Recent Posts

การปรุงแต่งจิต


          เราอย่าปรุงแต่งจิตใจ แต่เราให้รู้ทันจิตใจมันปรุงแต่ง เรารู้ทัน เราอย่าไปแต่งมันซะเอง นักปฏิบัตินะเกือบร้อยละร้อย พยายามแต่งจิตตัวเอง

          ธรรมชาติของจิตนั้นมันปรุงอยู่แล้วล่ะ เพราะมันมีอวิชชา มันไม่รู้แจ้งในขันธ์ ๕ พอมันไม่รู้แจ้งในขันธ์ ๕ นะ มันก็อยาก เกิดความอยาก อยากให้ขันธ์มีความสุข อยากให้ขันธ์ไม่ทุกข์ เนี่ยใจมันก็ดิ้นรน เนี่ยอวิชชาเป็นปัจจัย ให้เกิดความปรุงแต่ง-เกิดสังขาร ตรงนี้จะดูยากนิดนึง ค่อยๆ ภาวนาแล้วจะเห็น ความปรุงของจิตมันมี ๓ แบบ

          อันแรกปรุงชั่ว (อปุญญาภิสังขาร) ไม่ต้องเจตนาปรุงนะ มันปรุงเก่ง อันนี้มันเคยชินปรุงชั่ว คนทั่วๆไปที่ไม่ได้เรียนกรรมฐาน หรือไม่ได้ปฏิบัติธรรม จิตมันชอบปรุงชั่ว

          ส่วนคนที่เรียนกรรมฐานปฏิบัติธรรมเนี่ย ชอบปรุงดี (ปุญญาภิสังขาร) ปรุงดีกับปรุงชั่วนั้น รากเหง้ามันอันเดียวกัน คืออวิชชา ความไม่รู้แจ้งแทงตลอด ในขันธ์ ๕ /ในรูปในนาม/ในกายในใจนี้ เราไม่รู้แจ้ง เราก็อยากให้มันดี อยากให้มันสุข อยากให้มันสงบ มันก็เลยเกิดการกระทำทางใจขึ้นมา ไปแต่งจิตขึ้นมาให้มันดีให้มันสุข ให้มันสงบ

          งั้นความปรุงแต่งของคนซึ่งไม่ได้ภาวนานะ ก็จะปรุงชั่วโดยพื้นฐาน ส่วนนักปฏิบัติ ก็จะปรุงดี เวลาเผลอไม่ได้ปฏิบัติ ก็ไปปรุงชั่วต่อ

          มีความปรุงอีกชนิดหนึ่ง เรียก อาเนญชาภิสังขาร มันปรุงความว่างๆ มันเห็นว่าตราบใดที่จิตยังกระทบอารมณ์อยู่ จิตก็ไม่เลิกปรุงแต่งหรอก เพราะฉะนั้น ต้องหนีการกระทบอารมณ์ให้ได้ วิธีหนีการกระทบอารมณ์ ก็คือหนีเข้าอรูปฌาน เข้าอรูปไป งั้นจะเรียกว่า ทำอาเนญชาภิสังขาร (คือ)ปรุงแต่งความว่างๆ ไม่ต้องกระทบอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบแต่อารมณ์ทางใจอันเดียว อันนี้พวกเราปรุงไม่ค่อยเป็นหรอก แต่บางที่เขาสอนกรรมฐานกัน เขาก็สอนให้ปรุงว่างๆ สอนว่า อย่าคิดอย่านึก อย่าปรุงอย่าแต่ง
ทำจิตให้ว่าง อะไรๆ ก็ว่าง เน้นแต่คำว่า ว่างๆ อันนั้นก็คือปรุงว่างขึ้นมา ปรุงอาเนญชาภิสังขารขึ้นมา ไม่พ้นหรอก! หมดแรงปรุงเมื่อไหร่ มันก็กลับมาปรุงชั่ว-ปรุงดีต่อ (เมื่อ)หมดแรงที่จะปรุงว่าง

          งั้นเราไม่ปรุงแต่งนะ "แต่เรารู้ทันเวลาจิตมันปรุงแต่ง" จิตมันปรุงชั่ว ให้รู้ทัน จิตมันปรุงดี ให้รู้ทัน จิตมันไปปรุงความว่างๆ ให้รู้ทัน อย่าไปเอามัน บางสำนักสอนกันนะ สอนเอาความว่าง ไอ้โน่นก็ไม่ยึด ไอ้นี่ก็ไม่ยึด ที่จริงก็คือยึดความไม่ยึดอะไร (ก็)ยึดอยู่ดี

