Recent Posts

หลักปฏิบัติ “ปฏิจจสมุปบาท”

 


…. “ พูดอย่างวิชาหรืออย่างปรัชญา มันก็พูดอย่างหนึ่ง พอถึงปฏิบัติมันก็กลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง คำพูดไม่เหมือนกัน จะยกตัวอย่างเรื่อง “ปฏิจจสมุปบาท” ที่ยืดยาว ที่เราสวดกันยาวๆ นั่นนะ! อวิชชาเกิดสังขาร สังขารเกิดวิญญาณ วิญญาณตลอดสาย นั้นน่ะ! มันเป็นรูปแบบของปรัชญา ให้รู้ว่าอย่างนั้นเป็นปรัชญาที่มีเหตุผล ที่พอจะเห็นแจ้งได้ พอที่จะทำให้มันเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมาได้...

…. ทีนี้ พอมาถึงคราวปฏิบัติ มันมีเพียงแต่ว่า มีสติ ในเมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น พูดสั้นๆ ก็ว่า มีสติเมื่ออายตนะทำงาน สั้นๆ เท่านี้ มีแค่นี้ก็พอ 

…. ปฏิจจสมุปบาท สำหรับรู้ ยาวเฟื้อย พอปฏิจจสมุปบาทสำหรับปฏิบัติ คือ มีสติ เมื่ออายตนะทำงาน ก็คือ ควบคุมได้ที่ผัสสะ เป็นผัสสะแห่งวิชชาไว้เสมอ ก็คือ ปฏิบัติปฏิจจสมุปบาทสำเร็จประโยชน์ทั้งสาย ทุกข์ไม่เกิด 

…. มีสติเมื่ออายตนะทั้ง ๖ ทำงาน นั่นแหละ คือปฏิบัติ เรียกว่า ปฏิบัติปฏิจจสมุปบาท

…. ตัวปฏิจจสมุปบาทตั้งสิบสองอาการ สิบเอ็ดอาการ นั่นน่ะ! ยาวเฟื้อย และก็มีเรื่องมาก แล้วก็มันเป็นเรื่องของธรรมชาติที่จะเป็นไปอย่างนั้นตามธรรมชาติ เมื่อเราจะควบคุมมันเรื่องเหลือนิดเดียว ให้มีสติเมื่ออายตนะทั้ง ๖ ทำหน้าที่ เท่านั้นแหละ ก็ควบคุมปฏิจจสมุปบาททั้งหมดได้”


พุทธทาสภิกขุ