Recent Posts

กับดักของความคิดปรุงแต่ง

 


ท่านโอโชยังกล่าววิเคราะห์คำสอนของชาวพุทธเซน

ว่าเซนต้องการนำพาจิตของมนุษย์ให้พ้นทุกข์ ด้วยการนำจิตออกจากกับดักของความคิดปรุงแต่งดังปรากฏในหนังสือเซนที่ชื่อ“THE WAY OF ZEN” ความตอนหนึ่งว่า


“จิตที่ชอบคิด (ความคิดปรุงแต่ง) นั้นนำพามาซึ่งความทุกข์มากมายหลายประการ ประการแรกมันทำให้เราไม่อยู่กับปัจจุบันขณะ มันทำให้เราพลาดช่วงเวลาปัจจุบันไปเสมอ อย่าลืมว่ามีแต่ปัจจุบันเท่านั้นที่มีอยู่จริง


“แต่จิตที่ชอบคิดมันมักจะอยู่แต่ในอดีต หรือไม่ก็อยู่ในอนาคต มันมักจะกระโดดจากอดีตไปอนาคต หรือไม่ก็จากอนาคตไปอดีต ขณะเดียวกันมันไม่เคยอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้เลย จิตที่ชอบคิดไม่ต่างอะไรจากลูกตุ้มนาฬิกา มันจะแกว่งไปแกว่งมาจากข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งเสมอ ไม่เคยอยู่ตรงกลางเลย


“เซนกล่าวว่ามนุษย์ต้องออกมาจากกับดักของอดีตและต้องออกจากอนาคตให้ได้เพราะว่าประตูจะเปิดรออยู่ที่ปัจจุบันขณะเท่านั้น ประตูจะเปิดตรงขณะนี้เท่านั้น ขณะที่ประตูกำลังเปิดอยู่ สายตาของเรากลับวอกแวกไปมามองหาอดีตหรือไม่ก็อนาคต ช่วงเวลาแห่งปัจจุบันนั้นสั้นมากๆมันอยู่ตรงกลางระหว่างอดีตกับอนาคต ซึ่งเรามักจะพลาดมันเสมอ


“เซนกล่าวว่าหากเราไม่ละทิ้งจิตที่ชอบคิดของเรา เราก็ไม่มีวันที่จะเคลื่อนไปในจังหวะเดียวกันกับท่วงทำนองของสรรพสิ่ง ชีพจรของเราจะเต้นไปไม่พร้อมกับจักรวาล ถ้าเราไม่ละทิ้งจิตที่ชอบคิด (ชาวพุทธเซนเรียกว่าความคิดปรุงแต่ง) เราจะอยู่แต่ในโลกส่วนตัวของเราเท่านั้นไม่มีวันที่จะได้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงเลยและเราจะคงความโง่เขลาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ


“ผู้ที่ไม่ติดกับดักจิตที่ชอบคิด (หรือผู้ที่เห็นความคิดปรุงแต่งเป็นมายา) จะอยู่ไปโดยไร้ซึ่งความหมาย เพราะเขาได้ตายไปในทุกๆ ขณะ เขาไม่เคยสะสม เขาไม่ได้หันกลับมามองและเขาก็ไม่ได้มองไปในอนาคตข้างหน้าด้วย เขาเพียงแต่อยู่กับที่นี่เดี๋ยวนี้ การเป็นอยู่ของเขามีอยู่แต่ในขณะนี้เท่านั้น


“เขาจะไหลเลื่อนไปกับเวลาในแต่ละขณะ เขาจะไม่แข็งทื่อ หรือถูกจำกัดไว้กับอดีต ในความเป็นจริงก็คือเขาจะไม่มีทั้งการกล่าวถึงชีวประวัติ และก็ไม่มีความฝันสำหรับอนาคตด้วย เขาใช้ชีวิตอยู่กับเวลาที่กำลังดำเนินไป


“เซนมักจะกล่าวว่าจิตที่ชอบคิดอาจจะเป็นประโยชน์ในโลกนี้ แต่มันจะเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ หากเราพูดถึงสิ่งที่สูงสุด (พุทธภาวะ) จิตที่ชอบคิดอาจจะเป็นประโยชน์ในเรื่องสัพเพเหระ แต่จะไร้ประโยชน์สำหรับสภาวะขั้นสูงสุด (พุทธภาวะ) สภาวะขั้นสูงสุดหรือพุทธภาวะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถใช้จิตที่ชอบคิดเห็นมันได้


“เพราะมันเป็นเรื่องที่ก้าวข้ามเรื่องความคิดนึก หรือคิดนึกปรุงแต่งไปอีก ท่านคือสภาวะสูงสุด จิตของท่านคือจิตพุทธะอยู่แล้ว ฉะนั้นท่านจะไปคิดนึกถึงมันได้อย่างไร ก่อนความคิดนึกปรุงแต่งจะเกิดขึ้นมา ท่านก็อยู่ตรงนั้นแล้ว ท่านอยู่กับพุทธภาวะอยู่แล้ว ความคิดนึกปรุงแต่งเป็นเพียงสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาภายหลัง


“ตอนที่เด็กเกิดมาใหม่ๆ ในตอนนั้นเขาคือสภาวะขั้นสูงสุด (พุทธภาวะ) แล้วความคิดปรุงแต่งจะค่อยๆ เข้ามาเรื่อยๆ เขาจะสะสมความรู้ไปเรื่อยๆ ประดุจดั่งเขาจะเขียนสิ่งต่างๆ หลายอย่างลงไปบนกระดานชนวนแห่งการดำรงอยู่ของเขา 


“หลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นผู้รู้ รู้นั่นรู้นี่ เขาจะจำเพาะเจาะจงว่าตัวเขาคือแพทย์ คือวิศวกร คือศาสตราจารย์ ฯลฯ(หมายถึงแต่ละคนมีชื่อสมมติที่เรียกขานกันและได้รับฉายาว่าอย่างนั้นอย่างนี้มากมายแล้วยังมีการสมมติหรือกำหนดความหมายของบุคคลหรือตัวตน ผู้นั้นว่าประกอบอาชีพอะไร)


“แต่ในช่วงขณะที่เขาเกิดขึ้นมาใหม่ๆ นั้น เขาเป็นเพียงความตระหนักรู้ที่บริสุทธิ์เท่านั้น เป็นเพียงความสดใหม่ เป็นกระดานชนวนที่ยังไม่ถูกอะไรขีดเขียนลงไป ไม่มีแม้แต่ลายเซ็นตัวเอง ไม่มีชื่อและไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร


“นั่นคือความตระหนักรู้หรือความรู้สึกบริสุทธิ์ไร้เดียงสาที่มีอยู่เดิม และนั่นคือสภาวะขั้นสูงสุดของพวกเรา สภาวะการดำรงอยู่ขั้นสูงสุด (พุทธภาวะ) ของพวกเรานั้น มันเป็นสิ่งที่มีมาก่อนที่จะมีความคิด (หมายถึงภาวะสูงสุดแห่งชีวิตหรือจิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้ของเรา ซึ่งเป็นภาวะของจิตก่อนที่จะเกิดความคิดปรุงแต่ง)


“กระนั้นเมื่อความคิด (ปรุงแต่ง) อยู่ที่นั่น มัน (จิตพุทธะหรือจิตเดิมแท้) ก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ว่ามันถูกบดบังไว้ เปรียบได้กับแสงอาทิตย์ที่ถูกบดบังโดยเมฆหมอกทั้งหลาย เมื่อใดก็ตามที่มีเมฆครึ้มปกคลุมอยู่ มันก็ดูเหมือนกับว่าพระอาทิตย์ได้หายไป


“เราไม่มีวันที่จะสูญเสียสภาวะขั้นสูงสุด (พุทธภาวะ) นั้นไป สภาวะขั้นสูงสุด (พุทธภาวะ) ดำรงอยู่ มันไม่อาจจะหายไปไหนได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติภายในที่แท้จริงของเรา ไม่มีวันที่เราจะสูญเสียมันไป เสมือนอวิชชาหรือความไม่รู้บดบังจิตพุทธะ


“แต่เป็นเพียงพุทธภาวะที่อาจจะถูกบดบังไว้โดยเมฆหมอกแห่งอวิชชาเสมือนแสงอาทิตย์อาจถูกเมฆหมอกบังไว้จนดูคล้ายกับว่า ความมืดแห่งค่ำคืนได้ย่างกรายเข้ามาแล้ว แต่นั่นเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วครู่เท่านั้น เช่นเดียวกับแม้ว่าโดนความคิด (ปรุงแต่ง) บดบังไว้ เราอยู่ตรงนั้น หรือขณะที่มีความคิด (ปรุงแต่ง) เราก็อยู่ตรงนั้น 


“ทั้งนี้ เราจะเป็นอยู่อย่างแท้จริงอีกครั้งหนึ่ง ก็ต่อเมื่อความคิด (ปรุงแต่ง) นั้นหายไป เพราะจริงๆ แล้วเราอยู่ที่ตรงนั้นเสมอมา แต่เมื่อใดที่ความคิด (ปรุงแต่ง) อยู่ที่ตรงนั้น มันเป็นการยากที่จะรู้ว่าเราเป็นใคร และความรู้สึกตัวที่มีอยู่นี้คืออะไรกันแน่


“ความคิด (ปรุงแต่ง) คือสิ่งที่ทำให้เราว้าวุ่นใจ ความคิด (ปรุงแต่ง) คือสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่สงบ หากมีเพียงชั่วขณะที่ปราศจากความคิด (ปรุงแต่ง) เราก็จะติดต่อกับสภาวะอันสูงสุดนี้ได้ แต่ถ้าใครเริ่มที่จะคิดนึกปรุงแต่งแล้วล่ะก็ เขาจะคิด คิด และคิดต่อไปเรื่อยๆ แล้วเขาก็จะพลาดมันไป 


“หลังจากนั้นการที่เห็นว่าความคิด (ปรุงแต่ง) ไม่ได้พาเราไปที่ไหน ก็จะทำให้ความคิดที่ปรุงแต่งนั้นหยุดลงโดยปริยาย หากใครนั่งคิดอย่างจริงจังไปเรื่อยๆ ในที่สุดสภาวะแห่งการไม่คิดปรุงแต่งก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ จุดสิ้นสุดแห่งความคิดปรุงแต่งนั้นจะมาถึงในที่สุด และจะเป็นไปอย่างธรรมชาติ 


“นั่นแหละคือสิ่งที่เซนหยิบยื่นให้”