Recent Posts

อย่างนี้ถึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา

 


การรักษาความเป็นปรกติ 

รักษาความถูกต้องเป็นปรกติ เป็นกลาง 

ความพอดีความสม่ำเสมอกัน

ของธรรมชาติที่เข้าไปรับรู้รับทราบ 

มีความสม่ำเสมอมีความกลมกลืนกัน 


เพราะฉะนั้นธรรมชาติที่เข้าไปรู้รับทราบ

ที่จะกลมกลืนกันนี่ 

มันจะต้องมีความนุ่มนวลละเอียดอ่อน 

มีความสัมผัสสัมพันธ์

กันอย่างกลมกลืนสละสลวย 


หมายถึงว่าการเข้าไปรับรู้นี่ 

ไม่ใช่เข้าไปกดเอาไปบังคับเอาไปเคี่ยวเข็นเอา 

ไปยันไว้ ไปเบรคไว้ ไปกดไว้ควบคุมไว้ 

ไม่ใช่อย่างนั้น อย่างนั้นมันจะไม่กลมกลืนกัน 

มันจะไม่ละเอียดอ่อน 

มันจะมีแต่เกร็งมีแต่ตึง มีแต่เคร่งเครียด


ถ้าปรับให้มันมีความสม่ำเสมอสมดุลกัน 

ทุกอย่างจะนุ่มนวลละเอียดอ่อน 

มีความเบาสละสลวยทั้งในกายในจิต 

รับรู้รับทราบสภาวธรรมต่าง ๆ 

ได้อย่างละเอียดแล้ว

ก็กลมกลืนสัมผัสสัมพันธ์กันไป 

นั่นก็คือว่าจะต้องไม่มีการบังคับ


เมื่อผู้ปฏิบัติฝึกมามาก มากขึ้น

จะต้องไม่มีการบังคับจิต 

เช่น ดึงจิตมาตรงนี้ 

จิตจะย้ายไปตรงนั้นก็บังคับไว้ตรงนี้ 

อย่างนี้ถือว่าบังคับ ปฏิบัติมาก ๆ แล้ว

จะไม่บังคับ จิตจะเคลื่อนย้ายอย่างไร

ก็ปล่อยเขา เขาจะมีกระแสเคลื่อนย้าย 


บางทีมันรู้กายส่วนล่าง 

บางทีมันรู้กายส่วนท่ามกลาง 

บางทีมันก็รู้กายส่วนบน 

ขณะที่รู้กายส่วนบนระลึกตรงกาย 

ส่วนบนมันแป๊บไปส่วนล่าง 

แป๊บไปตรงนั้น แป๊บไปตรงนี้ 


ก็ปล่อยไม่มีการฝืนแต่ระลึก

ตามระลึก ตามรู้ตามดู 

รู้สึกทางกายบ้าง รู้สึกที่จิตใจบ้าง 

รู้ตัวของตัวมันเอง 

รู้ที่จิตใจก็คือรู้ตัวของตัวมันเอง 

ตัวของจิตใจที่มันมีกระแสไหลไปต่าง ๆ 

ก็รู้สึกรับรู้ของมันด้วย 

แล้วก็คอยสังเกตที่จะปรับให้มันเป็นปรกติ 

คือการไม่ฝืนไม่ยัน ไม่บังคับไม่กดข่มมันไว้


เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วเรียกว่าจะเข้าถึงวิปัสสนา 

คือสติสัมปชัญญะจะเกิดขึ้น

รับรู้รับทราบต่อสภาวะ

ที่เรียกว่ารูปธรรมนามธรรม 

ปรากฏต่าง ๆ จะพบรูปต่าง ๆ นามต่าง ๆ 

ที่เปลี่ยนแปลงเกิดดับมากมายรวดเร็ว

ทั้งที่กายทั้งที่จิตใจ

 เห็นแต่สิ่งที่ปรากฏหมดไปสิ้นไปอยู่มากมาย 

ก็จะรู้สึกไม่เที่ยงๆ บังคับไม่ได้อยู่ตลอด


แล้วแต่ความรู้สึก 

บางขณะรู้สึกในแง่ของความไม่เที่ยง 

บางขณะก็รู้สึกในแง่ของความเป็นทุกข์ 

คือต้องดับไป ต้องดับไป 

บางขณะก็ไปรู้ในแง่ของบังคับไม่ได้ 

เรียกว่าอยู่ในเรื่องของไตรลักษณ์ 

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา 

อย่างนี้ถึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา

............................

ธัมโมวาท โดยพระวิปัสสนาจารย์

‎ท่านเจ้าคุณ ‎พระภาวนาเขมคุณ วิ.

(หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี)