Recent Posts

ธาตุกรรมฐาน และวิชาเดินธาตุ

พระอาจารย์สุรศักดิ์  อติสักโข

          การฝึก ธาตุ ในสายที่หลวงพ่อสืบทอดมานี้ค่อนข้างจะเน้น ธาตุกรรมฐาน ตามหลัก จตุธาตุววัตถาน เป็นหลักใหญ่ แต่ก็สามารถนำไปใช้กับวิชาเดินธาตุและวิชาอาคมแขนงต่างๆได้ผลเป็นอย่างดี ทั้งยังมีรูปแบบและเทคนิคที่เป็นแบบฉบับของตัวเองมาแต่โบราณ  เมื่อผู้เขียนกราบเรียนขออนุญาตบันทึกไว้ถ่ายทอดให้อนุชนรุ่นหลังผู้สนใจได้ศึกษา หลวงพ่อก็อนุญาตให้ด้วยความยินดีและยังเมตตาเขียนผังแสดงจุดปฏิบัติให้ด้วยมือของท่านเอง
ขั้นตอนการปฏิบัติเบื้องต้น

          ก่อนอื่นนั้น จะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันในความหมายของธาตุอย่างคร่าวๆก่อนว่า  คำว่า ธาตุ ในที่นี้ มีความหมายถึง สภาพหรือลักษณะอันเป็นที่รวม  อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหล  ปฐวีธาตุ คือ ธาตุดิน ส่วนที่แข้นแข็ง  เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ ส่วนที่อบอุ่น  วาโยธาตุ คือ ธาตุลม ส่วนที่พัดไหว  อากาสธาตุ คือ ธาตุอากาศ ส่วนที่เป็นช่องว่าง

          การเจริญธาตุ เริ่มต้นเราจะตั้งจิตไว้เป็น สัญญา ซึ่งแปลว่า ความจำได้หมายรู้ ให้รู้ไว้ ณ จุดหนึ่งที่กำหนดก่อน นึกข้างในกายตรงจุดที่กำหนดคือ

          จุดแรก ตำแหน่ง นะ ธาตุน้ำ อยู่กลางแก้วตาดำข้างขวา  กำหนดความจำได้หมายรู้ว่าเป็นจุดตำแหน่ง ธาตุน้ำ  ทำซ้ำๆ ทำให้มาก เจริญให้มาก  ทำจนเกิดความ เคยชิน ชำนาญ และมั่นใจ  ทำจนจำได้หมายรู้แล้วว่า ธาตุน้ำ อยู่ตรงนี้ แล้วจึงค่อย เลื่อนจิต หรือ เอาจิตไต่ไป จุดที่สอง

          จุดที่สอง ตำแหน่ง โม ธาตุดิน อยู่กลางแก้วตาดำข้างซ้าย กำหนดความจำได้หมายรู้ว่าเป็นจุดตำแหน่ง ธาตุดิน  ทำซ้ำๆ ทำให้มาก เจริญให้มาก  ทำจนเกิดความ เคยชิน ชำนาญ และมั่นใจ  ทำจนจำได้หมายรู้แล้วว่า ธาตุดิน อยู่ตรงนี้ แล้วจึงเลื่อนจิตไปมาระหว่างตำแหน่ง น้ำ คือ กลางแก้วตาขวา กับตำแหน่งดิน คือ กลางแก้วตาซ้าย  เป็นการเลื่อนจาก นะ ไปหา โม แล้วเลื่อนจาก โม กลับ มาหา นะ ทำซ้ำๆ อยู่อย่างนี้โดยไม่จำเป็นต้องรีบร้อนไปไหน  ทำอย่างสงบสบายให้คุ้นแล้วคุ้นอีก  ไม่ต้องคิดว่าจะต้องรีบต่อไปหาตำแหน่ง พุท ธ า ยะ เลยทีเดียว  ทำอยู่อย่างนี้เป็นกรรมฐานในกายเรา ไม่ส่งจิตออกนอกกาย  ทำจนจิตสงบรู้ชัดแม่นยำก็จะเกิดความชำนาญ  จากนั้นจึงเลื่อนจิตไป จุดที่สาม

หมายเหตุ โปรดทำความเข้าใจว่า

          - เราไม่ได้เอาจิตกำหนดที่การเห็นภาพ  เพราะเราไม่ได้เพ่งกสิณ ถ้าหากว่าเกิดเห็นภาพหรือเรื่องราวอะไรขึ้นมาก็อย่าไปสนใจใดๆทั้งสิ้น

          - เราไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอักขระที่เป็นอักษร นะ โม พุทธ า ยะ เป็นต้น  เพราะถ้าท่องเป็นอักษรก็จะเป็น คาถา หรือ การถอด ซึ่งไม่ใช่หลักใหญ่ของ ธาตุกรรมฐาน

          ขอให้เข้าใจว่าจิตของเรากำหนดรู้เฉพาะอยู่ใน ความเป็นธาตุ ในจุดตำแหน่งเท่านั้น  คำว่ารู้นี้คือรู้ในความเป็นธาตุ เช่น  รู้ว่า น้ำ ก็คือรู้ ความเป็นน้ำ ตามความจำได้หมายรู้สักแต่ว่าเป็นน้ำ  ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะพิจารณาใดๆ ทั้งนั้น  เพราะเราฝึกธาตุ ไม่ได้เพ่งกสิณหรือบริกรรมถอดอักขระคาถาหรือทำกรรมฐานอย่างอื่น อย่าเอาอารมณ์อื่นมาปะปนกัน  เราต้องมีรากฐานและหัวใจอันแท้จริงของ ธาตุกรรมฐาน ก่อนจึงจะถือว่าเป็นแนวทางการฝึกธาตุโดยตรง

          จุดที่สาม ตำแหน่ง พุท ธาตุไฟ อยู่ส่วนลึกของหูทั้งสองข้าง การจำกัดความเพียงแค่นี้อาจจะยังไม่เข้าใจ คืออันที่จริงส่วนลึกของหูทั้งสองนั้นในที่สุดก็จะไปบรรจบกันที่จุดเดียว ก็หมายถึงจุดเดียวนี้แหละ อยู่ระดับหูทั้งสอง  ถ้าเล็งจากกลางกระหม่อมเบื้องบนตรงลงมาเบื้องต่ำถึงระดับหูก็คือตำแหน่งนั้น(โปรดดูภาพประกอบ)

          เมื่อรู้ตำแหน่งแล้ว ก็กำหนดความจำได้หมายรู้ว่าเป็นจุดตำแหน่ง ธาตุไฟ  ทำซ้ำๆ ทำให้มาก เจริญให้มาก  ทำจนเกิดความ เคยชิน ชำนาญ และมั่นใจ  ทำจนจำได้หมายรู้แล้วว่า ธาตุไฟ อยู่ตรงนี้ แล้วจึงค่อย เลื่อนจิตไป จุดที่สี่

          จุดที่สี่ ตำแหน่ง ธา ธาตุลม อยู่ใกล้ลิ้นปี่ระดับเหนือสะดือขึ้นมา 2“ (สองนิ้วฟุต) แต่อยู่ลึกเข้าไปกลางลำตัว  ถ้าเล็งจากจุดกลางกระหม่อมตรงลงมาเบื้องต่ำผ่านจุดตำแหน่ง พุท ธาตุไฟ ลงมา พอถึงระดับเหนือสะดือสองนิ้วก็คือตำแหน่งนั้น(โปรดดูภาพประกอบ)

          เมื่อรู้ตำแหน่งแล้ว ก็กำหนดความจำได้หมายรู้ว่าเป็นจุดตำแหน่ง ธาตุลม  ทำซ้ำๆ ทำให้มาก เจริญให้มาก  ทำจนเกิดความ เคยชิน ชำนาญ และมั่นใจ  ทำจนจำได้หมายรู้แล้วว่า ธาตุลม อยู่ตรงนี้ แล้วจึงค่อย เลื่อนจิตไป จุดที่ห้า

          จุดที่ห้า ตำแหน่ง ยะ ธาตุอากาศ อยู่หว่างคิ้วตรงตำแหน่งอุณาโลม (โปรดดูภาพประกอบ) กำหนดความจำได้หมายรู้ว่าเป็นจุดตำแหน่ง ธาตุอากาศ  ทำซ้ำๆ ทำให้มาก เจริญให้มาก  ทำจนเกิดความ เคยชิน ชำนาญ และมั่นใจ  ทำจนจำได้หมายรู้แล้วว่า ธาตุอากาศ อยู่ตรงนี้

          ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ธาตุอากาศ หรือ อากาสธาตุ นั้น คือ ช่องว่าง  ความหมายของช่องว่างก็คือ อะไรๆก็ลอดผ่านไปได้

หมายเหตุ

          - การเอาจิตเลื่อนไปมาตามจุดตำแหน่งต่างๆ เมื่อคุ้นเคยทุกจุดแล้วก็ยังต้องฝึกให้มากต่อไปอีก  โดยอาจ เลื่อนไปมาระหว่างสองจุด หรือ เลื่อนไปตามลำดับ หรือ เลื่อนย้อนกลับมา หรือเลื่อนสลับจุดตำแหน่ง สามารถทำได้โดยไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ยิ่งเจริญมากก็ยิ่งดี

          - หลวงพ่อเปรียบเทียบยกตัวอย่างเหมือนเราเดินไปหาเสาที่อยู่ในตำแหน่งต่างๆ พอไปถึงแล้วจะเดินต่อไปเสาอื่นเราก็ไม่ได้เอาเสาที่ไปถึงแล้วนั้นไปด้วย ฉันใดก็ฉันนั้น  เราเพียงกำหนดรู้ว่าเราอยู่ที่จุดตำแหน่งแล้วก็เลื่อนจิตไป ไม่ได้เอาจุดตำแหน่งนั้นไปด้วย  หลวงพ่อบอกว่าการฝึกอย่างนี้จะทำให้เราหนุนธาตุได้ง่ายในขั้นต่อไปด้วย

          เมื่อฝึกตำแหน่ง นะ โม พุทธ า ยะ แล้ว  การฝึก นะ มะ พะ ทะ และ จะ ภะ กะ สะ ต่อไปก็จะฝึกลักษณะเดียวกันนี้ไล่ไปตามลำดับ

(จบขั้นตอนการปฏิบัติเบื้องต้น)

ปัญหาเรื่อง ของเก่าของใหม่ อารมณ์ปฏิบัติสับสน

          ผู้เขียนเรียนถามหลวงพ่อว่า  เดิมทีนั้นผู้เขียนฝึกลมหายใจแบบอานาปานสติ ได้ไปพิสูจน์ฝึกเดินธาตุเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยตั้งใจบริกรรมแทบทั้งวัน รู้สึกนิ่งๆทื่อๆ จิตไม่ค่อยปราดเปรียวเช่นแต่ก่อน ที่เคยมีนิมิตฝันรู้เห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าก็หายไป นี่เป็นเพราะอะไร  หลวงพ่อก็อธิบายเปรียบให้ฟังว่า  เหมือนเราเอาหินใส่ไว้ในภาชนะอย่างหนึ่ง พอเราเอาน้ำเทใส่ภาชนะจนเต็มก็จะไม่เห็นหิน ถามว่าหินนั้นหายไปไหน ตอบว่าหินนั้นก็ยังอยู่  ฉันใดก็ฉันนั้น สิ่งที่เคยฝึกฝนมาเป็นอุปนิสัยแล้วก็ไม่ได้หายไปไหน

          ที่ยกมาเล่านี้เพื่อที่จะเรียนให้ผู้ปฏิบัติได้ทราบว่า  เมื่อเราตั้งใจมุ่งหน้าฝึกฝนธาตุกรรมฐานโดยตรง เราก็เสียโอกาสฝึกอย่างอื่นเป็นธรรมดา แต่ท่านไม่ต้องตกใจว่าสิ่งดีๆที่ท่านสะสมไว้จะสูญหายไปไหน

          อนึ่ง มีครูบาอาจารย์และนักปฏิบัติที่ท่านมีความชำนาญในกรรมฐานแล้ว ท่านอาจใช้อารมณ์กรรมฐานใกล้เคียงหรือปะปนกัน เช่น ดิน อย่างเดียว เพ่งเป็นธาตุก็ได้ เป็นกสิณก็ได้ หรือเอาแบบสลับกันไปก็ได้  อันนี้ต้องยอมรับว่าท่านทำได้เพราะท่านชำนาญอารมณ์แล้ว แต่การทำเช่นนี้ไม่เหมาะกับการเริ่มปฏิบัติที่มุ่งทางใดทางหนึ่งโดยตรง  หากจะมุ่งหวังปฏิบัติให้เชี่ยวชาญเป็นอุปนิสัยบารมีเฉพาะตนแล้ว ควรจะมั่นคงแน่วแน่อยู่กับอารมณ์กรรมฐานอย่างเดียว

ชุนคำ จิตจักร เรียบเรียง

ที่มา : https://sites.google.com/site/khongriverso/home/prasbkarn-phra-xacary-sursakdi-xti-sak-kho