          มันเหมือนมีสมัยพุทธกาลนะ มีคนหนึ่งเป็นหลานพระสารีบุตร ชื่อนายเล็บยาว ทีฆนข(แปลว่า)นายเล็บยาว ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ถ้ำ ใครเคยไปภูเขาคิชฌกูฏบ้าง มีถ้ำเล็กๆอยู่ถ้ำหนึ่ง ถ้ำเล็กนิดเดียว ถ้ำหมูขุด-ถ้ำสุกรขาตา ท่านพระสารีบุตรท่านภาวนาที่นั่น นี้พระพุทธเจ้าจะไปโปรด พระพุทธเจ้าเลยไปที่ถ้ำนี้ด้วย อยู่ก่อนจะถึงพระคันธกุฎีอยู่ข้างบน ทีฆนขจะมาเยี่ยมพระสารีบุตร เจอพระพุทธเจ้า ก็เลยอวดกับพระพุทธเจ้า บอกว่า อะไรๆ ก็ไม่ควรกับข้าพระองค์ หมายถึงว่า ฉันไม่ยึดอะไรสักอย่างเลย พระพุทธเจ้าท่านก็ย้อนบอกว่า เนี่ย ยึด! ความไม่ยึดอะไร แล้วท่านก็สอนเรื่องของมีผัสสะแล้วก็เกิดเวทนา มีเวทนา แล้วก็เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์ ขึ้นมา ทีฆนขได้(บรรลุเป็นพระโสดาบัน) แต่พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ ได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าโต้กับทีฆนข

          งั้นความปรุงนะ อย่างปรุงไม่เอาอะไรสักอย่างหนึ่ง มันก็เอานั่นแหละ มันจะเอาความไม่เอาอะไร ก็ยึดในความไม่ยึดอะไร ก็ใช้ไม่ได้ มันก็ยังปรุงอยู่ รากเหง้าของความปรุงแต่ง ก็คืออวิชชานั่นเอง  งั้นพวกเรานะ พยายามมาเรียนรู้ ไม่ต้องหาทางว่าจะปรุงยังไงที่จะไม่ปรุงชั่ว ไม่ต้องหาทางว่าปรุงยังไงจะปรุงแต่ดีๆ หรือปรุงยังไงจะว่างๆ ไม่ยึดอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ต้องดิ้นรนหาทางปรุงแต่งอย่างนั้น

          เรียนรู้ลงมาที่รูปนาม/กายใจนี้ ให้เห็นความจริงของรูปนาม/กายใจนี้ ถ้าเห็นแจ้ง แล้วก็รู้ว่าขันธ์ ๕ มันเป็นตัวทุกข์นะ ความอยากที่จะให้ขันธ์ ๕ เป็นสุข ก็ไม่มี ความอยากให้ขันธ์ ๕ พ้นทุกข์ ก็ไม่มี จิตเข้าถึงความเป็นกลาง ตรงที่จิตมันเข้าถึงความเป็นกลางนั้น มันจะไม่ปรุงต่อ ที่มันปรุงเพราะมันไม่เป็นกลาง อย่างมันอยากดี เกลียดชั่ว หรือมันรักสุข เกลียดทุกข์ อะไรอย่างนี้(เพราะ)จิตมันไม่เป็นกลาง มันถึงปรุงต่อ

          ถ้าเมื่อไหร่จิตมีปัญญาแก่รอบนะ เป็นกลางต่อทุกสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาเฉพาะหน้าเนี่ย จิตจะไม่ปรุงต่อ ไม่ว่าดี หรือชั่ว หรือว่าง จิตจะไม่ปรุงอะไรเลย เมื่อจิตไม่ปรุงแต่งต่อนะ การหยั่งจิตลงไปเกิดในภพใหม่ก็จะไม่มี เพราะตัวสังขารนี่เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ให้จิตหยั่งลงไปสู่ภพต่างๆ งั้นการที่เรารู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจนั้นจิตก็พ้นจากความปรุงแต่งไป รู้.. ว่ารูปนาม/ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ งั้นจิตจะไม่ปรุงต่อ ถ้าจิตไม่ปรุงต่อ จิตจะไม่หยั่งลงสู่ความเกิด

          ธรรมะตรงนี้ภาวนากันนานนะกว่าจะเห็น ปฏิจจสมุปบาทท่อนแรกยากมาก ที่พวกเราภาวนากัน
เราเห็นปฏิจจสมุปบาทท่อนท้ายๆ อย่างเรามีตาก็เลยเห็นรูป อันนี้รู้มั้ย ? เพราะมีตาก็เลยเห็นรูปได้ มีผัสสะทางตาได้ พอเห็นรูปแล้วมันเกิดสุข เกิดทุกข์ขึ้น อย่างนี้รู้ได้มั้ย เห็นรูปที่ชอบใจมีความสุข เห็นรูปไม่ชอบใจมีความทุกข์ พอมีความสุข-ความทุกข์ขึ้น มันก็อยาก ความสุขเกิดขึ้น ก็อยากให้ความสุขอยู่นานๆ
ความทุกข์เกิดขึ้น ก็อยากให้ความทุกข์หายไป พอมีความอยากเกิดขึ้น ความยึดถือก็เกิดขึ้น ความยึดถือกับความอยาก เนี่ยพวกเดียวกันนะ เป็นตระกูลโลภะ ตระกูลโลภ ตัณหา คือโลภะที่มีกำลังแรงกล้า

          อุปาทาน คือตัณหาที่มีกำลังแรงกล้า มันทำงานเต็มที่แล้ว มันจะเข้าไปยึด ไปยึดเข้าไปเกาะ ตัณหาเนี่ยมันทะยานเข้าไปเข้าไปตะครุบอารมณ์ แล้วมันก็จับอารมณ์ไว้มั่นเลยนะ พอจับได้มันก็จะปรุงต่อแล้วคราวนี้ ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงว่าง อะไรก็ปรุงต่อไปอีก พอปรุงไป จิตจะหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมา แต่หยิบทีละอัน เวลาหิวอารมณ์ทางตา จิตก็จะยึดตา หยิบฉวยตาขึ้นมา หิวอารมณ์ทางหู อยากฟังเสียง จิตก็จะหยิบฉวยหูขึ้นมา อย่างตอนที่เราทุกวันนี้ เรามีตาอยู่ตลอดใช่มั้ย แต่เราไม่ได้ใช้ตาตลอดเวลาในขณะที่เราฟัง เนี่ยเราไม่ได้ใช้ตา ในขณะที่เราคิด เราไม่ได้ใช้ตา ในขณะที่จิตลงภวังค์ไม่ได้ใช้ตา
งั้นมีตาอยู่แต่จิตไม่ได้ไปหยิบฉวยขึ้นมา แต่เราจะไปหยิบมาใช้งาน ทีละอย่างๆ ที่ละช่องทาง ตรงที่จิตไปหยิบฉวย เอาตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมานะ ตรงนั้นเรียกว่า"ชาติ" ชาติ คือตวามเกิด หรือความได้มาซึ่งอายตนะ (คือ)ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตรงนี้ยังพอดูได้นะ แต่ยากเหมือนกัน ที่จะเห็นจิตฉวยอายตนะขึ้นมา

          ถ้าจิตไปหยิบอารมณ์เนี่ยดูง่าย จิตไปหยิบฉวยอารมณ์ดูง่าย ดูออกมั้ย เวลาจิตไปตะครุบอารมณ์ แต่ตรงที่จิตไปหยิบเอา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมา ดูยากหน่อย แต่ก็ได้ยินธรรมะอย่างนี้ก็ไปหัดดู มันก็ดูเป็นแหละ

          ทันทีที่จิตมันหยิบฉวย เอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมานะ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที เพราะอะไร ? สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ก็คือ ตัวรูปกับนาม(ย่อลงมาคือกายกับใจ) รูปนามเนี่ย ตา หู จมูก ลิ้น กาย(เป็นรูป) ใจ(เป็นนาม) ก็เป็นตัวรูป-ตัวนามทั้งนั้นแหละ งั้นเมื่อไหร่จิตไปหยิบฉวยขึ้นมา จิตก็ทุกข์ขึ้นมา

งั้นอย่างเราหัดภาวนา เราจะเห็นตั้งแต่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปกระทบอารมณ์นะ เนี่ยเกิดความสุข-ทุกข์ ขึ้นมาเกิดตัณหา เกิดความยึดถือ(คือ)อุปาทาน เกิดภพ คือความดิ้นรนของใจ เกิดชาติคือการหยิบฉวยอายตนะขึ้นมา แล้วก็เกิดทุกข์ ทุกข์นั้นเราได้มาเพราะการหยิบฉวยอายตนะ (คือ)ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจหรือรูปนาม/ขันธ์ ๕ นั่นเองเราไปหยิบมันขึ้นมา เราก็จะทุกข์

          เราหัดภาวนาไปเรื่อยๆนะ ทีแรกมันก็จะเห็นว่า โอ้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แส่ส่ายออกไปมีผัสสะทีไรมีทุกข์ทุกทีเลย งั้นจิตจะทำงาน จิตจะดิ้นรน แล้วจิตก็ทุกข์ ตรงนี้แหละที่บางคนมันฉลาด มันเลยรู้ว่า ถ้าไม่ต้องกระทบอารมณ์นะจะได้ไม่ต้องมีตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์ งั้นพวกปรุงอาเนญชาภิสังขาร มันไม่ได้กระจอกนะ มันก็ฉลาดเหมือนกัน มันรู้ว่าถ้าไม่ต้องกระทบอารมณ์เนี่ย มันจะไม่ปรุงการหยิบฉวยความทุกข์ขึ้นมา มันถึงเกิดอาเนญชาภิสังขารขึ้น งั้นพวกอาเนญชาภิสังขารเนี่ยเก่งนะ ไม่ใช่ไม่เก่ง
"แต่มันเก่งไม่ตลอด .. เก่งไม่เต็มที่" มันไม่ใช่ญาณตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า!

          พวกเราเคยรู้สึกมั้ยว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องทำงานขึ้นมาแล้วเราทุกข์ เคยรู้สึกมั้ย ? ใครเคยเห็นตรงนี้บ้าง ? จิตดิ้นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันทุกข์ขึ้นมา เห็นมั้ยตรงนี้ ? ใครเคยเห็นยกมือขึ้นมา ไม่ต้องเห็นตลอดหรอกนะ เห็นเป็นคราวๆ เห็นตลอดไม่ได้หรอก ก็มีหลายคนนะ

          นี้บางคนฉลาด แต่ไม่รอบรู้ในคำสอนของพระพุทธเจ้า มันรู้ว่าถ้ามีผัสสะแล้วมีทุกข์เพราะงั้นมันเลี่ยงผัสสะ วิธีเลี่ยงผัสสะก็คืิอไม่ต้องมีตา หู จมูก ลิ้น กาย เหลือใจอันเดียว พวกเข้าอรูปฌาน นี่เรียกว่า"อาเนญชาภิสังขาร"

          มีอีกพวกหนึ่งนะ มันดับจิตลงไปเลย เหลือแต่ร่างกายอันเดียว นั่งทื่อๆอยู่ ไม่มีความรู้สึก (คือ)พวกพรหมลูกฟัก(อสัญญสัตตาพรหม) พวกนี้มันก็ไม่สัมผัสอารมณ์เหมือนกัน ไม่รู้อารมณ์เหมือนกัน พวกนี้ไม่ใช่พวกกระจอกนะ พวกนี้เป็นนักปฏิบัติที่เก่งเลยแหละ แต่ว่าเก่งไม่ตลอด ไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า มันก็เลยไปปรุงความว่างๆ ปรุงการไม่กระทบอารมณ์ขึ้นมา

          วิธีการของพระพุทธเจ้า ไม่ได้สอนเราให้หนีการกระทบอารมณ์ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็รู้รส มีกายก็รู้สัมผัสทางกาย มีใจก็คิดนึกปรุงแต่ง ห้ามไม่ได้ แต่เมื่อมันกระทบอารมณ์แล้วนะ เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศล เกิดอกุศลให้รู้ไป แล้วเราจะเห็นว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเนี่ย ดับทั้งสิ้น! ที่พระพุทธเจ้าสอนเนี่ยมุ่งมาตรงนี้ ไม่ใช่มุ่งปรุงแต่งจิตให้ว่างๆ ไม่ได้มุ่งปรุงดี แต่มุ่งให้จิตได้เรียนรู้ว่า "สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา.. สิ่งนั้นดับเป็นธรรมดา" ที่ปัญจวัคคีย์ได้ยินธัมมจัก(ธัมมจักกัปปวัตนสูตร)
ก็เข้าใจธรรมะขึ้นมาว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ...มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับเป็นธรรมดา" นี่คือเส้นทางของพระพุทธเจ้า ไม่หนีการกระทบอารมณ์ แต่กระทบอารมณ์ไปแล้ว จิตปรุงอะไรขึ้นมา ปรุงชั่ว ปรุงดี ปรุงว่าง ปรุงอะไรก็ตามเถอะขึ้นมา (ให้) มีสติรู้ทันไปแล้วเราจะเห็นว่า.. สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ นี่คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนปัญจวัคคีย์นะ

          "สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ" "ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมันติ"

          สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดแหละ มีความดับเป็นธรรมดา คำว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง" หมายถึงอะไร ? คือ something สิ่งใดสิ่งหนึ่ง something เกิดขึ้นมา แล้วทั้งหมดนั้นน่ะ ต้องดับ!

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช