Recent Posts

ปัญญาญาณ

 


การเจริญปัญญาญาณนั้นไปตั้งใจหรือกําหนดไม่ได้ เพราะการเจริญวิปัสสนานั้นจะเกิดต่อเมื่อหมดความคิด การไปพิจารณาจะเดินปัญญาอันนั้นยังเป็นการไปคิดมิใช่วิปัสสนา เป็นเพียงปัญญาแบบโลกๆ ยังติดกับเหตุผลของเราที่เรายึดเอาไว้เองยังมีผิดมีถูก มีชอบใจไม่ชอบใจ เป็นเพียงระดับความคิดปัญญาทางโลกเท่านั้น


ต้องระวังความคิดการปรุงแต่งแห่งใจ เพราะวิปัสสนานั้น หรือ ญาณ หรือ ปัญญาญาณนั้น ผุดเกิดขึ้นมาเอง เราไปกําหนดให้เกิดไม่ได้ หากมีพิจารณา อันนั้นไม่ใช่ปัญญาญาณแล้ว เป็นปัญญาความคิด เพราะปัญญาญาณนั้น เป็นการรู้แบบ ผุดออกมาจากใจ รู้ที่ใจ ใจสว่างด้วยแสงแห่งปัญญา สว่างให้รู้รอบ รู้ในทุกๆด้าน รู้หมดต้นจบปลาย รู้ได้ยาวไกล (ผมพยายามใช้คําเพื่อบอก แต่ภาษาจิต อธิบายยาก ) แต่เป็นปัญญาที่รู้แบบอนันต์ ถ้าคุณเอาความคิดเข้าไปจับ แล้วพิจารณา อันนั้นไม่ใช่ปัญญาญาณแล้ว


เช่น การไปคิดพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ คิดว่ามีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อย่างนี้เป็นความคิด ที่นักปฏิบัติชอบใช้กัน แต่ถ้าเป็นปัญญาญาณที่สว่างโพล่งจากใจ จะไม่มีการไปพิจารณาเลย จะอยู่ๆผุดขึ้นมาจากใจ โดยไม่มีความตั้งใจอะไรเลยของเรา อยู่ๆมาให้รู้เอง ในปัจจุบัน ณ . ตรงนั้น เวลานั้น สว่างโพล่งรู้ได้ด้วยใจตนเองเลย ลองปล่อยใจให้ว่าง ไม่มีการปรุงแต่ง ปัญญาญาณเกิดจากจิตที่ว่างๆนะ


สติ มากํากับใจ ทําให้มีสมาธิ จิตตั้งมั่นแม้เพียงช่วงสั้นๆ เกิดปัญญาญาณแว๊ปๆ เมื่อสติมากขึ้น ว่างมากขึ้น ปัญญาญาณจะมากขึ้นและเห็นได้ชัดขึ้น

หากยังมีสมมุติ วิมุตติย่อมไม่เกิด ปัญญาญาณย่อมไม่มี ปัญญาญาณจะเกิดต่อเมื่อหมดสมมุติจากใจ ใจที่ว่างเท่านั้น

หลักให้พิจารณาอยู่กับฐานกาย เมื่อจิตว่างตั้งมั่น จะเกิดปัญญาญาณ ให้เห็นเองครับ


อย่าส่งจิตออกนอก ปล่อยใจไหลไปพิจารณาสิ่งใดๆ หรือสิ่งอื่น ให้แค่ รู้ แล้วกลับมาอยู่กับฐานกาย แค่รู้แล้วกลับมาอยู่กับฐานกาย เพราะถ้ามัวไปพิจารณารู้ไหลไปกับรู้เพราะคิดว่าจะเจริญปัญญาสิ่งที่ได้จะเป็นปัญญาความคิด แต่เมื่อไหร่ที่ เราแค่รู้แล้วกลับมาอยู่กับฐานกายแล้วเมื่อไหร่ที่ใจเราตั้งมั่นว่างๆ จะเกิดปัญญาญาณจากใจ เกิดที่ใจ ไม่ใช่หัวสมอง ถ้ารู้สึกว่าใช้สมองคิดอยู่ อันนั้นไม่ใช่แล้ว ใจไม่ว่างแล้ว ปัญญาญาณไม่เกิดนะ พิจารณาตรงนี้ดีดี แล้วปฏิบัติตรงนี้ให้ข้าม เพราะผู้ปฏิบัติที่ปฏิบัติมามากๆแล้ว มาติดอยู่ตรงนี้กันมากๆครับ


เอาคําสอนของหลวงปู่ดูลย์มาให้อ่านครับ


วิธีเจริญจิตภาวนาตามแนวการสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุ โล


เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อย ๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ก็ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าว ก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเอง เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบ และคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึกและ "พฤติแห่งจิต" ที่ฐานนั้นๆ

บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ

ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไป มาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจกิริยาหรือพฤติแห่งจิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือ กิเลสปรุงจิต)

ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ทั้งสาม คือ ราคะ โทสะ โมหะ

อย่าส่งจิตออกนอก กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก เมื่อจิตเผลอคิดไปก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิตให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลายอย่าได้ใส่ใจกับมัน)

ระวัง จิตไม่ให้คิดเรื่องภายนอก สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทางอายตนะ ๖


ใจความสําคัญ " ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้แค่รู้ แล้วละอารมณ์นั้นทิ้งไป ให้รู้สึกตัว พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ "