Recent Posts

อารมณ์นิพพาน [หลวงพ่อพุธ]

คุณเสรี ลพยิ้ม: 
พระนิพพาน และ พระพุทธเจ้า - หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ถาม : กรรมฐานในอนุสสติ  ๑๐  ข้อที่ว่า  นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้น  มีลักษณะอย่างไรในภาคปฏิบัติ  และผู้ที่สามารถไปนิพพานได้  ในขณะที่มีชีวิตอยู่ด้วยการนั่งหลับตาไปเที่ยวนิพพานนั้น  เมื่อเวลาที่เขาใกล้จะตาย  เขาจะสามารถไปนิพพานได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ตอบ : อันนี้เป็นคำถามเรื่องพระนิพพาน  แต่ขอออกตัวว่า  อาตมายังไม่ถึงนิพพาน  แต่จะขอตอบไปด้วยความเข้าใจ  นิพพานะ  ตามภาษาศัพท์แปลว่า  ดับ  ในเมื่อใครบริกรรมภาวนาก็ดี หรือพิจารณาอะไรก็ดี ในเมื่อจิตสงบนิ่งลงเป็นอัปปนาสมาธิ  จนกระทั่งตัวหายไปหมด  ความรู้สึกว่ามีกาย  ก็ไม่มี  โดยที่สุดความรู้สึกว่า  โลกคือแผ่นดินนี้ก็ไม่มี  ยังเหลืออยู่ตั้งแต่สภาวะจิตรู้อันเดียวเท่านั้น  อันนี้เป็นลักษณะแห่งความดับชั่วขณะหนึ่ง  หรือเรียกว่าจิตสัมผัสถึงพระนิพพานชั่วขณะหนึ่ง  แต่ถ้าหากว่าสภาวะจิตของผู้นั้น  มีความบริสุทธิ์สะอาดเหมือน ๆ กับในขณะที่อยู่ในลักษณะนั้นตลอดไป  ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า  มีจิตบรรลุถึงนิพพาน  แต่ถ้ายังไม่เป็นนิพพานจริง  เป็นนิพพานชั่วขณะหนึ่ง  เมื่อถอนออกมาแล้วก็ยังเป็นปุถุชนธรรมดา  เป็นอาการของจิตสัมผัสถึงนิพพานชั่วขณะหนึ่ง

           ลักษณะที่ปรากฏการณ์นั้นคือ  จิตนิ่ง  ว่าง  สว่าง  ไม่มีความสำคัญมั่นหมาย  แม้ในรูปเสียงอะไรต่าง ๆ  ความสำคัญว่าจิตก็ไม่มี  ความสำคัญว่าแสงสีมีอยู่ก็ไม่มี  มีแต่สภาวะรู้อยู่ในจิตที่แจ่มใส  โดยไม่เกี่ยวพันถึงเรื่องอะไร  ทั้งสิ้น  โลกทั้งโลกหายไปหมด  บรรยากาศทุกสิ่งทุกอย่างหายไปหมด  ยังเหลือแต่จิตรู้แจ่มอยู่เพียงดวงเดียวเท่านั้น  อันนี้เรียกว่าจิตสัมผัสถึงนิพพานเป็นบางขณะ  แต่  ไม่ใช่นิพพานแท้  ถ้าหากเป็นนิพพานแท้แล้วละก็  สภาวะจิตของผู้นั้นจะไม่กลับมาพัวพันกับโลก  ในฐานะที่มีกิเลสอีก

           เมื่อถามว่า  ผู้ที่สามารถไปนิพพานได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่  ด้วยการนั่งหลับตานั้น  ผู้ที่สามารถไปนิพพานนั้น  ไปตามความหมายของผู้ถามนี้  หมายถึงว่า  เดินไปถึง  เหาะไป  หรือขี่ยานยนต์พาหนะไป  จนกระทั่งถึงพระนิพพาน  การไปนิพพานแบบนี้  เราจะไปได้หลายวิธี  วิธีหนึ่งท่านใช้คาถาบริกรรมภาวนาเป็นแบสะกดจิต  โดยผู้ควบคุมการกระทำให้ลูกศิษย์นั่งบริกรรมภาวนาคาถาอันใดอันหนึ่ง  เช่น นะ  มะ  พะ  ธะ  เป็นต้น  ในเมื่อบริกรรมภาวนาไป  เป็นคาถาหัวใจธาตุ  ๔  แล้วเมื่อบริกรรมภาวนาไป  จะเกิดมีอาการสั่น  แสดงว่าสมาธิเริ่มเกิด  ปีติเริ่มเกิด  ผู้ควบคุมการแสดงพอสังเกตเห็นว่ามีอาการสั่น ก็รู้ทันทีว่าจิตของลูกศิษย์กำลังเริ่มจะสงบ  ในเมื่อเป็นเช่นนั้น  เขาจะกรอกคำสั่งลงไปทันที  เขาจะสั่งเจ้าว่า  เจ้าจงไปดูนั่น  เจ้าไปดูสวรรค์  แล้วจะสั่งให้ไปดูเมืองนิพพาน  กล่าวเป็นแนวนำว่า  นิพพานมีลักษณะอย่างนั้น  เป็นเมืองแก้ว  เป็นเมืองที่สวยที่งามอย่างนั้น  อย่างนี้  ทีนี้จิตของผู้เริ่มสงบเป็นอุปจารสมาธิ  ด้วยอำนาจแห่งการสะกดนั้น  ในเมื่อได้ยินคำสั่งอะไร  จิตของเขาจะยึด  แล้วจะปฏิบัติตามทันที  จะสั่งให้ไปที่ไหน  อย่างไร  เป็นอย่างไร  จะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้สั่งทุกอย่าง  อันนี้เรียกว่า  การสะกดจิตอีกแบบหนึ่ง

           อย่างที่เราภาวนา  พุทโธ  หรือ  ยุบหนอ  พองหนอ  สัมมาอรหัง  ก็ตาม  ถ้าหากมีใครคอยพูดกล่อมใจ  ชี้แนวทางให้เป็นไปอย่างนั้น ๆ  พอผู้ภาวนามีอาการสงบเคลิ้มลงไป  เขาพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้สั่งทันที  อันนี้เรียกว่า  การสะกดจิตอีกแบบหนึ่ง  สะกดด้วยคาถาอาคม

          และการสะกดจิตอีกแบบหนึ่งที่ฝรั่งเขาใช้กัน  แบบของฝรั่งเขาใช้กันนี้  เขาจะเอาวัตถุมีแสงและมีเงาให้ผู้ถูกสะกดดู  ก่อนอื่นเขาจะกล่าวเตือนว่า  บัดนี้  เขาจะสะกดเจ้าให้ไปดูนิพพาน  ฉันจะเอาของวิเศษของฉัน  ซึ่งมีแสงและมีเงาให้ตัวเจ้าดู  เจ้าจงดูที่จุดนี้  ในเมื่อเจ้าดูอยู่สักครู่หนึ่งเจ้าจะง่วงนอน ๆ  ในที่สุดเจ้าจะนอนหลับ  พอสังเกตดู  หนังตาของผู้ที่ถูกสะกดนั้นค่อยหรี่ลง ๆ  แล้วก็จะสั่งให้หลับ  ในเมื่อสั่งให้หลับแล้วเขาจะสั่งว่า  บัดนี้ฉันจะพูดกับเจ้า  ฉันพูดคำไหน  เจ้าได้ยินคำพูดของฉันทุกคำ  ฉันสั่งคำไหน  เจ้าจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของฉัน  เจ้าจะไม่ขัดขืน  เอาละ  ฉันจะสั่งให้เจ้าไปดุนิพพาน  เมืองนิพพานมีลักษณะอย่างนั้น  เป็นเมืองแก้ว  เป็นเมืองอะไร  แล้วแต่เขาจะพรรณนาไป  เพื่อจูงใจให้เกิดความเชื่อ  ทีนี้จิตของผู้ถูกสะกดนั้น  อยู่ในลักษณะครึ่งหลับครึ่งตื่น  ในเมื่อเขาสั่งอย่างไร  ให้รู้อย่างไร  ให้เห็นอย่างไร  จิตของเขาจะแสดงมโนภาพขึ้นมาให้เขามองเห็น  ถ้าบอกว่าเมืองนิพพานเป็นเมืองแก้ว  ก็จะมองเห็นหอประสาทแก้วขึ้นมาทันที  บอกว่าเมืองนิพพานมีอะไรบ้าง  ผู้ภาวนาจะมองเห็นได้ทันที

           การไปนิพพานแบบนี้  เขาเรียกว่าไปเที่ยวนิพพาน  ไม่ใช่ผู้ได้ถึงนิพพาน  ทีนี้ในเมื่อใกล้จะตาย  เขาจะสามารถไปนิพพานได้ไหม  ผู้ที่ทำภูมิจิตในลักษณะอย่างนี้  ไม่สามารถที่จะไปนิพพานได้  เพราะฉะนั้น  อาตมาเห็นว่า  เรื่องการภาวนาเห็นอะไรต่าง ๆ นี้  ขอได้โปรดอย่าไปสนใจ  เอากันตรงที่เราสามารถภาวนาแล้วมองเห็นจิตใจตนเอง  ว่าจิตในขณะที่มีอารมณ์วุ่นวายมันเป็นอย่างไร  จิตที่มันปราศจากอารมณ์มันเป็นอย่างไร  จิตที่มีสมาธิมันเป็นอย่างไร  จิตมีสติปัญญามันเป็นอย่างไร  ให้มัน รู้สภาพความเป็นจริงของตัวเอง  ว่าเรามีกิเลสตัวไหนบ้าง  และสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้  เราขาดอะไร  เราเกินอะไร  แล้วเราจะได้เพิ่มเติมสิ่งที่มันขาดให้สมบูรณ์ขึ้น  ตัดทอนสิ่งที่เกินให้อยู่ในระดับพอดีพองาม  ทีนี้ถ้าการภาวนานี้มุ่งไปเห็น  หรือมุ่งเอาความเห็นสิ่งที่เห็น  หมายถึงเห็นรูปร่างนิมิตต่าง ๆ  ซึ่งเราอาจจะเห็นรูปคนบ้าง  เทวดาบ้าง  พระอินทร์บ้าง  พระพรหมบ้าง  หรือบางทีอาจจะเห็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง

          ถ้าเราไปฝึกหัดจิตให้ท่องเที่ยวอยู่ในความเห็นสิ่งต่าง ๆ นี้  ถ้าเมื่อไปเห็นพระพรหมก็ค่อยยังชั่ว  เห็นพระอินทร์ก็ค่อยยังชั่ว  ถ้าเกิดไปเห็นสัตว์เดรัจฉานล่ะ  แล้วไปเกาะติดอยู่กับมัน  พอตายปุ๊บในขณะนั้น  จะไม่ไปเกิดเป็นลูกสัตว์เดรัจฉานหรือ  อันนี้ขอฝากไว้พิจารณาด้วย

ถาม :  เพศฆราวาสจะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุ  มรรค  ผล  นิพพาน  หรือไม่  การทำสมาธิจะต้องมีผู้ควบคุม  หรือไม่

ตอบ :    อันนี้มีสิทธิ์ถึงนิพพานได้  ถ้าหากญาติโยมฆราวาสทั้งหลาย  ทำได้  อย่างที่จะว่า  เป็นดีที่สุดเวลานี้อาตมาก็แนะนำให้ชาวบ้านทั้งหลายทำอยู่ที่บ้านของตัวเอง  ก็อย่างคุณหมอก็เคยไปพักที่วัด  อาตมาก็ไม่เคยไปคุมพานั่งสมาธิสักที  มีปัญหาอะไรก็มาถาม ๆ แล้วก็ไปทำด้วยตนเอง  อยากจะให้ทุก ๆ ท่านทำไปตามลำพังของตัวเอง  ถ้าการทำสมาธิมีผู้คอยควบคุม  บางครั้งจิตอาจจะตกกระแสอยู่ในการสะกดจิตถ้ายิ่งทำสมาธิไปด้วย  ฟังเทศน์ไปด้วย  ผู้เทศน์ก็แนะนำให้ทำจิตอย่างนั้น  ทำจิตอย่างนี้  เมื่อจิตของผู้ฟังสงบเคลิ้มลงไป  อยู่ในครึ่งหลับครึ่งตื่น  ในตอนนี้จิตมันจะยึดคำพูด  แล้วจะกลายเป็นเรื่องการสะกดจิตไปทันที  เพราะฉะนั้น  จึงไม่นิยมไปนั่งเฝ้าทำภาวนา  ถ้านั่งเฝ้าก็เพียงแต่ว่า  เวลานี้ทำสมาธินะ  ทำจิตทำใจ

            กำหนดอย่างนั้น  อย่างนี้  ต่อไปนี้ไม่พูด  ทำความสงบกันทุกคน  จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร  แล้วก็ไม่พูดอะไรอีก  ทีนี้พอเวลาล่วงเลยไป ๑ ชั่วโมง  หรือ ๒ ชั่วโมง  พอออกจากสมาธิแล้ว  ใครมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นแล้วก็ถามในขณะนั้น  บางครั้งยังเคยเทศน์ว่า พวกญาติโยมมาทำความดีในวัด  ความดีก็หลั่งไหลมาในวัดหมด  ถ้าหากความดีอันนี้มันจะทำให้รวยได้  วัดก็รวยแต่ผู้เดียว  ญาติโยมก็พากันจนหมด  เพราะมาสร้างความดีให้วัด  เพราะฉะนั้น  การทำสมาธิภาวนาหรือสวดมนต์อยู่ในบ้าน  ดีที่สุด

ถาม :  มีเงินมาก  ทำบุญให้ทานมาก  แต่ก็มีกิเลส  โทสะ โลภะ โมหะ มาก  จะถึงนิพพานหรือไม่  อย่างไร
ตอบ :   การทำบุญทำทาน  แม้จะทำมาก ๆ เท่าไรก็ตาม  แต่ถ้าผู้ทำไม่มุ่งที่จะกำจัดกิเลส  โลภะ  โทสะ  โมหะ  เป็นแต่เพียงมุ่งจะทำทานให้ได้มาก ๆ ก็ยังไม่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน  การที่จะถึงนิพพาน  ต้องปฏิบัติตามหลักของ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  จนสามารถที่จะทำ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  ให้สำเร็จ  ประชุมลงเป็นองค์อริยมรรค  ซึ่งมีคุณภาพ  ประสิทธิภาพ  ที่จะปฏิวัติจิตไปสู่ภูมิจิต ภูมิธรรม  ลำพังแต่เพียงการให้ทานด้วยอามิสอย่างเดียว  ไม่สำเร็จพระนิพพานได้  ถ้าขาดการภาวนา

ถาม :   นิพฺพานํ  ปรมํ  สุขํ  หมายความว่าอย่างไร  ต่างกับ  นิพฺพานํ  ปรมํ  สุญฺญํ  อย่างไร
ตอบ :  นิพฺพานํ  ปรมํ  สุขํ  เป็นภาษาบาลี  เมื่อแปลออกมาก็คือว่า  พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพฺพานํ  ปรมํ  สุญฺญํ  พระนิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง  หรือสูญอย่างยิ่ง  ความหมายของการพูดก็ต่างกันอยู่แล้ว  อันหนึ่งหมายถึงสุข  อันหนึ่งหมายถึงสูญ  คือ  ความสูญเปล่า  ไม่มีอะไร  ทีนี้ปัญหาที่น่าสงสัยก็อยู่ตรงที่ว่า  นิพฺพานํ  ปรมํ  สุญฺญํ  เราเข้าใจว่า  พระนิพพานนี้สูญ  เพราะ  นิพพาน  ก็แปลว่า  ดับ  พึงทำความเข้าใจว่า  ดับ  หมายถึง  ดับจากกิเลส  ตัณหา  มานะ  ทิฏฐิ  อวิชชา  ดับหมด  แต่สิ่งที่เหลืออยู่จากการดับนั้น  อาตมาใคร่ขอฝากท่านผู้ฟัง  ท่านทั้งหลายไว้พิจารณา  ว่าสิ่งที่เหนือการดับนั้น  พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกเราไว้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร  อาตมาขอฝากไว้ให้ท่านทั้งหลายไว้พิจารณา  ทีนี้คำว่า  นิพฺพานํ  ปรมํ  สุขํ  พระนิพพานสุขอย่างยิ่ง  กับ  นิพฺพานํ  ปรมํ  สุญฺญํ  พระนิพพานเป็นความว่างอย่างยิ่ง  อันนี้คำแปลก็มีความหมายต่างกันอยู่แล้ว  อันหนึ่งหมายถึงความสุข  อันหนึ่งหมายถึงความสูญ  คือ สูญเปล่า  คือ  สูญจากกิเลส  ตัณหา  มานะ  ทิฏฐิ  นั่นเอง  ความสูญ  จากกิเลส  ตัณหา  มานะ  ทิฏฐิ  ก็หมายถึงว่า  ความดับกิเลส  แล้วสิ่งที่อยู่เหนือการดับกิเลสนั้นคืออะไร  อันนี้ขอฝากให้นักธรรมะทั้งหลายช่วยพิจารณา

ถาม :   พระนิพพาน  ฝ่ายหนึ่งปฏิบัติจนสิ้นกิเลส  ตัณหา  ก็จะถึงพระนิพพาน อีกฝ่ายหนึ่งทำบุญมาก  เช่น  สร้างโบสถ์  ๒-๓ หลัง  ก็จะได้ไปพระนิพพาน
ตอบ :    ปัญหาข้อที่หนึ่งนั้น  ผู้ปฏิบัติจนสิ้นกิเลส  ตัณหาแล้ว  จนกระทั่ง  จิตถึงซึ่งความบริสุทธิ์  สะอาด โดยสิ้นเชิง  กิเลสไม่มีเหลืออยู่ในใจแม้แต่นิดหนึ่ง  อันนี้เป็นผู้ถึงพระนิพพานอย่างแท้จริง  ผู้ที่ว่าทำบุญมาก ๆ  เช่น  สร้างโบสถ์  ๒-๓ หลัง  จะได้พระนิพพาน  อันนี้เป็นเพียงทานบารมี  เพื่อเป็นการสนับสนุนบุญบารมีให้ถึงพระนิพพาน  ตามหลักแห่งบารมี  ๑๐ ทัศ

ถาม :   ทั้งสองอย่างนี้เป็นนิพพานของพุทธศาสนา  หรือศาสนาใด
ตอบ :  ข้อต้นเป็นนิพพานของศาสนาพุทธ  ข้อที่สองเป็นแนวทางการสร้างหนทางให้ไปสู่พระนิพพานในศาสนาพุทธ  เหมือนกัน  แต่การถึงพระนิพพานได้นั้น  ไม่ได้ถึงด้วยการสร้างโบสถ์  ๒-๓  หลังเท่านั้น ต้องสำเร็จด้วยการปฏิบัติ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  จนสามารถเกิดปหานะ  ละกิเลส  ตัณหา  มานะ  ทิฏฐิ  ละกิเลสน้อย ใหญ่ทั้งปวงออกจากจิตใจได้  จึงจะถึงพระนิพพาน

ถาม :  ที่กล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ทรงทราบว่า เหตุใดจึงเกิดเป็นคน จริงหรือไม่
ตอบ :   การรู้ว่าเหตุใดจึงเกิดเป็นคน  อันนี้ไม่เฉพาะแต่พระพุทธเจ้า  พวกฤๅษีสมัยโบราณก็รู้เหมือนกันว่าเหตุใดจึงเกิดเป็นคน เช่น  อย่างฤๅษีชีไพรซึ่งบำเพ็ญตบะอยู่ในภูเขา ในเมื่อทำสมาธิให้ได้ฌาน สามารถเกิดอภิญญาได้เหมือนกัน  สามารถรู้ว่าชาติก่อนท่านเกิดเป็นอะไรมา  แต่ท่านเหล่านั้นไม่ได้บำเพ็ญมาเพื่อที่จะเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า  จึงไม่ตรัสรู้  ไม่สามารถทำลายกิเลสได้

        ความรู้ระลึกชาติหนหลังได้  ไม่ใช่แต่พระพุทธเจ้าองค์เดียว  แต่ในฐานะที่เราเรียนจากศาสนาของพระพุทธเจ้า  เราจึงพูดว่า  พระพุทธเจ้าเท่านั้น  แต่แท้ที่จริงฤๅษีเขารู้มาก่อนพระพุทธเจ้า  อันนี้  เป็นความรู้พิเศษ  ไม่เฉพาะแต่พระพุทธเจ้าองค์เดียว  ที่จะรู้  ผู้ใดทำสมาธิ  ให้ถึงขั้นสมถะหรือสำเร็จฌาน  สามารถเกิดอภิญญารู้ยิ่งเห็นจริงว่า  ชาติก่อนเขาเกิดเป็นอะไรมาแล้ว  สามารถที่จะรู้ได้ไม่เฉพาะแต่พระพุทธเจ้าองค์เดียว

ถาม :   พระพุทธเจ้าได้ทรงสละบัลลังก์  และทรงละทิ้งลูกน้อยของพระองค์  เพื่อศึกษาและแสวงหาสัจจธรรม  จนบรรลุถึงขั้น  มรรค  ผล  ถามว่า  พระองค์ท่านผิดไหม
ตอบ :    ถ้าพูดถึงว่า  สามัญสำนึกโดยธรรมดา  พระพุทธเจ้าทำผิด  แต่เพราะวิสัยพระสัพพัญญู ท่านย่อมรู้  ท่านรู้ว่าการที่สละราชบัลลังก์  หรือสละสมบัติ  สละพระนางพิมพา  สละราหุล  ออกไปบวช  ไปบวชแล้วจะได้บรรลุคุณธรรมวิเศษ  แล้วเมื่อบวชแล้ว  ถึงแม้ว่าพระนางพิมพาและราหุล  จะทนทุกข์ทรมานก็ตาม  แต่ก็ยังไม่ถึงตาย  แต่เมื่อพระองค์สำเร็จแล้ว  พระองค์จะได้กลับมาโปรดให้ท่านทั้งหลายบรรลุถึง  มรรค  ผล  นิพพาน  พระองค์มองเห็นผลอย่างนี้  แต่ถ้าสามัญสำนึกอย่างเรา ๆ นี้  ถ้าใครเกิดเบื่อโลก  เบื่อครอบครัวแล้วหนีไปบวชนี้  ถือว่าผิดอย่างถนัด

ถาม :    ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ได้รับผลของกรรม
ตอบ :    ก็เพราะพระพุทธเจ้าอยู่ เหนือกรรม แล้ว.