Recent Posts

จิตเห็นจิต


จิตเห็นจิต หรือก็คือสติเห็นจิตนั่นเอง พอที่จะจำแนกออกได้เป็น ๒ ลักษณะคือ

     ๑. สติเห็นจิต จิตที่หมายถึงจิตตสังขารเช่นความคิด,นึก  หรือเจตสิกอันคืออาการของจิตต่างๆนั่นเอง ซึ่งก็คือจิตตานุปัสสนานั่นเอง

     ๒. บางทีก็จัดกันโดยทั่วไปอีกด้วยว่า จิตเห็นเวทนา คือสติเห็นเวทนาหรือเวทนานุปัสสนานั่นเอง ก็เป็นอาการหนึ่งของจิตเห็นจิตด้วยก็ได้  เพราะเวทนาคือสุข,ทุกข์,ไม่สุขไม่ทกข์ ก็เป็นอาการหนึ่งของจิตด้วยเช่นกัน


        ดังนั้นจิตเห็นจิต โดยโลกุตระแล้ว จึงมิได้หมายความถึง การเห็นจิตเป็นดวง  เป็นแสง  เป็นโอภาส  หรือเห็นเป็นเจตภูต  เป็นวิญญาณหรือปฏิสนธิวิญญาณ  หรือแม้แต่รูปนิมิตต่างๆแต่อย่างใด,  จิตเห็นจิตจึงมีความหมายว่าจิตมีสติระลึกรู้เท่าทันที่ประกอบด้วยปัญญาในเวทนาหรือจิตตสังขาร,  จิตเห็นจิตเป็นมรรค คือเป็นหลักการปฏิบัติที่ดีงามยิ่ง ที่เรียกกันโดยทั่วไปในการปฏิบัติวิปัสสนาทั้งของเวทนานุปัสสนาและจิตตานุปัสสนาก็ได้นั่นเอง

        การเห็นจิตเป็นดวง มักเกิดขึ้นจากการเข้าใจผิดที่เรียกจิตในลักษณะนามว่า ดวง  เหมือนดั่งการเรียกช้างเป็นเชือก มีดเป็นเล่ม, เมื่อปฏิบัติ ความเข้าใจผิดก็มักแอบเลื่อนไหลเข้าไปแฝงโดยไม่รู้ตัว  ไปพยายามเพ่งหรือคิดไปว่าจิตเป็นดวง จนในที่สุดเกิดนิมิตและปรุงแต่งว่าจิตเป็นดวง ดั่งดวงดาวขึ้นจริงๆ

        เวทนานุปัสสนา เป็นอาการที่จิตหรือสติเห็นเวทนาอันคือความรู้สึก(Feeling) เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ ที่ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาด้วยเป็นอนัตตาไม่ใช่ตนไม่ใช่ของตัวตนจึงควบคุมบังคับไม่ได้  ดังนั้นเมื่อเกิดการผัสสะต่างๆ แม้แต่เหล่าความคิดคือธรรมารมณ์,  และเห็นที่หมายถึงการระลึกรู้เท่าทัน   ดังนั้นเวทนานุปัสสนาจึงหมายถึง การที่จิตหรือสติระลึกรู้เท่าทันในเวทนาต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งภายในแลภายนอก แล้วประกอบด้วยการอุเบกขาหรือการไม่ยึดมั่นด้วยปัญญาเข้าใจดีอย่างแจ่มแจ้งว่า สักแต่ว่าเวทนา คือ สักแต่ว่าเป็นเช่นนั้นเองเป็นธรรมดาหรือตถตา กล่าวคือ เมื่อเกิดการผัสสะขึ้น ย่อมเกิดเวทนาคือความรู้สึกรับรู้ในอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์ หรืออทุกขมสุขเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่งต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  ด้วยปัญญาจึงไม่สมควรไปยึดมั่นเพราะย่อมเกิดขึ้นดั่งนี้เป็นธรรมดา

        ส่วนจิตตานุปัสสนา เป็นอาการที่จิตหรือสติเห็นคือระลึกรู้เท่าทันจิต จิตที่หมายถึงจิตตสังขารหรือเจตสิกต่างๆที่เกิดขึ้นและเป็นไปทั้งภายในแลภายนอก เช่น จิตมีราคะ(จิตหรือจิตตสังขารหรือความคิดที่ประกอบด้วยราคะ),ไม่มีราคะ   จิตมีโทสะ,ไม่มีโทสะ   จิตมีโมหะ,ไม่มีโมหะ ฯ  จิตเห็นความคิดฟุ้งซ่านหรือความคิดปรุงแต่งฯ  จิตเห็นจิตที่มีอาการหดหู่ฯ  จิตมีสมาธิ ฯ. กล่าวคือเหล่าโลภะ โทสะ โมหะ คือ โลภ โกรธ หลง ฯลฯ.เหล่านี้นั้น ล้วนเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วยความคิดความนึกที่ประกอบด้วยโลภ โกรธ หลง  เพราะโลภ โกรธ หลง ไม่สามารถอยู่แต่เดี่ยวๆได้  ดังนั้นด้วยสติที่รู้เท่าทัน ประกอบด้วยปัญญาญาณจากการหยั่งรู้อย่างแจ่มแจ้ง จึงหยุดการปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านเสีย  เมื่อปราศจากจิตตสังขารคือความคิดนึกปรุงแต่งแล้ว เหล่าโลภะ โทสะ โมหะ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ก็เนื่องจากเหล่ากิเลสคือราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ ล้วนต่างต้องมีจิตคือจิตตสังขารเป็นเครื่องอาศัยนั่นเอง อุปมาดั่งเห็บหมัดที่ต้องอาศัยสุนัขเป็นเรือนอยู่นั่นเอง  เมื่อไม่มีเหล่าสุนัขคือแหล่งเกาะอาศัยเสียแล้ว เห็บหมัดเหล่านั้นย่อมต้องหายคือดับไปเป็นที่สุด

        ปัญหาที่นักปฏิบัติสงสัยกังวลกันก็คือ แล้วควรปฏิบัติจิตเห็นจิตในลักษณะใดกัน  จึงได้ผลดีที่สุด

        ความจริงแล้วทั้ง ๒ ต่างล้วนถูกต้องดีงามด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น  ล้วนเป็นหลักปฏิบัติสำคัญในสติปัฏฐาน ๔  ที่จำเป็นต้องรู้เข้าใจและปฏิบัติทั้ง ๒  แต่ความชำนาญย่อมแตกต่างกันออกไปตามจริต สติ สมาธิ ปัญญา การสั่งสมปฏิบัติของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ   ดังนั้นความชำนาญหรือวสีจึงย่อมแตกต่างกันออกไปบ้างเป็นธรรมดา  แต่ก็ควรศึกษาและปฏิบัติในจิตเห็นจิต ทั้ง ๒ ลักษณะ  เหตุเพราะว่าบางขณะแลบางบุคคล เมื่อปฏิบัติหรือดำเนินอยู่ในชีวิตประจำวัน  อาจสังเกตุเห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ชัดเจนในเรื่องบางประการที่เกิดขึ้น  ส่วนในบางเรื่องหรือบางขณะก็สังเกตุเห็นเจตสิกคืออาการของจิตเช่นความคิดฟุ้งซ่านได้ชัดง่ายกว่า  จึงไม่เป็นหลักตายตัวในการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  จึงขึ้นอยู่กับจิตหรือสติจักเห็นอะไรได้ดีกว่ากันเป็นสำคัญ

        ดังนั้นในการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน จิตเห็นเวทนาหรือจิตสังขารอันใดก่อนก็ย่อมได้ ด้วยให้ผลที่ดียิ่งเหมือนกัน  แต่ล้วนต้องประกอบด้วยความไม่ยึดมั่นหมายมั่น ดังที่กล่าวแสดงไว้ในท้ายทุกบททุกตอนในมหาสติปัฏฐานสูตร หรือก็คืออาการอุเบกขาเสียนั่นเองเป็นสำคัญอีกด้วย  ดังนั้นนักปฏิบัติที่จิตเห็นจิตได้แจ่มแจ้งชัดเจนดีแล้ว แต่ลืมการอุเบกขาประกอบการปฏิบัติด้วย ย่อมได้ผลไม่บริบูรณ์เต็มที่นั่นเอง