Recent Posts

ดูเวทนา และการพิจารณาทุกขเวทนา

ดูเวทนา

          การฝึกดูเวทนาเป็นหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งผู้ฝึกสติปัฏฐานแต่ละท่านอาจจะถนัดการฝึกสติปัฏฐานไม่เหมือนกัน เช่นฝึกดูกาย(กายานุปัสสนา) ฝึกดูเวทนา(เวทนานุปัสสนา) ฝึกดูจิต(จิตตานุปัสสนา) หรือธัมมานุปัสสนา ก็แล้วแต่จริตของผู้ฝึกแต่ละท่านจะเลือกฝึกอย่างใดอย่างหนึ่งในสติปัฏฐาน๔ เพื่อเพาะปลูกปัญญาให้เฉลียวฉลาด ใน ณ ที่นี้ขอกล่าวถึงเรื่องเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

          ซึ่งสติปัฏฐาน๔ มี กาย เวทนา จิต ธรรม นี่เป็นที่ตั้งของสติหรือเรียกว่าที่บำรุงสติ เป็นที่บำรุงปัญญา เป็นที่เพาะปลูกสติ เพาะปลูกปัญญาให้มีความเฉลียวฉลาดรอบตัว เมื่อเรายังมีความโง่ (ความไม่รู้ความจริงของสัจธรรม) อาการทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นข้าศึกแก่เรา กายก็กลายเป็นข้าศึก เวทนาก็กลายเป็นข้าศึก จิตก็กลายเป็นข้าศึก ธรรมก็กลายเป็นข้าศึก

          เฉพาะอย่างยิ่งเราทุกท่านที่เป็นนักปฏิบัติ โปรดตรวจตรองสติปัฏฐาน ๔ และอริยสัจ ๔ ของตนให้รอบคอบ เพราะไม่กว้างยาวลึกซึ้งเลยกายกับใจและความสามารถของผู้สนใจใคร่รู้ไปได้เลย เพราะธรรมที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ไม่เลยภูมิของมนุษย์ผู้ประสงค์อยากรู้ด้วยความสนใจไปได้ ว่าด้วยเรื่อง เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นหนึ่งในสติปัฏฐาน๔ ซึ่งมี กาย เวทนา จิต ธรรม

          เวทนา หมายถึง ความรู้สึกหรือความเสวยอารมณ์ที่ปรากฏในขณะปฏิบัติทั้งทางกาย และจิตใจ เช่น ความรู้สึกสุขสบายหรือทุกข์ที่ปรากฏขึ้นในทางร่างกายและทางใจ มี ๓ อย่าง คือ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆไม่สุขไม่ทุกข์

          การพิจารณาโปรดแยกเวทนาออกและพิจารณาไปตามลักษณะของเขา แต่อย่าไปคว้าเอากายมาเป็นเวทนา กายให้เป็นกาย เวทนาให้เป็นเวทนา ทำนองเห็นเสือเป็นเสือและเห็นช้างเป็นช้าง แต่อย่าไปคว้าเสือมาเป็นช้าง จะเป็นการอ้างพยานไม่ตรงความจริง เรื่องจะลุกลามและลงเอยไม่ได้ตลอดกาล

          คือ แยกเวทนาที่แสดงอยู่ในขณะนั้นออกพิจารณา ให้รู้ที่เกิด ที่ตั้งอยู่และที่ดับไป ฐานที่เกิดของเวทนาทั้ง ๓ เกิดขึ้นและตั้งอยู่ที่กาย และที่ใจ แต่ไม่ใช่กายไม่ใช่ใจคงเป็นเวทนาอยู่เช่นนั้น ทั้งการเกิดและการดับไปของเขา อย่าทำความเข้าใจว่าเป็นอื่นจะเป็นความเห็นผิด สมุทัย(สาเหตุแห่งทุกข์) จะแสดงตัวออกมาในขณะนั้นจะหาทางแก้ไขและหาทางออกไม่ได้ แทนที่จะพิจารณาให้เป็นปัญญาถอดถอนออกจากทุกข์ สมุทัย เลยกลายเป็นโรงงานผลิตทุกข์และสมุทัยขึ้นมาในขณะนั้น และเป็นการเสริมทุกข์ให้มีกำลังขึ้นมาทันที

          ผู้ปฏิบัติจึงทำความรอบคอบต่อเวทนาด้วยปัญญา คือไม่คว้าเวทนามาเป็นตนในขณะทำการพิจารณา เวทนาทั้ง ๓ จะปรากฏความจริงตามสติปัฏฐานและอริสัจขึ้นมาประจักษ์ใจ แม้เวทนาจะเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ ประการใด จะเป็นทางเสริมสติปัญญาของผู้บำเพ็ญได้

          ความเศร้าใจ ทุกข์ใจ ท้อใจ หรือความเห่อเหิมเพลิดเพลินในขณะที่เวทนาทั้ง ๓ แสดงตัวจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะการทำความเข้าใจกับเวทนาได้ถูกต้อง และทุกๆเวลาที่ผู้บำเพ็ญทำความเห็นกับเวทนาโดยถูกต้อง ชื่อว่าผู้มีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานประจำใจ

          เวทนา มันเกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา เอ้า..จับเอาจุดใดจุดหนึ่งซึ่งเป็นจุดเด่นขึ้นมาพิจารณา จุดไหนที่ว่าเป็น “ทุกข์” เด่นกว่าเพื่อนกำหนดจุดนั้นเป็นต้นเหตุก่อน แล้วก็ซึมซาบไปหมดในบรรดาเวทนาทั้งหลาย เพราะมันเกิดขึ้นที่ไหนมันก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับจิต พอพิจารณาเวทนา จิตมันก็วิ่งเข้าหากันทันทีและทำการแยกแยะกัน เพราะสติปัฏฐาน๔ กายานุปัสสนา เวทนา จิตตา และธัมมานุปัสสนาเกี่ยวข้องกันอย่างนี้

          “เวทนานอก” หมายถึง “กายเวทนา” ที่เกิดความสุข ความทุกกข์ เฉยๆ มีอยู่ตามร่างกายส่วนต่างๆ
          “เวทนาใน” หมายถึง ทุกขเวทนาภายในใจ สุขเวทนาภายในใจ
          “อทุกขมสุขเวทนาภายในใจ” คือไม่ทุกข์ไม่สุข เฉยๆ ก็จัดเป็นเวทนาเหมือนกัน ซึ่งมีอยู่ในจิตของสามัญชนทั่วไป

          แม้ภาวนาใจเข้าสู่ความสงบแล้ว ก็มีสุขเวทนาอยู่ด้วยเหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติธรรมจิตใจเรามีความสงบเย็นใจ นี่เป็น “สุขเวทนา” ถ้าจิตไม่รวมสงบลงได้ตามต้องการก็เกิดความ “ทุกขเวนา”ขึ้นมา บางทีเหมอลอยอยู่ภายในใจของผู้ปฏิบัติบ้าง ไม่ใช่เหม่อลอยแบบคนไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย มันเป็นภายในจิตเอง หรือ เฉยๆบ้าง นี้เป็น “อทุกขมสุขเวทนา”เหมือนกัน

          ท่านผู้บำเพ็ญถ้าหนักในสติปัฏฐานไม่ถอยหลัง นับวันจะรู้เห็นสิ่งต่างๆที่อัศจรรย์ขึ้นภายในใจเป็นระยะๆไป ถึงกาลอันควรจะได้รับ “ผล”ในธรรมขั้นใดที่เคยรับสนอง “เหตุ”ที่ผู้บำเพ็ญบำเพ็ญโดยถูกต้องแล้ว จำต้องปรากฎผลขึ้นมาเป็นขั้นๆ โดยเป็นพระโสดาบ้าง พระสกิทาคาบ้าง พระอนาคาบ้าง และพระอรหันต์บ้าง โดยไม่ต้องสงสัย

การพิจารณาทุกขเวทนา

          การพิจารณาทุกขเวทนานี้สำคัญมาก  ท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนไว้ว่า “มันทุกข์ที่ตรงไหน พิจารณาให้เห็นจริงของทุกข์ที่ตรงนั้น จ้องอยู่ตรงนั้น อย่าถอย ถ้าถอยคือการเพิ่มทุกข์”

          ความจริงเวทนามิได้เป็นข้าศึกต่อผู้ใด ความรู้สึกของเขาไม่มี  เป็นเพียงความจริงอันหนึ่งเท่านั้น  ทุกข์มากทุกข์น้อยไม่ต้องคิด มันอยู่ที่ใจ “ใจมันโกหก” ใจไปให้สำคัญมั่นหมายไปต่างๆ  ความโกหกกับความโง่ มันเชื่อกันง่ายๆ  มันหลอกกันได้ง่ายๆ นี่ ! ความฉลาดของกิเลส

          ทุกข์มาก ทุกข์น้อย ให้พิจารณาอยู่ตรงนั้น จ้องอยู่ตรงนั้น  ให้พิจารณาหาสาเหตุของมัน  ค้นลงไปตรงนั้น  จิตนี้เป็นผู้หลง  ความอยากให้ทุกข์หายเป็นกิเลสอันหนึ่ง  มาส่งเสริมให้ใจเป็นทุกข์มากขึ้น  ทุกขเวทนาทางกายเป็นทุกข์  ทางใจก็กำเริบอีกด้วยความทุกข์

          ให้พิจารณากายกับเวทนา มันเป็นอันเดียวกันไหม ?  ทุกข์เป็นความจริงอันหนึ่ง  กายเป็นความจริงอันหนึ่ง จิตเป็นความจริงอันหนึ่ง ทุกขเวทนาทั้งปวงมันออกจากใจที่ไปหมาย  มันมีสายสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่โดยทางอุปาทานอย่างลึกลับ

          เมื่อพิจารณาเห็นอย่างชัดเจนแล้ว  ตามดูทุกขเวทนา  รู้เข้ามาๆ เวทนาหดเข้ามาๆ ย่นเข้ามาๆ จนกระทั่งถึงใจ  ก็ทราบว่าใจนี้เองเป็นตัวไปก่ออุปาทานขึ้นมา แล้วให้จิตถือว่าเป็นตัวเป็นตน  จึงเกิดความทุกข์ขึ้นมากมาย  พอทราบแล้วทุกข์ก็ระงับลงไป

          อีกประการหนึ่ง กำหนดรู้ทุกข์เป็นของจริงอันหนึ่ง  เช่นเดียวกับขันธ์  แต่ใจไม่ไปยึด  ถึงทุกข์จะไม่ดับก็ตาม  เรื่องจิตก็เป็นจิต  ไม่สืบต่อด้วยอุปาทาน  ต่างอันต่างจริง  นี่เรียกว่า “จิตเป็นตัวของตัว”  มีความร่มเย็นเป็นสุข  และรอบคอบอยู่ภายในตัว  ในท่ามกลางความทุกข์ของขันธ์

          ทุกขเวทนาอาการแห่งขันธ์แสดงขึ้นมาอย่างไร ก็ทราบตามหลักธรรมชาติ  ขันธ์ก็เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  ดับไปตามธรรมชาติ ตั้งอยู่ตามธรรมชาติ  และดับไปตามธรรมชาติ  จิตก็รู้ตามธรรมชาติของตน  โดยไม่ต้องบังคับบัญชากันแต่อย่างไร

          “ทุกข์เป็นหินลับปัญญาได้ดี”  การพิจารณาทางปัญญาจนเข้าใจจริงๆ ว่า  ขันธ์แต่ละอย่าง  สักแต่ว่าเท่านั้น  เป็นความจริงอันหนึ่งที่ปรากฏอยู่เท่านั้น  ใจย่อมเป็นตัวของตัวเองอย่างอิสระ  ทั้งขันธ์  ทั้งจิตต่างอันต่างจริง  ไม่กระทบกระเทือนกัน

          การใช้สติปัญญาพิจารณาทุกขเวทนาอย่างไม่ถอยหลัง  จนเข้าใจดีแล้ว  แม้จะตายจริงๆ ก็ทราบว่า ทุกขเวทนานี้จะดับไปก่อน  แต่จิตจะไม่ดับ  จะถอยตัวเข้ามา  รู้ตัวอยู่ภายในตนโดยเฉพาะ  แล้วผ่านไปในขณะนั้น  คำว่าเผลอสติไม่มี  ไม่มีสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมขั้นนี้

          การพิจารณาเพื่อรู้ขันธ์ตามความเป็นจริง  จึงไม่ควรหักห้ามต้านทานความจริง เช่น ร่างกายทนไม่ไหว ก็ปล่อยไป  ไม่ควรหวงไว้  เวทนามันก็เป็นของมันเอง นี่เรียกว่า “สุคโต”

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน