Recent Posts

โลกียธรรม โลกุตตรธรรม


โลกียธรรม...โลกุตตรธรรม...ฌานสมาบัติ
คำที่คนทั่วไปยังเข้าใจสับสนกันอยู่

“เรื่องโลกียธรรม(โลกิยธรรม) และ โลกุตตรธรรม อันนี้ในระยะนี้ รู้สึกว่ามีความสับสนปนเปอยู่บ้าง คือว่าในความรู้สึกสามัญ ความหมายของคำว่า โลกียธรรม โลกุตตรธรรม นี้ อาจจะต่างออกไปจากความหมายของ โลกียธรรม และ โลกุตตรธรรม ที่เป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา บางทีเราพูดสับสนเกินไปถึงกับว่า เรื่องของชาวโลกเป็นโลกียธรรม เรื่องของพระหรือเรื่องของผู้ออกบวชเป็นโลกุตตรธรรม เป็นเรื่องของคนที่หลีกลี้ออกจากสังคมไปอยู่ป่าอยู่เขา อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่สับสนปนเป แม้จะไม่ผิดโดยสิ้นเชิงแต่ก็ไม่ถูก

ทีนี้ เอาตามหลักการท่านบอกว่า โลกียธรรม คือ ธรรมที่เนื่องด้วยโลก ที่เกี่ยวข้องกับโลก 

และ โลกุตตรธรรม ธรรมเหนือโลก โลกุตตรธรรมท่านก็พูดเอาอย่างจำกัดตัวเลยว่า ได้แก่ มรรค ผล นิพพาน มีรวมทั้งหมด ๙ อย่าง แต่ในคัมภีร์บางแห่งขยายไปถึง ๓๗ ประการ เป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เรียกว่า เป็นโลกุตตรธรรม แต่จะมาบรรยายในเนื้อหากันก็คงจะใช้เวลามากไป

สาระสำคัญก็คือ โลกุตตรธรรม นี้คือ..หลักการปฏิบัติหรือภาวะที่เข้าถึง ที่ทำให้บุคคลมีชีวิตจิตใจที่เป็นอิสระ หลุดพ้น ลอยเหนือกระแสโลก ทีนี้ บุคคลที่เป็นอย่างนี้โดยปกติได้แก่ “พระอริยบุคคล” ซึ่งถึงวิมุตติบ้างแล้ว ถึงแม้จะไม่สิ้นเชิงก็ถึงบ้าง เช่น เป็นพระโสดาบัน เป็นต้น พระโสดาบันนั้นก็เป็นพระอริยบุคคล ซึ่งจำนวนมากเป็นคฤหัสถ์ ยังอยู่ครองเรือน มีบุตรมีสามีภรรยา ท่านเหล่านี้ก็ถึงโลกุตตรธรรมแล้ว

ส่วนอีกด้านหนึ่ง โลกียธรรม เนื่องด้วยโลก ยังมีการติดอยู่ เช่น อยู่ในโลกก็ติดในลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ออกบวชแล้ว บางทีไปบำเพ็ญธรรมในป่า ไปได้ฌานสมาบัติ ก็ติดในฌานสมาบัติ เพลินในความสุขจากฌานสมาบัติ ก็เป็นโลกียะ เป็นเรื่องเนื่องด้วยโลก 

บางคนก็ไปพูดถึงฌานสมาบัติ นึกว่าเป็นเรื่องโลกุตตระ ซึ่งที่จริงไม่ถูกต้อง ความจริงแล้ว ฌานสมาบัติตามปกติก็เป็นโลกียธรรมทั้งสิ้น จะเป็นโลกุตตรธรรมก็ต่อเมื่อไปเป็นฌานสมาบัติของท่านผู้ที่หลุดพ้นแล้ว แม้จะเป็นพระโสดาบันอยู่บ้าน จะได้ฌานสมาบัติหรือไม่ ก็เป็นโลกุตตระ ถ้าได้ฌานสมาบัติด้วย ฌานสมาบัตินั้นก็กลายเป็นโลกุตตระไป

ฉะนั้น เรื่อง..โลกียะ โลกุตตระ นี้ จะมองแต่เพียงความเป็นอยู่ทั่วๆไปย่อมไม่ถูกต้อง จะต้องมองถึงภาวะจิตใจที่หลุดพ้น เป็นอันว่า ไม่พึงแบ่งแยกที่สภาพความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ต้องเข้าถึงชีวิตจิตใจ ถ้าเขาอยู่ในโลก แม้อยู่ครองเรือน แต่ชีวิตจิตใจเป็นอิสระหลุดพ้น เช่น เป็นพระโสดาบัน เป็นต้น เขาก็บรรลุโลกุตตรธรรมแล้ว

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสว่า เราบัญญัติโลกุตตรธรรมว่าเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกคน เช่นเดียวกับที่พราหมณ์บัญญัติว่า ในวรรณะ ๔ นั้น วรรณะกษัตริย์มีอันนี้เป็นสมบัติประจำตัว วรรณะพราหมณ์มีอันนี้เป็นสมบัติประจำตัว วรรณะแพศย์ วรรณะศูทรมีอันนี้เป็นสมบัติประจำตัว พราหมณ์เขาบัญญัติไว้อย่างนั้น เช่น บอกว่า สำหรับวรรณะศูทรนั้นให้เคียวกับไม้คานเป็นสมบัติประจำตัวอะไรทำนองนี้ แต่พระพุทธเจ้าว่า เราบัญญัติโลกุตตรธรรมให้เป็นสมบัติของทุกคน ให้มนุษย์ทุกคนมีโลกุตตรธรรม

เพราะฉะนั้น จะอยู่ที่ไหน อยู่ในโลก ในบ้านก็ตาม ออกบวชก็ตาม ก็ควรพยายามแสวงหาและเข้าถึงโลกุตตรธรรม พยายามให้ชีวิตนี้ จิตใจนี้เป็นอิสระให้ได้ มิฉะนั้น แม้จะออกบวชแล้ว ไปได้ฌานสมาบัติ ไปติดเพลินในฌานสมาบัติเสีย ก็อยู่ในโลกียธรรมนั่นเอง เพราะฌานสมาบัติเป็นโลกียธรรม หาใช่เป็นโลกุตตรธรรมไม่ ถ้าเป็นของปุถุชน”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
(  ป. อ. ปยุตฺโต  )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “พุทธศาสนาคือเรื่องของธรรมชาติ”

หมายเหตุ : 
“ โลกียธรรม ” ในบางที่ก็เขียน “ โลกิยธรรม ”
“ โลกุตตรธรรม ” ในบางที่ก็เขียน “ โลกุตรธรรม”
ก็คือคำเดียวกัน