"ทุกข์" ในศาสนาพุทธ
พระพุทธเจ้าตรัสถึงสิ่งซึ่งเป็นไปได้ยากหลายอย่าง เช่น
- การได้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างพวกเรานั้นยาก
- เกิดมาแล้วจะได้พบสัตบุรุษคือคนดีคนมีศีลธรรม ก็เป็นไปได้ยาก
- พบแล้วจะมีศรัทธาเข้าใกล้ก็ยาก
- เข้าใกล้แล้วจะได้ฟังธรรมก็ยาก
- ได้ฟังธรรมแล้วจะปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ก็ยากขึ้นไปอีก
หัดภาวนาใหม่ๆ มันมีความสุขมาก ไม่ได้ทำอะไรก็มีความสุขโชยขึ้นมาแผ่วๆ ความสุขผุดขึ้นมาทั้งวันเลย มีสติทีไรก็มีความสุขทุกทีเลย ต่อไปพอสติปัญญาแก่กล้าขึ้นมา มันเปลี่ยนนะ ใจไม่ค่อยมีความสุขหวือหวาขึ้นมาอย่างตอนแรกแล้ว มันเริ่มเห็นทุกข์มากขึ้นๆ "ยิ่งภาวนายิ่งเห็นทุกข์มากขึ้น" เป็นเรื่องแปลก
พอเรารู้สึกตัวขึ้นมา จิตตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ทำไมมีความสุข เพราะว่าเป็นสมถะ สมถะที่มีสมาธิ มีจิตตั้งมั่น จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวก็มีความสุข
แต่พอถึงขั้นเดินปัญญา มันเป็นขั้นรู้ทุกข์ ไม่ใช่ขั้นมีความสุข ถ้าเราเดินปัญญา เราเริ่มเห็นทุกข์นานาชนิดหมุนเวียนกัน เข้ามาในกายในใจนี้ตลอดเวลา ไม่ได้เห็นสุขแล้ว แต่จะเห็นทุกข์
ทุกข์มีหลายแบบ มีหลายขั้น มีหลายตอน ในทางปริยัติจำแนกไว้ถึง ๑๐ ประการ แต่สำหรับนักปฏิบัติ เรามาเรียนรู้ทุกข์บางอย่างก็พอแล้ว
ทุกข์หยาบที่สุดเรียกว่า "ทุกขเวทนา" อย่างเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดเมื่อย หนาวไป ร้อนไป
หิวข้าวก็ทุกข์นะ มีทุกข์ทางกาย มีทุกข์ทางใจ เรียกว่า "ทุกขเวทนา" อันนี้เป็นทุกข์ทั่วๆ ไป ใครๆ ก็มี
สัตว์ก็มีทุกข์กายทุกข์ใจ
ถ้าพวกเราภาวนา เราก็จะเห็นทุกขเวทนาเยอะแยะเลย นั่งอยู่ก็เมื่อย หายใจเข้าก็ทุกข์ หายใจออกก็ทุกข์ ถ้าสติเราเร็วพอ สติปัญญามากพอ ก็จะเห็นเลยว่าที่พยายามหายใจอยู่ตลอดเวลานี่ หายใจไปเพื่อแก้ทุกข์เท่านั้นเอง ที่เปลี่ยนอิริยาบถอยู่ตลอดเวลา ก็เพื่อแก้ทุกข์เท่านั้นเอง
หายใจเข้าไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์ ต้องหายใจออกแก้ทุกข์ หายใจออกไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์ ต้องหายใจเข้าแก้ทุกข์ นั่งนานๆ มันเมื่อยมันทุกข์ ก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปขยับซ้ายขยับขวา หรือลุกขึ้นยืน หรือลุกขึ้นเดิน หรือนั่ง เมื่อยมากก็ลงนอน เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อแก้ทุกข์
ในจิตใจก็เหมือนกัน จิตใจมันมีความทุกข์เกิดขึ้นเรื่อยๆ มันก็ดิ้นรนเที่ยวหาความสุขไปเรื่อย เวลามีความอยากเกิดขึ้นทีไร ก็มีความทุกข์เกิดขึ้นทุกที แต่เราไม่เห็นหรอก เราเห็นว่ามันไม่สบายใจ พอไม่สบายใจ เราก็เที่ยวหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจมาป้อนมัน ไปดูหนัง ไปฟังเพลง ไปคุยกับเพื่อน ไปดูโน่นดูนี่ หรือหาหนังสือมาอ่านให้เพลินๆ ไปกินเหล้า เปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ จริงๆ ก็เพื่อแสวงหาความสุข เพื่อหนีความทุกข์ ใจมันไม่มีความสุขหรอก
เฝ้ารู้เฝ้าดูไปนะ ไม่ว่าจะอารมณ์ชนิดไหนมันก็อยู่ได้ชั่วคราว มันทนอยู่ไม่ได้สักอันเดียว เปลี่ยนอิริยาบถมาอยู่ในอิริยาบถแบบนี้แล้ว นึกว่าจะอยู่สบายก็ไม่สบาย ทนอยู่ไม่ได้อีก จิตใจก็เหมือนกัน
ไปกระทบอารมณ์อย่างนี้นึกว่าจะสบาย ก็สบายแป๊บๆ เดี๋ยวก็ทนอยู่ไม่ได้อีก ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของทนอยู่ไม่ได้
ภาวะแห่งการทนอยู่ไม่ได้นี่แหละ คือทุกข์อีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า "ทุกขลักษณะ"
ไม่ใช่ทุกขเวทนาแล้ว
"ทุกขลักษณะ" หมายถึงว่า สิ่งทั้งหลายนั้นมันทนทานอยู่ไม่ได้จริง ถ้ามันทนอยู่ได้เรื่อยๆ ไปก็ยิ่งทุกข์หนักนะ เกิดทุกขเวทนาหนักเสียอีก
สิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนไปเรื่อย ไม่คงที่ เวลาเราภาวนามากเข้าๆ ไม่ใช่เห็นแค่ทุกข์ทางร่างกาย
เราจะเห็นเลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในกายในใจนี้ เป็นของชั่วคราวทั้งหมดเลย มีขึ้นมาแล้วก็หายไป
เช่น นั่งอยู่ รูปนั่งก็ทนอยู่ได้ไม่นาน รูปนั่งมันถูกทุกขเวทนาบีบคั้นแล้วมันมีทุกขลักษณะ คือมันไม่สามารถทนอยู่ได้นานในรูปนั่ง ต้องเปลี่ยนเป็นรูปนอน นอนก็อยู่ได้ไม่นานก็ต้องเปลี่ยนอีก
ความสุขเป็นของทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นก็อยู่ได้ไม่นานก็ต้องเปลี่ยน ดังนั้นความสุขก็มีทุกขลักษณะ
หมายถึงว่ามันทนอยู่ไม่ได้ นี่สติปัญญาของเราเริ่มแก่กล้าขึ้นมา เห็นกระทั่งสุขเป็นตัวทุกข์
ตรงขั้นที่เห็นทุกขเวทนานั่นใครๆ ก็เห็น อันนี้เรื่องธรรมดา เป็นเรื่องโลกๆ ตรงขั้นที่เห็นทุกขลักษณะนี่ขึ้นวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว ถ้าขึ้นวิปัสสนาจะเห็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ของรูปนาม
ถ้ายังไม่เห็นไตรลักษณ์ แม้จะเห็นรูปนามก็ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา
พอเราเห็นไปเรื่อยๆ ต่อไปการเห็นทุกข์มันจะประณีตขึ้น ตรงที่เห็นทุกขลักษณะนี่สามารถบรรลุธรรมได้แล้ว เป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี บรรลุได้เพราะมันเห็นทุกข์
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
หนังสืออริยสัจเพื่อความพ้นทุกข์ หน้าที่ ๒๖-๓๐