Recent Posts

บัญญัติ ปรมัตถ์ รูปนาม การกำหนด


บัญญัติ คืออะไร

          บัญญัติ ก็คือ สิ่งที่เราสมมุติขึ้น แล้วสมมุติล่ะคืออะไร สมมุติ คือสิ่งที่เราตกลงยินยอมกัน บัญญัติ แยกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

          1) นามบัญญัติ (สัททบัญญัติ)
          2) อัตถบัญญัติ

          นามบัญญัติ คือ การตั้งชื่อเรียกเป็นภาษาต่างๆ เช่น ตัวเราตั้งชื่อไว้ว่า อย่างไร ก็มีชื่อต่างๆ กันไป สำหรับเรียก คำว่า โต๊ะ เก้าอี้ เป็นเรื่องที่สมมุติชื่อกันไว้ ไม่มีความแน่นอนอะไร ภาษาไทยก็เรียกไปอย่าง ภาษาอังกฤษก็เรียกไปอย่าง ภาษาจีนก็เรียกไปอย่าง ไม่มีความแน่นอนอะไร เพราะมันเป็นเรื่องสมสุติ การสมมุติอย่างนี้ก็เอาไว้สำหรับกล่าวขานพูดจากันให้รู้เรื่อง สื่อความหมายกันเข้าใจ ถ้าหากว่าใครไปเรียกอย่างอื่น ก็ถือว่าพูดไม่ตรงไม่ถูก พูดไม่ตรงความจริง อย่างที่นั่ง อยู่นี้ถ้าใครไปเรียกว่าโต๊ะก็ว่าพูดไม่จริง พูดไม่ตรงเขาเรียกว่าเก้าอี้

          เขาจึงบอกว่า สมมุตินี้เป็นเรื่องการป้องกันการก้าวล่วงมุสาวาท แต่ว่าแม้จะเรียกว่าอะไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องสมมุติกันทั้งนั้น ถ้าหากว่าเรายังไม่ได้รับรู้การสมมุติ ของคนสมัยก่อนเขา ตกลงกันไว้อย่างไร ก็จะไม่รู้เรื่อง อย่างภาษาต่างประเทศบางภาษา ที่เราไม่เคยรู้ การสมมุติของเขา เราก็จะฟังไม่รู้เรื่อง หรืออย่างภาษาไทยเราไปพูด ให้เด็กเกิดมาใหม่ๆ เด็กทารก เด็กที่ยังไม่ได้รับกาอบรมการเรียนรู้สมมุติบัญญัติก็จะไม่รู้เรื่อง ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งสมมุติ ไม่มีความจริงอะไร นี้เรียกว่า นามบัญญัติ คือชื่อต่างๆ ภาษาต่างๆ เป็นบัญญัติ เป็นสมมุติบัญญัติ


          อัตถบัญญัติ คำว่า อัตถบัญญัติ นั้นหมายถึง ความหมาย รูปร่างสัณฐาน ความหมายก็อย่าง รูปร่างสัณฐานก็อย่าง อย่างเช่นว่า สัญลักษณ์ต่างๆ ที่เขาทำไว้ เขาก็มีความหมายบ่งบอกให้เข้าใจ อย่างเช่น กฎจราจรที่มีเครื่องหมายมีป้ายบอกชี้ว่า ห้ามเลี้ยวบ้าง หรือว่าห้ามจอดบ้าง เป็นสัญลักษณ์ นั้นคืออัตถบัญญัติ เป็นความหมาย ถ้าหากว่าคนไม่ได้เรียนรู้กฎจราจรก็ไม่รู้เรื่อง ว่าเขามีความหมายว่าอย่างไร นี่คือบัญญัติความหมาย อีกอย่างก็คือรูปร่างสัณฐาน บัญญัติในความเป็นรูปร่าง สัณฐานของสิ่ง อันนี้จะเข้าใจยากนิดหนึ่ง ที่เราว่าเราเห็นรูปกลม รูปแบน รูปเหลี่ยม รูปร่างสัณฐานของสิ่งของหรือของวัตถุต่างๆ ที่จริงเราไม่ได้เห็นตามสภาวะจริง สภาวะจริงนั้นไม่ได้เห็น สิ่งที่จะเห็นได้ก็คือสีต่างๆ เท่านั้น เราจะเห็นเพียงสีต่างๆ แต่การที่รู้ว่ามันเป็น รูปแบน รูปเหลี่ยม รูปกลม อะไรต่างๆ เกิดจากจิตของเรามันสมมุติขึ้น มันประมวลสี ต่างๆ ขึ้นมา

          แล้วมันก็ให้รู้ว่าเป็นรูปร่าง นี่อย่างโต๊ะนี้มัน สีขาว พอมันมาสุดริมก็เป็น อีกสีหนึ่ง เห็นมั้ย มันก็กลายเป็นขาดตอน เป็นรูปร่างขึ้นมา มันต้องมีส่วนเป็นสีต่างๆ ไม่งั้นเราจะไม่เห็นเป็นรูปร่างอะไรขึ้นมาได้ ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เองเขาจึงวาดขึ้นมาได้ ช่างสี ช่างวาดภาพเขาจึงเอาสีมาระบายสีต่างๆ สามารถออกมาเป็นรูปร่างอะไรต่างๆ ได้ นั่นก็คือสี เรามองเห็นสีต่างๆ เท่านั้น แต่จิตเราประมวลออกมาเป็นรูปร่าง นี่คืออัตถบัญญัติ อันนี้มันขัดกับความรู้สึกของเรา เราจะมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ มองแล้วก็เห็นรูปร่างเลยนี่ นี้คือความไวของจิตที่มันประมวล สีต่างๆ แล้ว ตัวที่ไปรู้ว่าเป็นรูปร่างไม่ใช่การเห็น มัน เป็นการคิดนึก ซึ่งเป็นสภาพจิตเกิดขึ้นทางใจ สภาพเห็นนั้นเป็นจิตที่เกิดขึ้นทางตา เห็นนี่เกิดขึ้นที่ตา เห็นเพียงสีเท่านั้น แต่ว่าจิตทางใจมันจะรับมาคิดนึกประมวลแล้ว ก็เป็นรูปร่างสัณฐาน ขึ้น เดี๋ยวตอนท้ายอาจจะเขียนภาพให้ดู เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น


          อันนี้ก็ได้ความแล้วว่า บัญญัติมี 2 อย่างคือ นามบัญญัติ กับอัตถบัญญัติ บัญญัติก็ตรงกันข้ามกับปรมัตถ์ คำว่าบัญญัติ เรารู้ไปแล้วว่าความหมายว่าอย่างไร

ปรมัตถ์ คืออะไร

          ทีนี้คำว่าปรมัตถ์ ปรมัตถ์นี่ตามความหมายคือว่า ธรรมชาติที่เป็นธรรมอันประเสริฐ ไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด และเป็นธรรมที่เป็นประธานของอัตถบัญญัติและนามบัญญัติทั้งปวง

          ปรมัตถ์นี่นะ คำว่าปรมัตถ์เป็นธรรมอันประเสริฐ คือไม่มีผิดแปลก ผันแปรแต่อย่างใด และเป็นธรรมที่เป็นประธานของอัตถบัญญัติและนามบัญญัติทั้งปวง คำว่า เป็นธรรมอันประเสริฐนั้นประเสริฐอย่างไร ประเสริฐ คือ ไม่มีการผิดแปลก ผันแปรแต่อย่างใด อันนี้คำว่าไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นสิ่งที่เที่ยงตรง เที่ยงแท้ ไม่มีความสลายตัว ไม่มีความเกิด ดับ อะไรอย่างนั้นหรือ ก็ไม่ใช่ มันก็มีความเกิด ดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนันตา

          แต่ว่ามันคนละแง่มุมกัน คือมีลักษณะอย่างไร มันจะคงลักษณะของมันอย่างนั้นไว้ นี้เรียกว่า ไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด ไม่เหมือนกับบัญญัติที่ได้กล่าวไปแล้ว เช่นชื่อ เห็นมั้ย คนไทยเรียกอย่างนี้ คนฝรั่งเรียกอีกอย่าง มันไม่แน่นอนอะไร แต่ปรมัตถ์มันแน่นอน คือมันมีลักษณะอย่างไรมันจะต้องคงลักษณะของมันอย่างนั้นไว้ ยกตัวอย่าง เช่น ประสาทตา เป็นปรมัตถธรรม ประสาทตาเป็นธรรมชาติในการรับสี คือรับภาพ มันก็จะคงลักษณะของมันอย่างนั้นไว้ จะเป็นตาของเรา ของใคร ของคนจีน คนไทย หรือของคน ของสุนัข ของแมว เป็ด ไก่ อะไรก็ตาม ตาจะต้องมีลักษณะคือเป็นการรับภาพเท่านั้น รับสีเท่านั้น ไม่มีใครเลยที่หูเราไม่ดีเอาตาฟังเสียงบ้างก็ได้ ไม่ได้เลย เราไม่สามารถเอาตาไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปสัมผัสอะไรได้ ตาจะต้องรับเพียงสี คือรับเพียงภาพเท่านั้น นี่คือเรียกว่าคงลักษณะของมัน

          คือว่าเป็นธรรมชาติที่ไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด จึงเรียกว่าเป็นธรรมอันประเสริฐ หรือว่าอย่างไฟ ธาตุไฟ มีลักษณะร้อนหรือเย็น ไฟ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เมื่อใครไปสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนจีน จะเป็นสุนัข แมว ลองไปสัมผัสเข้ากับไฟแล้วจะต้องมีความรู้สึกเหมือนกันหมด คือมีความรู้สึกร้อน มีความรู้สึกร้อนหรือเย็นเหมือนกัน คือไม่ต้องพูดอะไร เด็กเอามือไปแตะไฟ คนไทยหรือลาวไปแตะไฟ จะมีความรู้สึกเหมือนกันโดยที่ไม่ต้องพูดอะไร นั่นคือ ตัวปรมัตถธรรม นี่เรียกว่าไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด ที่พูดเมื่อกี้ว่าไฟมีลักษณะร้อนและเย็น เราจะชักงง เอ๊ะ จะเอาอย่างไรกันแน่ ทั้งร้อนทั้งเย็น ที่ว่าเย็นก็เป็นลักษณ์ไฟก็คือ ธรรมดาไฟก็มีลักษณ์เป็นอุณหภูมิ คืออุณหภูมิที่มันต่ำ ต่ำกว่าอุณหภูมิในร่างกายของเรา

          ความร้อนที่มันต่ำนั้นน่ะ เมื่อกายไปสัมผัสเราก็ว่าเย็น แต่ที่จริงก็เป็นลักษณ์ของความร้อน ความร้อนที่ลดระดับเราก็ว่าเย็น ฉะนั้นในลักษณะของการสัมผัสรับรู้ของเราต้องพูดไว้ 2 อย่างว่า เย็นและร้อน เป็นลักษณะของธาตุไฟ นี้คือ ปรมัตถธรรม มันไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด เราก็รู้ความหมายของคำว่าปรมัตถ์

           มีตอนท้ายอีกตอนหนึ่งว่า นอกจากว่าไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใดแล้ว ก็ยังเป็นธรรมที่เป็นประธาน เป็นประธานในอัตถบัญญัติและนามบัญญัติ คำว่าเป็นประธานเป็นยังไง คือ มันเป็นตัวตั้ง เป็นตัวพื้น เป็นแกนอยู่ และบัญญัติเข้ามาสวมอีกที ชื่อต่างๆมันมาสวม ชื่อภาษาหรือว่าความหมายหรือว่ารูปร่างมันมาสวมปรมัตถ์อีกทีหนึ่ง หมายถึงว่ามัน มีอยู่แล้ว อย่างร่างกายมันมีเป็นปรมัตถ์เป็นประธานของอัตถบัญญัติและนามบัญญัติทั้งปวง นี้คือ ปรมัตถธรรม

ปรมัตถธรรม จะมีอยู่ 4 อย่างคือ 

          1) จิตปรมัตถ์
          2) เจตสิกปรมัตถ์
          3) รูปปรมัตถ์
          4) นิพพานปรมัตถ์

จิต เจตสิก รูป นิพพาน 

          จิต คือ  ธรรมชาติที่มีลักษณะรู้อารมณ์ คือมีการไปรับรู้อารมณ์อยู่เสมอส่วน
          เจตสิก เป็นธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด คือ ประกอบกับจิต จิตกับเจตสิกจะเกิดร่วมกัน อุปมาจิตเหมือนน้ำใสๆ เจตสิกเหมือนสีต่างๆ เมื่อเราเอาสีเขียวไปใส่ในแก้วน้ำ แล้วก็คนๆ แล้วน้ำก็กลายเป็นน้ำเขียว หรือเอาสีเหลืองไปใส่ น้ำก็เป็นสีเหลือง มันจะรวมตัวกันอยู่อย่างนั้น แต่มันก็คนละอย่าง น้ำกับสีมันคนละอย่างกัน หรือจะเปรียบเจตสิกเหมือนเครื่องแกง คนที่ทำครัวก็เอาน้ำใส่หม้อลงไป แล้วเอาเครื่องแกง ที่ผสมไว้ด้วยพริก หอม กระเทียม กะปิ อะไรต่างๆ ที่ตำไว้ เอาไปคนลงในน้ำแกง น้ำนั้นก็กลายเป็นน้ำแกงปนกันไป เครื่องปรุงในจิตเจตสิกอุปมาได้อย่างนั้น

          แต่นี่มันเป็นนามธรรม จิตกับเจตสิกเป็นนามธรรมเกิดร่วมกันอยู่ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน มีที่อาศัยอย่างเดียวกัน จิตจะเป็นไปต่างๆ ขึ้นกับอำนาจของเจตสิก เจตสิกมันเป็นเครื่องปรุงเหมือนอย่างน้ำจะให้เป็นน้ำแกง แกงอะไร มันก็ต้องใส่เครื่องปรุงแต่ละอย่างลงไป จิตก็เหมือนกัน ถ้าเจตสิกชนิดไหนลงไปรวมกับจิต จิตก็จะมีสภาพไปตามเจตสิกอย่างนั้น เจตสิกมันมีจำนวนมาก ไปปรุงแต่งในจิตจำนวนมากด้วยกัน จิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ ก็จะมีเจตสิกหลาย ๆ ชนิดเข้าไปรวมตัวอยู่ด้วย คงจะไม่ได้พูดรายละเอียดลงไปว่า จิตนั้นมีกี่ประเภทอะไรบ้างในจำนวนจิต 89 หรือ 121 ดวง คือเราไม่มีเวลาไปศึกษาพออย่างนั้น แต่เราจะพูดเอาเฉพาะที่มาทำความเข้าใจที่จะนำมาปฏิบัติ เจตสิกมี 52 ชนิด เราก็จะไม่พูดรายละเอียดลงไป จะพูดเฉพาะเรื่องที่จะมาปฏิบัติ

          รูป คือ ธรรมชาติที่มีลักษณะเสื่อมสิ้นสลายไป เสื่อมสิ้นสลายไป คือมันเกิดขึ้นแล้วมันก็แตกสลายไป ก็คือเป็นการปฏิเสธของการรับรู้อารมณ์ คือรูปมันไม่สามารถจะรับรู้ได้ ไม่เหมือนจิตเจตสิก จิตเจตสิกนี้นี่มันรู้อารมณ์ได้ มันไปจับไปรับรู้อารมณ์ได้ แต่รูปมันรับรู้อารมณ์ไม่ได้ มันก็มีหน้าที่ เกิดมาแล้วก็สลายตัวเท่านั้น แต่ไม่ใช่ว่าจิตเจตสิก จะไม่สลายตัว มันก็เกิดขึ้น ดับไปเหมือนกัน แต่ว่ามันรับรู้ อารมณ์ได้ แต่รูปมันรับรู้อารมณ์ไม่ได้ ก็เลยใช้เฉพาะคำว่าเสื่อมสิ้นสลายไป ซึ่งมี 28 รูปด้วยกัน ในคนหนึ่งก็จะมี 27 รูป แต่ว่ามันต่างกันอยู่ระหว่างผู้หญิง ผู้ชาย คือ ภาวรูป ในระหว่างอิตถีภาวรูป รูปของความเป็นผู้หญิง กับปุริสภาวรูป รูปของความเป็นชาย ซึ่งมีอยู่ในเซลทั่วร่างกาย ผู้ชายก็มีเฉพาะปุริสภาวรูป ผู้หญิงก็มีเฉพาะอิตถีภาวรูป แต่รวมผู้หญิงผู้ชายแล้วก็เป็น 28 รูป อันนี้ก็พอ เราก็จะไม่ศึกษาให้ละเอียด

          นิพพาน คือ ธรรมชาติที่มีลักษณะสงบจากรูป นาม ขันธ์ 5 พ้นจากกิเลส คือ นิพพานมันเป็นธรรมชาติที่พ้นจากการปรุงแต่งจากเหตุปัจจัยทั้ง 4 คือ

          เหตุปัจจัยที่จะไปปรุงแต่ง ปัจจัยมี 4 คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร ที่จะไปปรุงแต่งให้มันเกิดขึ้นให้มันดับไปไม่มี เพราะฉะนั้น นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีความเกิดดับ ไม่เหมือน จิต เจตสิก รูป ซึ่งมันถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย 4 เพราะฉะนั้น เมื่อเหตุปัจจัยมันดับ จิต เจตสิก รูป เหล่านั้นก็ดับ เมื่อเหตุปัจจัยส่งผล มันก็เกิดขึ้น แต่นิพพานนี้เป็นอสังขตธรรม คือเป็นธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยทั้ง 4 จึงไม่มีความเกิดดับ

          นิพพานก็เป็นธรรมชาติที่ไม่ใช่รูป ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก แต่ว่านิพพานก็มีอยู่ โดยความเป็นธรรมารมณ์ คือเป็นอารมณ์ที่มาปรากฎทางใจ

          ในร่างกาย ในชีวิตของเราก็มีจิต เจตสิก รูป ขาดนิพพานไป นอกจากเราปฏิบัติวิปัสสนา ให้ถึงจุดหนึ่งก็จะถึง จะไปรับสัมผัสนิพพานได้

          ในปรมัตถธรรม 3 ประการ คือ จิต เจตสิก รูป (นิพพานก็ยกไว้ก่อน) ในจิต เจตสิก รูป นี้ เมื่อย่อลงแล้วก็คือรูปและนาม หรือถ้าย่อกว้างนิดก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เราได้ฟังศึกษาอบรมมา ขันธ์ 5 ถ้าย่อลงมานั้น ก็คือรูป กับ นาม

          - รูปให้คำจำกัดความไว้ว่า คือธรรมชาติที่เสื่อมสลาย ไม่สามารถจะรับรู้อารมณ์ได้
          - นามให้คำจำกัดความไว้ว่า สามารถรับรู้อารมณ์ได้

          ธรรมชาติใดที่มันสามารถรับรู้อารมณ์ได้เราจัดว่าเป็นนาม ส่วนธรรมชาติใดที่มันเกิดขึ้นมารับอารมณ์ไม่ได้ มีแต่สลายตัวเราจัดเป็นรูป

การเจริญวิปัสสนา

           ต้องกำหนด ดูรูปนาม  ต้องทิ้ง ต้องปล่อย จากบัญญัติ เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจระหว่างบัญญัติกับปรมัตถ์

          ถ้าเราไม่รู้จักบัญญัติ ไม่รู้จักปรมัตถ์ เราก็เลือกการกำหนดไม่ถูก จิตของเราก็จะไปอยู่กับบัญญัติตามความเคยชิน ความเคยชินของจิตก็จะไปอยู่กับสมมุติบัญญัติ อยู่อย่างนั้นมันก็ไม่มีทางที่จะรู้ตามความเป็นจริงได้ คือไม่เกิดวิปัสสนาขึ้น วิปัสสนานั้นเป็นชื่อของปัญญา ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง ขอใช้คำจำกัดความ ของคำว่า วิปัสสนาไว้ว่า รู้ของจริงตามความเป็นจริง เรียกว่าวิปัสสนา

          รู้ของจริงตามความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร ของจริงก็คือ ปรมัตถ์ ซึ่งแบ่งออกมาเป็น รูปกับนาม ตามความเป็นจริงคืออะไร ก็คือ รูปนามมันมีลักษณะอย่างไร ความเป็นจริงของมันมีลักษณะอย่างไร ลักษณะความเป็นจริงของมันก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          - อนิจจัง ก็คือความเปลี่ยนแปลงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ในที่นี้ ไม่ใช่หมายถึง ความเจ็บป่วยร่างกายไม่สบายกายเท่านั้น
          - ทุกขัง ในที่นี้หมายถึง สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สิ่งใดที่ปรากฏมาแล้ว ทนอยู่ในคุณสมบัติเดิมไม่ได้ อย่างนั้นเราเรียกว่าเป็นทุกข์ อาการของความเป็นทุกข์ คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
          - อนัตตา ก็คือ ลักษณะที่บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้ สิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้คือไม่มีตัวตน

คำว่าไม่มีตัวตน

          ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอะไร ที่เราฟังกันว่าชีวิตนี้ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ใช่ว่ามันว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่ มันมีอยู่ แต่มีอยู่ในลักษณ์ที่บังคับไม่ได้ มีอยู่ในลักษณะที่มันเกิดตามเหตุตามปัจจัย เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย เราจะไปบังคับอะไรมันไม่ได้ แต่มันมีอยู่จริง สิ่งที่เราจะต้องเข้าไปรู้เป็นปรมัตถธรรม

          ฉะนั้น เมื่อเราปฏิบัติไปเห็นรูป เห็นนาม ก็เท่ากับเห็นของจริง และถ้าเราเห็นลักษณะของรูปของนาม ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เรียกว่ารู้ตามความเป็นจริง นั่นคือ เรียกว่า วิปัสสนาญาณ เกิดขึ้น

หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรํสี