Recent Posts

เคล็ด(ไม่)ลับ ของการเจริญสติ

       
          ๑. รู้ปัจจุบันอารมณ์ตามความเป็นจริง
          ๒. ไม่ตัดสินอารมณ์ว่าดีหรือไม่ดี
          ๓. ไม่จำเป็นว่าจิตต้องสงบ

          ๔. ไม่คิดต่อ ไม่เล่นกับความคิด
          ๕. อารมณ์ไหนชัดรู้อารมณ์นั้น
          ๖. “มันไม่แน่”  คาถาแก้ทุกข์


๑.รู้ปัจจุบันอารมณ์ตามความเป็นจริง

 ปัจจุบันอารมณ์ คือ...
“รูปหรือสีต่าง ๆ” ที่สวยหรือน่าเกลียด ซึ่งกระทบกับตาในขณะนั้น
“เสียง” อันไพเราะหรือบาดหู ที่ดังกระทบ กับหูในขณะนั้น,                              
“กลิ่น” หอม,เหม็นที่โชยมากระทบกับ จมูกในขณะนั้น,
“รส”  อร่อยหรือจืดชืด ที่กระทบกับลิ้นใน ขณะนั้น,
“ความเย็น ความร้อน ความนิ่มนวล ความ หยาบกระด้างที่เรียกว่าสัมผัส” ซึ่งกระทบกับกาย ในขณะนั้น,
“ความนึก, ความคิด, ความฟุ้งซ่าน, ความปรุงแต่ง ที่เรียกว่าธรรมารมณ์”  ที่เกิดขึ้น กระทบกับใจในขณะนั้น

          อายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและ ใจทั้ง ๖ ประการอันรับรู้ปัจจุบันอารมณ์ คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและธรรมารมณ์นี่แหละ คือวิปัสสนาจารย์ตัวจริง ระวังอย่าส่งใจออกนอก และอย่าแช่นิ่งอยู่ภายใน เพราะกิเลสเกิดที่ใจนี่เอง
          ส่งใจออกนอกก็คือการปล่อยให้ใจคิดฟุ้ง ปรุงแต่งไปเรื่อยเปื่อย หรือเพลินกับสิ่งที่เห็น, ได้ยินฯลฯโดย“ไม่รู้” ความคิด,การเห็น, การได้ยิน ฯลฯนั้น            
ใจแช่นิ่งอยู่ภายใน ก็คือใจที่ข่ม, เพ่ง หรือ เพลิดเพลินติดอยู่กับความสงบ, กับนิมิต หรือกังวล อยู่กับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น โดยไม่รับรู้อารมณ์อื่นๆ ที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในปัจจุบันขณะนั้น
          สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งก็คือ ต้องรู้อย่างเป็น ธรรมชาติหรือรู้ให้เบาๆ สบายๆ อย่าบังคับ “รู้”, ตั้งใจ, หรือพยายามมากเกินไป จนกลายเป็น“เพ่ง” อารมณ์โดยไม่ตั้งใจ หรือแม้แต่การบังคับจิตให้ ว่าง ให้หยุดคิด หรือให้หยุดฟุ้งซ่านก็ล้วนแต่ผิด ทั้งสิ้น ขอเพียงรู้อารมณ์ตามความเป็นจริงที่กำลัง เกิดขึ้นอยู่เท่านั้น
          ระวัง..อวิชชาก็คือรู้ แต่รู้ตามที่เราอยากให้ มันเป็น ก็คือหลงว่ารู้ แต่ “วิชชา” ของพระพุทธเจ้า นั้น ต้องรู้ตามความเป็นจริงเท่านั้น ก็คือรู้ว่าหลง นั่นเอง
จงสังเกตตนเองเถิดว่า“รู้เนืองๆ อย่าง แท้จริง” หรือไม่  เช่น...
       
          รู้ว่าเห็น โดยไม่สนใจว่าเห็นอะไร                          
          รู้ว่าได้ยิน โดยไม่มั่นหมายว่า ได้ยินเสียง อะไร
          รู้ว่าฟุ้งโดยไม่ต้องใส่ใจว่า ฟุ้งเรื่องอะไร        
          รู้ว่าคิดโดยไม่ต้องตามรู้ว่า คิดเรื่องอะไร
          รู้ว่าหงุดหงิด โดยไม่ต้องค้นหาสาเหตุว่า หงุดหงิดเรื่องอะไร
          รู้ว่าใจมีความสุข โดยไม่ต้องสนใจว่าสุข เรื่องอะไรฯลฯ
          รู้ว่ารู้แล้วก็วางลง ไม่แบกยึดรู้นั้นไว้
          หรือแม้แต่ ไม่รู้อะไรเลย ก็รู้ว่าไม่รู้ เท่านั้น อาการอย่างนี้เรียกว่า สักว่าเห็น สักว่า ได้ยิน สักว่าคิด สักแต่ว่ารู้ ซึ่งเป็นการเริ่มต้น การ“รู้” อย่างถูกต้องแล้ว


๒. ไม่ตัดสินอารมณ์ว่าดีหรือไม่ดี


โดยปกติของมนุษย์ทั่วไป มักชอบตัดสิน ทุกอย่างที่เห็น ที่ได้ยิน ที่รู้ ว่าดีหรือไม่ดีอยู่เสมอ
และทุกครั้งที่ตัดสิน ก็มักตัดสินไปตาม ความเชื่อ ความเห็นของตน ตามที่ตน ได้ยินได้ฟัง ได้เรียนรู้ศึกษามา ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องถูกเสมอไป เพราะในเรื่องเดียวกันหากไปถามคนอื่น เขาอาจ คิดหรือตัดสินไม่เหมือนเราก็ได้
กะลาของอุปาทานที่ครอบงำจิตใจเราคือ
          ก. การติดอยู่ในกามคุณ (กามุปาทาน) เช่น ต้องปฏิบัติที่สำนักโน้นจึงดี ต้องเดินจงกรมอย่างนี้ จึงถูก, ต้องบริกรรมอย่างนี้ถึงจะใช้ได้
          ข. ความเห็น ความเชื่อ (ทิฏฐุปาทาน) ตาม ที่ได้เรียนรู้มา หรือการคิดตีความของตนเองบ้าง
          ค. ความยึดถือในข้อปฏิบัติ ระเบียบ แบบแผน ประเพณี วัฒนธรรม (สีลัพพตุปาทาน) ตามที่ตนคุ้นชินบ้าง
          ง. และโดยเฉพาะอุปาทานคือ ความ ยึดมั่น ว่ามี “ตัวเรา-ของเรา” (อัตตวาทุปาทาน) นี่แหละ เป็นกะลาที่น่ากลัวที่สุด เพราะครอบงำปัญญา ที่ควรจะเกิดไม่ให้เกิดได้
ภาษานักปฏิบัติธรรมท่านเรียกว่า“สัญญาเก่า” ที่ครอบงำสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลงติดอยู่ คอยตัดสินตนเองและคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเป็นการเจริญสติด้วยแล้ว ยิ่งต้องไม่ ตัดสิน ไม่เปรียบเทียบสภาวะที่เกิดขึ้นกับกายและ ใจในขณะนั้น มิเช่นนั้นจะเป็นการเปิดทางให้ อุปาทานเข้ามาบงการใจทันที
          เพราะการเจริญสตินี้ เพื่อให้ละสิ่งที่เป็นทวิภาวะเหล่านี้ เช่น..
          บุญและบาป ถ้าต้องการบุญก็ยังมีบาป เป็นของคู่กัน
          ดีและชั่ว ถ้าต้องการดี จิตก็พร้อมจะใฝ่ชั่ว
          ถูกและผิด เพราะถ้าต้องการถูก ก็ยังมีผิด เป็นเครื่องวัด
          ชอบและชัง เพราะชอบกับชังคู่กันเสมอ
          สงบและฟุ้งซ่าน เพราะหากต้องการ ความสงบ ก็ยังมีความฟุ้งซ่านเป็นเส้นขนานยึดมั่นและปล่อยวาง หากยังต้องการปล่อยวาง ก็ยังยึดมั่นในความไม่ยึดมั่นนั่นแหละและที่สำคัญก็คือเหตุและผล เพราะถ้ายังหาเหตุผลอยู่ อุปาทานในใจก็จะหาคำตอบ ให้เราได้เสมอ
       
          อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้ไม่เคยเจริญสติอาจ แย้งว่าการปฏิบัติอย่างไร้เหตุผล ก็เท่ากับงมงาย เท่านั้นเอง
          แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีเหตุผลทาง ธรรมอธิบายได้ว่า การฝึกเจริญสติ ก็เพื่อหั่นภพ ลบชาติให้สั้นลง
          ถ้ายังขืนติดบุญ ติดดี ติดสุข ติดสงบ ติด เหตุผล ใจก็ยังสร้างภพชาติแห่งความเป็นมนุษย์ เทวดาและพรหมอยู่ ถ้าติดบาป ใจก็จะสร้างภพชาติแห่งสัตว์นรก เปรต อสุรกายและเดรัจฉานอยู่
ส่วนการเจริญสตินั้น ก็เพื่อให้ใจอยู่เหนือ โลก เหนืออารมณ์ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทแรก ฉะนั้นไม่ว่าจะรู้อารมณ์ใดก็ตาม จงหยุด การตัดสินว่า อารมณ์อย่างนั้นดี อารมณ์อย่างนี้ ไม่ดี หรืออารมณ์ไหนกระทบแล้วเกิดความสุข จึงดี แต่ถ้าอารมณ์ไหนมากระทบแล้ว เกิดความ ทุกข์ไม่ดี เพราะแท้ที่จริงแล้ว ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ชอบหรือชัง ก็ล้วนเกิดมาจากเหตุอันเดียวกัน คือ ตัณหาอันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ทั้งสิ้น และควรปรับ ใจตนเองเสมอว่า ไม่ว่าจะมีสภาวะใดเกิดขึ้น สุขหรือทุกข์ก็ตาม ก็มีค่าเท่ากัน คือมีค่าแค่ให้ผู้ ปฏิบัติได้ “รู้” เท่านั้น


๓.ไม่จำเป็นว่าจิตจะต้องสงบ 


วิธีการอย่างนี้เหมาะกับผู้ที่ไม่มีเวลาเข้า ห้องกรรมฐานหรือไปปฏิบัติกับสำนักพ่อแม่ครูอาจารย์ที่ไหน แต่ต้องการพบสันติสุขและสามารถนำไปใช้กับชีวิตประจำวันได้    
เพราะการปฏิบัติอย่างนี้เน้นว่า ใช้เวลาขณะที่เดินทำงานนั่นแหละ เป็นเวลาเดินจงกรม ใช้เวลาขณะที่นั่งเรียนหนังสือหรือนั่งทำงานนั่นแหละ เป็นเวลานั่งสมาธิ คือเน้น“รู้”อยู่ตลอดทั้งวัน ยกเว้นเวลาหลับเท่านั้น ใจจึงอาจไม่สงบ เพราะเป็นเพียงขณิกสมาธิคือจิตตั้งมั่นขณะหนึ่งๆ เท่านั้น
บางท่านปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ก้าวหน้ามากกว่าผู้ที่เก็บตัวเอาเป็นเอาตายอยู่ในห้องกรรมฐานเสียอีก เพราะไม่มีความเพ่งเล็งอยากได้ใคร่ดีจนเกินไปนัก จึงเป็นการรู้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด
          เมื่อใจไม่สงบก็อย่าวิตกกังวลเลย ถ้าสติ ทำงานเต็มรอบแล้ว ใจจะสงบไปเอง แต่ถ้าหากมี เวลาอยู่บ้างก็ควรฝึกนั่งสมาธิก่อนนอน หรือตื่นนอนตอนเช้าให้ได้ อย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง โดยเริ่มจากเวลา ๑๐ นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาขึ้นทุกวันก็จะเห็นผลเร็วขึ้น
ที่ต้องให้นั่งสมาธิ ก็เพราะว่าบางคนสมาธิ สั้น ความฟุ้งซ่านยาว หากจิตสงบในขณะที่นั่งสมาธิบ้าง ก็จะช่วยให้การระลึกรู้ในขณะทำงาน หรือในขณะเรียนหนังสือมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


๔. ไม่คิดต่อ ไม่เล่นกับความคิด


หลายคนบ่นว่าไม่ให้คิดต่อนั้นทำได้ยาก เหลือเกิน เพราะใจเคยชินกับการคิด ความฟุ้ง ความปรุงแต่งทั้งวันอยู่แล้ว บางคนพอเริ่มฝึกก็ถอดใจ เพราะรู้สึกว่าตนเองฟุ้งซ่านทั้งวัน เมื่อก่อนไม่ได้ปฏิบัติ ไม่เห็นฟุ้งซ่านอย่างนี้ที่จริงแล้วใจทุกคนฟุ้ง คิด ปรุงแต่งอยู่แล้ว โดยธรรมชาติ เมื่อเริ่มฝึก “รู้” จึงเริ่ม เห็นตาม ความเป็นจริงว่า ใจมันฟุ้งเป็นปกติอย่างนี้เองฉะนั้นเมื่อมีความฟุ้ง ความคิด ความปรุง แต่งเกิดขึ้น ก็แค่ “รู้ว่าคิด, รู้ว่าฟุ้ง” แล้วควรกลับ มา“รู้ลมหายใจ”ต่อไปทันที  การทำอย่างนี้ไม่ใช่หนีอารมณ์ เพราะเมื่อรู้ ความคิดนั้นแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไป จมแช่อยู่กับความคิดนั้น อันเป็นเหตุให้เผลอคิดต่อได้โดยง่ายสังเกตดูให้ดีก็จะเห็นว่า ในขณะที่ใจ“แอบคิด” มักคิดด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง และอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) แต่ถ้าหากตั้งใจ คิด เช่น วางแผนการทำงานหรือแผนการเรียน มักคิดด้วยสัญญา (ความจำได้หมายรู้) จากที่เคย อ่าน เคยเรียนรู้ เคยได้ยินได้ฟังมา (สุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา)  
                                 
แต่ถ้าหากไม่คิดต่อเพียงแค่“รู้ตามความ เป็นจริง”ที่เกิดขึ้นแต่ละขณะนั่นคือปัญญาบริสุทธิ์(ภาวนามยปัญญา) คือรู้อย่างที่ไม่ต้องมี“เรารู้” เข้าไปเกาะเกี่ยวด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ารู้ไม่คิดถ้าคิดไม่รู้
          อาจมีคำถามว่า ไม่คิดแล้วจะเกิดปัญญาได้อย่างไร
          ขอตอบว่า ในโลกนี้มีนักคิด นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญามากมาย แต่ยังไม่เคย ได้ยินว่ามีท่านใดกล้าประกาศตนว่า รู้แจ้งโลก ตรัสรู้ถูกต้องด้วยตนเอง หรือเป็นพระอรหันต์ แม้แต่รายเดียว เหมือนดั่งเช่นพระพุทธเจ้าเลย        และขอย้อนถามกลับว่า  คิดกันมาตั้งแต่ เกิดแล้วไม่ใช่หรือ บัดนี้ความทุกข์ลดลงเพราะ ความคิดเหล่านั้นบ้างหรือไม่
บางคนอาจสงสัยว่า ถ้าไม่ให้คิด ก็กลัวจะเป็นอัลไซเมอร์ แล้วจะทำงานและเรียนหนังสือรู้เรื่องหรือ        
ก็ไม่ได้ห้ามคิดถึงปานนั้น เมื่อคิดวางแผน งาน คิดการบ้านฯลฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ควร กลับมา“รู้ลมหายใจ”ต่อไปทันที   แล้วจะเห็นเองว่า ความคิดจะเป็นระบบ มากขึ้น ไม่สับสนปนเปกันเหมือนก่อน ทำให้การ ทำงานหรือการเรียนมีผลดีขึ้น เพราะใจมีสติ สัมปชัญญะเข้าไปควบคุมดูแลมากยิ่งขึ้นไม่ปล่อยไปตามกระแสของตัณหา มานะ ทิฐิ เหมือนเช่นเคย


๕. อารมณ์ไหนชัด รู้อารมณ์นั้น


นักปฏิบัติหลายท่านอาจสงสัยว่า ตนเคย ปฏิบัติแบบพองยุบ, พุทโธ, เคลื่อนมือสร้างจังหวะ, สัมมาอรหัง, ดูจิต, ดูเวทนา, รูปนาม, กายคตาสติฯลฯ หากนำวิธีนี้ไปปฏิบัติจะไม่สับสนหรือ
รับรองได้ว่าหากมีพื้นฐานการฝึกจิต อย่างอื่นมาแล้ว ยิ่งทำให้การฝึกเจริญสติแบบนี้ง่ายยิ่งขึ้นและไม่ได้หมายความว่าการเจริญสติ แบบนี้ดีกว่าแบบอื่น เพียงแต่ง่ายต่อการนำไปใช้ ในชีวิตประจำวันเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่รู้อาการของลม หายใจอยู่นั้น บางครั้งลมหายใจละเอียดจนกำหนด ได้ยากก็ย้าย “รู้” มาไว้ที่อาการของท้องพองยุบ แทน (หากคุ้นชินกับการปฏิบัติแบบพองยุบอยู่ แล้ว)
          หรือกำหนดท้องพองยุบอยู่ แต่เมื่อนานเข้า รู้สึกอึดอัด ระลึกรู้ได้ยาก ก็ลองย้าย“รู้”ไปที่ ลมหายใจแทน
          หรือมีทุกขเวทนาอันเกิดจากโรคประจำ ตัว เช่นปวดตามข้อ ปวดท้อง ปวดหัว ก็รู้อยู่ที่อาการปวดนั้น  มิใช่รู้เพื่อให้หายปวด แต่รู้เพื่อให้ ใจประจักษ์ความจริงว่า ความปวดนั้นเป็นกลุ่มพลังงานหนึ่งที่แทรกอยู่ในกายนี้ และเกิดดับเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง
หากขณะนั้นมีเสียงดังขึ้นมาหรือมีภาพที่น่าสนใจเกิดขึ้น ใจจะเคลื่อนไปรับรู้อารมณ์นั้นเองโดยอัตโนมัติ และเมื่อ“รู้”อารมณ์นั้นแล้ว ก็ควร ย้ายกลับมา“รู้”ลมหายใจต่อไปทันที
หรือบางครั้งโกรธผู้ร่วมงาน ก็ย้าย “รู้” ไปอยู่ที่อาการขุ่นมัวในใจนั้น แล้วจึงค่อยย้าย “รู้”กลับมาอยู่กับลมหายใจทันที อย่างนี้ตลอดทั้งวัน


๖. “มันไม่แน่”  คาถาแก้ทุกข์


ไม่ว่าจะมีอารมณ์ชนิดใดเกิดขึ้นกระทบ กับกายและใจนี้ เมื่อกระทบแล้วก็ล้วนแต่ดับไปทั้งสิ้น จึงตกอยู่ในกฎธรรมชาติที่เรียกว่า “ไตรลักษณ์” คือไม่เที่ยง (อนิจจัง) ทนอยู่ในสภาพ เดิมไม่ได้ (ทุกขัง) และไม่มีอัตตาอันใดให้บังคับ บัญชาได้ (อนัตตา) ทั้งนั้น
ซึ่งกฎเกณฑ์นี้มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบ, บัญญัติศัพท์และนำมา แสดงแก่ชาวโลกให้ง่ายขึ้นเท่านั้น (พุทธะจึง แปลว่าผู้รู้ มิใช่ผู้สร้าง)
          ฉะนั้นเมื่อสภาวะสุข ทุกข์ ชอบ ชังใดๆ เกิดขึ้น ก็ควรตระหนักรู้อยู่เสมอว่า“มันไม่แน่” เพราะทุกสิ่งเกิดดับอยู่ทุกขณะจิต
          โดยเฉพาะคำว่าทุกข์ในการเจริญสตินี้ มีความหมายลึกซึ้งกว่าทุกข์ที่คนทั่วไปเข้าใจ
          ทุกข์ของคนทั่วไปก็คือ ทุกข์จากการเจ็บ ป่วยทางกาย ทุกข์จากการไม่ได้ดั่งใจ หรือทุกข์ จากสภาวะบีบคั้นรอบตัวเป็นต้นเหตุฯลฯ (ซึ่งทุกข์อย่างนี้เรียกว่าทุกขเวทนา)
แต่ทุกข์ในการเจริญสตินี้ คือ สิ่งที่ทนอยู่ ในสภาพเดิมไม่ได้ เปลี่ยนแปลงเกิดดับอยู่ตลอด เวลา แม้แต่สภาวะกายใจที่มีความสุข ความสงบความเบาสบายก็เป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ในสภาพ เดิมไม่ได้ สติ  สมาธิ  ปัญญา ก็เป็นทุกข์คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้เช่นกัน จึงไม่ควรคิดว่าจะต้อง สงบหรือจะต้องรู้อยู่ตลอดเวลา
          การเจริญสติ จึงเป็นการฝึกใจให้คุ้นชินกับ ความจริงของชีวิต เข้าใจความจริงของธรรมชาติ จนใจยอมรับได้ว่า ไม่สามารถที่จะพึ่งพาอาศัย กายใจหรือรูปนามอันเกิดดับเช่นนี้ได้แน่ ใจก็จะ ละความยึดมั่นถือมั่นว่า รูปนามนี้เป็นของตน เสียได้
สภาวะสุขทุกข์บางอย่าง เกิดจากผลแห่ง กรรมเก่าที่ตนเคยกระทำมา ผู้ปฏิบัติควรวางใจ ให้เป็นกลางกับทุกสภาวะ อย่าอยากให้เป็นอย่างที่ ตนปรารถนาโดยเด็ดขาด และควรปล่อยให้เกิดไป อย่างมีสติจนกว่าสุขทุกข์นั้นจะดับไปเอง
มีข้อสังเกตคือ การเจริญสติแบบนี้ เป็น การปฏิบัติแบบให้“เห็นทุกข์” ไม่ใช่ปฏิบัติให้ “เป็นทุกข์”  หากมีความรู้สึกเครียด ขัดแย้ง เกร็ง เพ่ง บังคับ แทรกแซงอารมณ์ อันเป็นเหตุให้มึน หนัก อึดอัด แน่นขึ้นมา ก็ให้รีบผ่อนคลายและปรับท่าทีของการ “เพียรรู้” ใหม่ทันที