมีความคิดดี มีความปรารถนาดี มีความเมตตาสงสารเกิดขึ้น ความคิดนี้ก็ไปกระตุ้นสารเอ็นโดฟินในสมองให้มันหลั่งออกมา เมื่อร่างกายได้รับสารเอ็นโดรฟิน ก็จะทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองด้านบวกสดชื่นแจ่มใส อิ่มเอิบ อารมณ์ดี ที่เราเรียกว่ามีความสุข นั่นถูกต้อง

          แต่หากความคิดที่ออกมาเป็นไปในทางความโกรธ พยาบาท หรือวิตกกังวล ความคิดนั้นก็จะไปกระตุ้นสารเคมีประเภทที่เป็นด้านลบในสมองให้หลั่งออกมา เมื่อสารเคมีชนิดนี้หลั่งออกมาแล้ว ก็จะมีปฏิกิริยาด้านลบส่งไปถึงอารมณ์ให้มีความทุรนทุราย ร้อนรน หรือวิตกกังวลตลอดเวลา ซึ่งอารมณ์จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปริมาณสารเคมีที่หลั่งออกมา ถ้าหลั่งมากเกินไป ก็จะอาละวาด ทำร้ายผู้อื่นได้ หรือเศร้าโศกเสียใจจนคิดฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น เมื่อมีการคิดแต่พยาบาทครั้งแล้วครั้งเล่า สารเคมีตัวนี้หลั่งออกมามากเกินไปก็จะคลุ้มคลั่ง ต้องส่งโรงพยาบาลประสาท ซึ่งแพทย์ก็จะทำการรักษา ด้วยการฉีดสารเคมีที่จะไประงับการหลั่งของสารเคมีชนิดนั้น ให้อยู่ในภาวะสมดุล อาการจึงจะสงบลงได้
ดังนั้น สารเคมีจึงเป็นตัวแสดงผลพฤติกรรมของมนุษย์ในแง่ต่าง ๆ นี่คือ “ผล” ที่เกิดขึ้นจาก "เหตุ"นั้น ๆ

ดังนั้น เราจึงต้องย้อนกลับมาที่ “เหตุ” ก่อน

          โดยก่อนที่จะหลั่งสารเคมีใด ๆ ออกมาก็จะมีตัว “ความคิด” เป็นตัวชี้นำ อย่างที่บอกแต่ต้น เมื่อมีความคิดดีสารเคมีประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายก็หลั่งออกมา เราสดชื่น เราสบายกาย สบายใจที่เราเรียกกันว่า “ความสุข”

          เมื่อคิดร้าย วิตกกังวล สารเคมีที่หลั่งออกมาก็ทำให้เราโศกเศร้า เสียใจ คับแค้นใจ เป็นความไม่สบายกาย ไม่สบายใจที่เราเรียกกันว่า “ความทุกข์” เราจึงต้องมาสกัดกั้นที่ต้นเหตุ ก่อนที่จะส่งไปที่ “ผล”

          คนที่ปฏิบัติธรรมะ ย่อมจะรู้ว่า ทำไมพุทธศาสนา จึงสอนให้เรามีเมตตา กรุณาต่อผู้อื่นให้มีความรัก ความหวังดี ให้ความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ด้อยกว่า ให้อภัยกับความคิดร้ายของผู้อื่น

          นี่เป็นกุศโลบาย ในทางพุทธศาสนา คือการให้เปลี่ยนความคิด เมื่อคิดพยาบาท อย่าเลย ให้คิดเมตตาเขาดีกว่า เมื่อใดที่คิดริษยา อย่าเลย มีมุทิตาจิตหรือพลอยยินดีกับเขาดีกว่า นี่เป็นอุบาย ให้เปลี่ยนความคิดจากด้านลบ เป็นด้านบวก เมื่อใดที่คิดในด้านบวก สารเอ็นโดรฟินก็จะหลั่งออกมาตามกลไกของความคิดนั้นซึ่งเป็นธรรมดาตามกลไกของร่างกาย สารเคมีนั้นก็จะไปทำปฏิกิริยาให้เกิดอารมณ์ด้านดีขึ้น ผู้ที่คิดก็จะมีแต่ความสุข ความอิ่มเอิบในจิต ความสงบเย็นในอารมณ์ และเมื่อกระทำเช่นนี้บ่อยครั้งเข้าจิตก็จะบันทึกเป็นอัตโนมัติ คือเมื่อมีอะไรมากระทบไม่ว่าด้านใดแนวความคิดก็จะไปในทางเห็นอกเห็นใจ ให้อภัย สงสาร และจัดการไปในสิ่งที่สมควรโดยมิได้มีความโกรธเคืองเป็นตัวชี้นำ บุคคลคนนี้ก็จะกลายเป็นผู้มีอารมณ์ดีมีเมตตาอยู่เป็นนิจ

          ดังเราจะเห็นได้ในผู้ที่ปฏิบัติจิตในขั้นสูงจะมีอารมณ์เยือกเย็น สงบ มีเมตตา และพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ บุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่มีแต่ความสุข เพราะสารเคมีก็จะหลั่งออกมาในด้านบวกอย่างเดียว

          ส่วนคนที่มีแต่ความฉุนเฉียว โกรธง่ายวิตกกังวล หดหู่เศร้าหมอง ไม่มีความเมตตา คิดแต่จะเอารัดเอาเปรียบบุคคลอื่นตลอดเวลา ความคิดเหล่านี้ก็ไปกระตุ้นสารเคมีด้านลบให้มันหลั่งออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาก็จะมีแต่ความทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ ตลอดเวลาซึ่งมีอยู่จำนวนมากในโลกมนุษย์ยุคนี้

          ดังคำว่า สวรรค์ในอก นรกในใจ ที่ธรรมะกล่าวไว้มันก็เกิดขึ้นในปัจจุบันนั่นเอง เมื่อคุณคิดดี สารเคมีด้านบวกก็หลั่ง คุณก็มีความสุข จิตใจสบาย ความสุขใจก็เกิดได้ในปัจจุบัน เมื่อคุณคิดร้าย คิดอิจฉาริษยา พยาบาท สารเคมีที่เป็นด้านลบก็หลั่งออกมา ทำให้อารมณ์ร้อนรน ทุรนทุราย กระวนกระวาย ทุกข์ใจก็เกิดได้ในปัจจุบันเช่นกัน

          ดังนั้นหลักของพุทธศาสนาเป็นเช่นนี้ สอนให้เราทำ “เหตุ” ที่ดี เพื่อ “ผล” ที่ออกมาก็ย่อมดีตามไปด้วย เพราะมันเป็นกฎตายตัวของธรรมชาติ

          ดังนั้น เราจึงต้องรู้กลไกของร่างกาย ในหลักของกลไกตามธรรมชาติ มันต้องเป็น “เช่นนั้นเอง” อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ความสุข ความทุกข์มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ มันก็เป็นเรื่องที่เราเลือกได้เพียงแต่เราจะมีความจริงใจที่จะเลือกมันหรือไม่ เท่านั้นเอง

          นี่จึงเป็นเพียงความเข้าใจในความเป็นมนุษย์หรือธรรมชาติของมนุษย์ในขั้นพื้นฐานของผู้ปฏิบัติ เพื่อเข้าสู่ความเป็นอย่างนั้นเอง ของธรรมชาติ และเป็นแนวทางที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน หากเข้าใจธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ของตนเองอย่างแท้จริงแล้ว การทำงานหรือกิจใดๆในการดำเนินชีวิต ก็ย่อมดำเนินไปด้วยดี เพราะเข้าใจธรรมชาติของตนเอง ซึ่งไปอยู่ในทุกๆมิติในชีวิตนี้ เมื่อเข้าใจแล้ว ทุกข์ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

ตัวอย่างเพิ่มเติม

          หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า "กินข้าวในถาดธรรมดา กับกินข้าวในถาดทองคำถ้ามีความพอใจเท่ากัน ก็มีความสุขเท่ากัน" ซึ่งเราอาจจะเถียงอยู่ในใจว่าจะสุขเท่ากันได้อย่างไร คนรวยล้นฟ้า กับคนที่ทำมาหากินไปวัน ๆมันน่าจะมีความสุขต่างกัน

          แต่หากลองนำเรื่องนี้มาเทียบเคียง โดยบอกว่าคนที่มีเงินมากมายไปกินอาหารภัตตาคารหรูหรา มื้อละ 20,000 บาท เมื่อมีความพอใจในอาหารมื้อนั้น ความพอใจไปทำให้สารเคมีประเภทเอ็นโดรฟินหลั่งออกมา 2 CC เขาก็มีความสุขเท่านั้น

          คนชาวบ้านธรรมดา ลูกซื้อไก่ย่าง 5 ดาวมาฝาก ตัวละ 80 บาท กินกันทั้งครอบครัวอย่างอร่อย เพราะไม่ค่อยได้เคยกิน มีความพอใจในอาหารมื้อนั้นมาก ทำให้สารเคมีประเภทเอ็นโดรฟินหลั่งออกมา 2 CC เท่ากัน เขาก็มีความสุขเท่ากับเศรษฐีคนนั้น เพราะความสุข ทุกข์ มันขึ้นอยู่กับสารเคมีในร่างกายที่หลั่งออกมา ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกตามสารเคมีนั้นๆ ดังนั้น ถ้าสารเคมีประเภทเอ็นโดรฟินหลั่งออกมาคนละ 2 CC เท่ากัน ทั้งสองคนก็มีความสุขเท่ากัน เพราะความสุขมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงิน ความหรูหรา แต่มันขึ้นอยู่กับความพอใจ ที่เป็นกลไกของการหลั่งสารเคมีนั่นเอง

          เราจึงเริ่มเข้าใจกลไกของขันธ์ห้า กลไกของสารเคมี และมีมุมมองที่กว้างขึ้น และไม่สงสัยว่าถ้าคนมีเงินกินอาหารอย่างหรูในภัตตาคารมื้อละสองหมื่นแต่ถ้าสารเคมีแห่งความพอใจหลั่งแค่ 1 CC เขาจะมีความสุขน้อยกว่าชาวบ้านธรรมดาที่ได้กินไก่ย่างห้าดาวกับข้าว แล้วพอใจกับอาหารมื้อนั้นอย่างมาก สารเคมีพุ่งถึง 2 CC เขาก็ย่อมมีความสุขกว่าอีกคนแน่นอน

          จึงเห็นได้ว่า มันมีกลไกของธรรมชาติที่มีเหตุและผลตรงไปตรงมา ถ้าไม่มีกลไกอย่างนี้ ถ้าทุกอย่างอิงอยู่กับทรัพย์สินเงินทอง คนรวยก็ต้องสุขอย่างเดียวสิ คนจนก็ต้องทุกข์ตายเลยสิ แต่เพราะมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราจึงจะพอมองเห็นว่า ความรวย ความจน ไม่ได้เป็นตัวชี้นำให้เกิดความสุขความทุกข์ เราจึงเห็นคนรวยมากมายก็ยังมีความทุกข์อยู่ คนที่พอมีพอกินหรือคนจนที่รู้จักพอ เขาก็มีความสุขได้ซึ่งบางคนอาจจะสุขมากกว่าคนรวยบางคนด้วยซ้ำไป คนรวยที่มีความทุกข์มีมากมาย คนจนที่มีความสุขมีเยอะแยะ ดังนั้น ความสุข ความสงบเย็นของจิต จึงเป็นสิ่งที่หาซื้อไม่ได้ ไม่ว่าจะมีเงินมากมายแค่ไหน สิ่งนี้ต้องทำเอาเอง

          นี่คือความเท่าเทียมกันตามธรรมชาติ และยุติธรรมที่สุด ก็คือการไขว่คว้าหาความสุข ความสงบทางจิต และหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์ ที่ไม่ว่ารวยหรือจนต้องหาด้วยตนเองกันทั้งนั้น

          ซึ่งจะเห็นได้จากพระอริยะเจ้าทั้งหลาย หรือผู้ปฏิบัติจิตเพื่อการหลุดพ้น หรือผู้ปฏิบัติธรรมส่วนมาก ย่อมไม่ได้เห็นว่าทรัพย์สินเงินทองเป็นสิ่งสำคัญ ท่านไม่มีทำไมท่านไม่ทุกข์ ทำไมท่านจึงกลับมีแต่ความสุข ความสงบ

          ดังนั้น จึงต้องมองให้เห็น มองให้ทะลุในกลไกของธรรมชาติ ว่าความสุขความทุกข์มันเกิดที่ไหน มันเกิดได้อย่างไร และควรใช้วิธีการใดในการจัดการกับความรู้สึก สุข ทุกข์ ที่เกิดขึ้นนี้

          พอเรารู้กลไกเช่นนี้ เราก็ต้องหลอกล่อด้วยกุศโลบายต่างๆเพื่อให้จิตมีแต่คิดดี มีความเมตตา กรุณาต่อผู้อื่นเป็นนิจ เพื่อควบคุมให้มีแต่สารเคมีด้านบวกด้านเดียวเท่านั้นที่หลั่งออกมา เราก็จะมีแต่ความสุขได้ และอาจมีมากกว่ามนุษย์บางคนที่มากด้วยทรัพย์สินเสียอีก

          แต่ถ้าตัวเรา ของเรา โผล่ออกมารับว่าเป็นอารมณ์ของเรา ทุกข์ของเราอีกเมื่อไร อย่าตกใจ ก็แค่ย้อนกลับไปทบทวนใหม่อีกครั้ง แล้วค่อยๆแยกออกจากขันธ์ห้ากันใหม่ เพราะเราต้องซ้อนทั้งห้าขันธ์ ให้เห็นว่ามันสักแต่ว่าร่างกาย สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าความคิด สักแต่ว่าอารมณ์เท่านั้น ซึ่งก็คือ การปฏิบัติในสติปัฏฐาน 4 นั่นเอง

การหลุดพ้น หมายความว่าอย่างไร?

          การหลุดพ้น คือ หลุดพ้นจากอุปาทาน ก็คือหลุดพ้นจากอุปาทานขันธ์ห้า คือหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าว่าเป็นตัวเราของเรานั่นเอง แล้วสิ่งที่หลุดพ้นก็คือ ธาตุรู้ หรือจิตที่มีสติปัญญาที่รู้แจ้งว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมชาติล้วน ๆ ไม่ได้มีตัวใครของใครตรงไหนเลย(ตรงข้ามกับจิตที่มีอุปาทาน)

อาจารย์สุดใจ ชื่นสำนวน
ที่มา : ธรรมะเพื่อการละวางอัตตา